รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
สตรีที่เป็นโรคไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ หรือ hypothyroid จะมีผิวแห้ง ขี้หนาว ผมร่วง ท้องผูก ซึมเศร้า ประจำเดือนจะมาบ่อยและมามาก และอาจตรวจพบมีต่อมไทรอยด์โตเล็กน้อย ซึ่งอาการของโรค หากขาดการสังเกตหรือใส่ใจ ก็มักถูกมองข้าม การที่สตรีมีไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำจะมีผลต่อการตกไข่ ซึ่งทำให้สตรีมีบุตรยากได้ และในกรณีที่สตรีสามารถตั้งครรภ์ จะพบภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ ได้แก่ การมีภาวะเบาหวานระหว่างการตั้งครรภ์ ความดันโลหิตสูงระหว่างการตั้งครรภ์ ภาวะครรภ์เป็นพิษ การผ่าตัดคลอด การคลอดก่อนกำหนด1 ทารกมีเส้นรอบวงของศีรษะต่ำ2 และทารกน้ำหนักตัวน้อยเพิ่มขึ้น โดยในระยะหลังคลอด จะพบมารดามีน้ำนมมาน้อยได้
ในกรณีที่มารดาไม่ได้รับการวินิจฉัยโรคไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำมาก่อน หากมารดามีพบแพทย์ด้วยเรื่องน้ำนมมาน้อย การตรวจไทรอยด์ก็มีความจำเป็น นอกจากนี้ยังพบมารดามีน้ำนมมาน้อยในมารดาที่มีกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ด้วย โดยที่มารดาในกลุ่มเหล่านี้จะแสดงอาการที่บ่งบอกว่ามีพัฒนาการของเต้านมที่ผิดปกติในระหว่างการตั้งครรภ์และหลังคลอด ได้แก่ มีการขยายของเต้านมในระหว่างการตั้งครรภ์น้อย มีอาการคัดตึงเต้านมน้อยในระยะหลังคลอด นมแม่มาช้า และมาน้อย แม้ว่าจะมีทารกดูดกระตุ้นน้ำนมอย่างเหมาะสม บุคลากรทางการแพทย์จึงควรเอาใจใส่ ซักถาม และสังเกตอาการที่บ่งบอกถึงโรคเหล่านี้ เพราะหากมารดาได้รับการรักษาที่เหมาะสม จะทำให้มารดามีน้ำนมเพิ่มขึ้น โอกาสที่ทารกจะได้กินนมแม่ก็เพิ่มขึ้นด้วย
เอกสารอ้างอิง
Turunen S, Vaarasmaki M, Mannisto T, et al. Pregnancy and Perinatal Outcome Among Hypothyroid Mothers: A Population-Based Cohort Study. Thyroid 2019;29:135-41.
Laron-Kenet T, Silbergeld A, Lilos P, Laron Z. Neonates of hypothyroid mothers have a below-normal head circumference. Isr Med Assoc J 2019;21:568.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
มารดาที่มีกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ที่พบมีน้ำนมมาน้อยหลังคลอด แม้ว่าจะมีการให้ลูกกระตุ้นดูดนมอย่างเหมาะสมแล้ว ควรจะมีการตรวจทบทวนความไม่สมดุลของฮอร์โมนที่อาจส่งผลต่อนมแม่ ได้แก่ testosterone, FSH, LH, estradiol, progesterone และกลุ่มฮอร์โมนไทรอยด์ ได้แก่ TSH, FreeT4, FreeT3 ที่พบร่วมเป็นสาเหตุที่ทำให้น้ำนมมาน้อยได้ ร่วมกับตรวจอินซูลิน โดยอาจตรวจ FBS และ Hb A1c เพื่อช่วยยืนยันการวินิจฉัยและใช้ในการติดตามการรักษา สำหรับการรักษาจะรักษาตามผลที่ตรวจฮอร์โมนที่ผิดปกติ แต่หากพบว่าอินซูลินเป็นสาเหตุหลัก การใช้ยา metformin ช่วยกระตุ้นการตอบสนองของอินซูลินให้ดีขึ้นได้ 1 ,2 ซึ่งการกระตุ้นน้ำนมด้วย domperidone ร่วมกันหรือหลังจากปรับฮอร์โมนที่ไม่สมดุลดีแล้ว จะช่วยให้มารดามีน้ำนมเพิ่มขึ้นได้ แต่การรักษาต้องใช้เวลานานเป็นเดือน ดังนั้น มารดาจึงต้องมีความอดทน และความตั้งใจจริงที่จะให้ลูกได้กินนมแม่
เอกสารอ้างอิง
Sharma N, Siriesha, Lugani Y, Kaur A, Ahuja VK. Effect of metformin on insulin levels, blood sugar, and body mass index in polycystic ovarian syndrome cases. J Family Med Prim Care 2019;8:2691-5.
Masaeli A, Nayeri H, Mirzaee M. Effect of Metformin Treatment on Insulin Resistance Markers, and Circulating Irisin in Women with Polycystic Ovarian Syndrome (PCOS). Horm Metab Res 2019;51:575-9.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
กลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ หรือในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Polycystic ovarian syndrome เป็นกลุ่มอาการที่จะมีความผิดปกติของฮอร์โมน ซึ่งจะเกิดจากมีอินซูลินที่สูง1 มีผลต่อฮอร์โมนอื่น ได้แก่ แอนโดรเจน เอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน ไม่สมดุล ทำให้คือ ความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ ทำให้ผู้ป่วยมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน โปรเจสเตอโรน แอนโดรเจน และอินซูลินอยู่ในภาวะที่ไม่สมดุล เกิดถุงน้ำขนาดเล็กจำนวนหลายใบอยู่ในรังไข่ ส่งผลให้สตรีไม่มีการตกไข่ ประจำเดือนมาไม่ปกติ สิวขึ้น ขนดก หรือมีบุตรยากได้ โดยทั่วไป สตรีที่มี กลุ่มอาการกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่มักจะมาพบแพทย์ด้วยอาการประจำเดือนผิดปกติ เกิดจากไข่ไม่ตก ทำให้มีบุตรยาก สตรีที่อยู่ในกลุ่มอาการนี้ มักอ้วน มีสิว ผิวมัน และขนดก 2 ซึ่งหลักในการรักษา คือ การให้มารดาควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ร่วมกับการออกกำลังกายที่สม่ำเสมอ โดยมักแนะนำการปฏิบัติตัวร่วมกับการใช้ยา
สตรีในกลุ่มนี้ เมื่อให้การรักษาอย่างเหมาะสมแล้ว การตกไข่และประจำเดือนจะมาปกติ สตรีจะตั้งครรภ์ได้ ซึ่งในระยะหลังคลอด มารดาที่อยู่ในกลุ่มอาการนี้อาจพบมีน้ำนมมาน้อย ไม่เพียงพอสำหรับการเลี้ยงทารกได้ อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ของมารดาที่อยู่ในกลุ่มอาการนี้จะมีน้ำนมมาปกติ หากได้รับกระตุ้นการดูดนมและมีการจัดท่าให้นมที่เหมาะสม แต่ในกลุ่มมารดาที่มีน้ำนมน้อยที่อยู่ในกลุ่มอาการนี้จะให้ประวัติเกี่ยวกับการมีบุตรยาก การขยายของเต้านมในระหว่างการตั้งครรภ์น้อย และมีการตึงคัดเต้านมหลังคลอดน้อย เมื่อกลุ่มมารดาที่มีน้ำนมน้อยมาขอคำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จึงมีความจำเป็นต้องมีการตรวจฮอร์โมนเพื่อยืนยันความผิดปกติและใช้ติดตามในการรักษา และควรมีการสังเกตมารดาในขณะให้นมลูกว่ามารดามีการให้ทารกกระตุ้นดูดนมเหมาะสมหรือไม่ก่อนเสมอ โดยหากพบปัญหาของการที่มีน้ำนมน้อยเกิดจากอะไร การแก้ไขก็จะแก้ไปตามนั้น มารดาในกลุ่มอาการนี้จะมีความสำเร็จในการให้ลูกกินนมแม่ได้ หากมีความตั้งใจ อดทน และได้รับคำปรึกษาในการดูแลรักษาที่เหมาะสม
เอกสารอ้างอิง
Urbanska E, Hirnle L, Olszanecka-Glinianowicz M, Skrzypulec-Plinta V, Skrzypulec-Frankel A, Drosdzol-Cop A. Is polycystic ovarian syndrome and insulin resistance associated with abnormal uterine bleeding in adolescents? Ginekol Pol 2019;90:262-9.
Zeng X, Xie YJ, Liu YT, Long SL, Mo ZC. Polycystic ovarian syndrome: Correlation between hyperandrogenism, insulin resistance and obesity. Clin Chim Acta 2019.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
เมื่อลูกป่วย การให้ลูกได้กินนมแม่จะยิ่งเกิดประโยชน์ เนื่องจากจะช่วยเรื่องภูมิคุ้มกันแล้ว นมแม่ยังเป็นอาหารที่ย่อยง่าย และให้พลังงานที่ดีแก่ทารกแรกเกิด 1 ดังนั้น หากลูกป่วยโดยโรคทั่วไป ไม่จำเป็นต้องหยุดการให้นมลูก แต่หากลูกมีความเจ็บป่วยบางโรคที่จำเป็นต้องงดน้ำงดอาหาร หรือมีความจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด จะมีความจำเป็นต้องให้ลูกหยุดกินนมแม่ชั่วคราว จนเมื่อแพทย์อนุญาตให้ทารกเริ่มอาหารได้ มารดาก็สามารถกลับมาให้ทารกกินนมแม่ต่อได้ แต่ระหว่างที่มีการเว้นระยะหยุดกินนมแม่ มารดาควรบีบหรือปั๊มนม เพื่อให้เต้านมยังคงมีการสร้างน้ำนมอย่างต่อเนื่อง สำหรับน้ำนมที่บีบหรือปั๊ม มารดาสามารถเก็บรักษาโดยแช่เย็นหรือแช่แข็ง และนำกลับมาใช้หากมารดามีความจำเป็นต้องแยกจากทารกในกรณีอื่น ๆ
เอกสารอ้างอิง
ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
หากมารดาบังเอิญเจ็บป่วยในระหว่างที่ให้นมลูก ต้องหยุดให้นมลูกหรือไม่ คำถามนี้หากจะตอบให้ละเอียดต้องดูว่ามารดาป่วยเป็นอะไร โดยปกติหากมารดาไม่มีโรคประจำตัว โรคที่มักเจ็บป่วยก็มักจะเป็นหวัด เจ็บคอ หลอดลมอักเสบ ปวดหัว ปวดท้อง ท้องเสีย เสียด แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย แสบร้อนท้อง หรือมีอาการของโรคกระเพาะ โรคที่พบบ่อยเหล่านี้ โชคดีที่วิธีการรักษาของโรครวมทั้งการรักษาด้วยยา ไม่มีผลเสียทารกที่กินนมแม่ 1 ดังนั้น ไม่มีความจำเป็นต้องหยุดการให้นมลูก อย่างไรก็ตาม หากมารดาจำเป็นต้องใช้ยา อาจจะจากร้านขายยา หรือได้รับยาจากคลินิกหรือโรงพยาบาล มารดาควรแจ้งแก่เภสัชกรหรือแพทย์ว่า ตนเองให้นมบุตรอยู่ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ให้การดูแล มีความระมัดระวังในเรื่องการใช้ยายิ่งขึ้น และแนะนำการใช้ยาที่เหมาะสม หากมารดาต้องเว้นระยะการให้นมลูกเป็นเวลานานแค่ไหนในโรคบางโรค และต้องมีการติดตามระมัดระวังอะไรบ้างในทารก เช่น การที่มารดาเป็นวัณโรคปอด การให้การรักษามารดาให้พ้นจากระยะที่จะมีการติดต่อ หรือแพร่เชื้อได้ และมารดามีการใช้ยาอะไรบ้าง มีความเสี่ยงที่ต้องติดตามดูอาการหรือการตรวจทางห้องปฏิบัติการใดต่อในทารก เมื่อเป็นเช่นนี้ ในกรณีที่มารดามีความเจ็บป่วยที่จำเพาะ ไม่ใช่โรคที่เจ็บป่วยกันบ่อย ๆ ทั่วไป การรับข้อมูลที่ถูกต้องเหมาะสมจากแพทย์มีความจำเป็น เพื่อให้การปฏิบัติตัวเกี่ยวกับการดูแลเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ทำได้อย่างเหมาะสม
เอกสารอ้างอิง
ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)