คลังเก็บหมวดหมู่: ทารกแรกเกิด

ทารกแรกเกิด

การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในมารดาที่ให้นมลูก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

          ในมารดาที่มีการให้นมลูกจะมีการเปลี่ยนแปลงของเต้านม และมักพบการขังของน้ำนมในท่อน้ำนม  ซึ่งจะคลำได้เป็นก้อน แต่ก้อนเหล่านี้ไม่ได้มีการเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านม ดังนั้น การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในมารดาที่ให้นมลูก จะเพิ่มการมีผลบวกลวง ซึ่งก็คือ ตรวจพบผลตรวจคัดกรองมีความผิดปกติแต่เมื่อทำการตรวจยืนยันแล้วไม่พบว่าเป็นมะเร็ง การเพิ่มการมีผลบวกลวง จะเพิ่มความสูญเสียของค่าใช้จ่ายในการตรวจ ซึ่งต้องมีการวิเคราะห์ว่า การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในมารดาที่ให้นมลูกมีความคุ้มค่าหรือไม่ ปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวตัดสินคือ อุบัติการณ์ของมะเร็งเต้านมในมารดาที่ให้นมลูก หากอุบัติการณ์การพบมะเร็งเต้านมในมารดาที่ให้นมลูกสูง โอกาสที่จะมีความคุ้มค่าในการตรวจคัดกรองในมารดาที่ให้นมลูกทุกรายจะสูง

              อุบัติการณ์ของมะเร็งเต้านมจะขึ้นอยู่กับพันธุกรรมและปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม โดยจะพบอุบัติการสูงในมารดาที่อายุมาก และอ้วน มีการศึกษาในสหรัฐอเมริกาในเรื่องการคัดกรองมะเร็งเต้านมระหว่างที่มารดามีการให้นมลูก จากการศึกษานี้ แนะนำว่าควรมีการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในมารดาที่ให้นมลูก แม้ว่าจะมีการพบผลบวกลวงจากการตรวจเพิ่มขึ้น แต่น่าจะมีประโยชน์มากกว่าผลเสียจากการตรวจ1 อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในมารดาที่ให้นมลูกควรจะมีการศึกษาเพิ่มเติม เนื่องจากบริบทและอุบัติการณ์ของมะเร็งเต้านมในมารดาที่ให้นมลูกแตกต่างกัน เพื่อวิเคราะห์ว่ามีความคุ้มค่าในการลงทุน และเสนอเป็นแนวทางในการตรวจคัดกรองหากพบว่ามีความคุ้มค่า

เอกสารอ้างอิง

  1. Johnson HM, Lewis TC, Mitchell KB. Breast Cancer Screening During Lactation: Ensuring Optimal Surveillance for Breastfeeding Women. Obstet Gynecol 2020;135:194-8.

มารดาที่เป็นแพทย์ให้นมลูกได้นานไหม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

          แม้ว่าแพทย์จะเป็นผู้นำในการส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่เมื่อมีคำถามที่ถามว่า “แล้วแพทย์ละ ให้ลูกกินนมแม่ได้นานไหม” มีการศึกษาในตรุกีที่ตอบคำถามนี้ โดยมีการสำรวจออนไลน์ในมารดาที่เป็นแพทย์ มีผู้ตอบข้อมูลกลับทั้งสิ้น 615 ราย พบว่ามารดาที่เป็นแพทย์มีค่าเฉลี่ยของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 4.8 เดือน ระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เฉลี่ย 15.8 เดือน โดยที่มีมารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ถึงสองปีได้เพียงแค่ร้อยละ 17.8 สำหรับอุปสรรคที่ทำให้ต้องหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่คือ สภาวะที่เกี่ยวข้องกับสถานที่ทำงาน พบมารดาที่เป็นแพทย์มีการอยู่เวรในช่วงเวรดึกเฉลี่ย 8.6 เดือนหลังคลอด และพบมารดาที่เป็นแพทย์ไม่สามารถลาพักหลังคลอดเพื่อให้นมลูกตามสิทธิการลาถึงร้อยละ 43.61 จากผลลัพธ์ของการที่แพทย์ตอบคำถามมา แสดงให้เห็นว่า ลักษณะของการทำงานของอาชีพแพทย์ยังคงมีส่วนที่เป็นอุปสรรคในการที่จะให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ได้ตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกคือ เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือน และหลังจากนั้นเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ร่วมกับอาหารเสริมตามวัยจนกระทั่งครบสองปีหรือนานกว่านั้น โดยขึ้นอยู่กับความต้องการของมารดาและทารก ซึ่งการที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ต้องมีการให้ความสำคัญกับปัญหานี้ก่อน แม้ว่าจำนวนกลุ่มอาชีพแพทย์จะมีไม่มาก แต่เนื่องจากการคำนึงถึงความเป็นต้นแบบของการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แล้ว ปัญหานี้น่าจะมีขนาดปัญหาที่ใหญ่ ซึ่งองค์กรวิชาชีพควรใส่ใจ ผลักดันแนวทางการแก้ปัญหานี้ เพื่อส่งเสริมให้ลูกของแพทย์ได้กินนมแม่นานขึ้น เป็นแบบอย่าง และได้รับประสบการณ์ที่จะช่วยให้คำปรึกษาปัญหาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ดีขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Ersen G, Kasim I, Agadayi E, Demir Alsancak A, Sengezer T, Ozkara A. Factors Affecting the Behavior and Duration of Breastfeeding Among Physician Mothers. J Hum Lact 2020:890334419892257.

 

การให้คำปรึกษามารดาที่มีปัญหาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

          ปัญหาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีตั้งแต่ปัญหาทางด้านร่างกาย ตัวอย่างเช่น มารดามีหัวนมบอด ทารกมีภาวะลิ้นติด ปัญหาทางด้านจิตใจ ตัวอย่างเช่น มารดามีภาวะเครียด หรือภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ปัญหาทางด้านครอบครัวและสังคม ตัวอย่างเช่น ปู่ย่าตายายจะให้ทารกกินน้ำ หรือมารดาต้องกลับไปทำงานเร็วเพื่อช่วยในการหารายได้ให้กับครอบครัว จะเห็นว่าปัญหามีความหลากหลายและจะมีความแตกต่างในมารดาและทารกในแต่ละคู่ที่ไม่เหมือนกัน การให้คำปรึกษามารดาและครอบครัวจึงต้องยึดหลักดังนี้

  • ให้คำปรึกษาให้ตรงประเด็นกับปัญหาที่มีความจำเพาะสำหรับปัมารดาและทารกในแต่ละคู่
  • คำปรึกษาที่ให้ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงในบริบทของมารดา1
  • ให้ทางเลือกที่มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาสองหรือสามทางเลือก เพื่อให้มารดาได้เลือกตัดสินใจในการแก้ปัญหาด้วยตนเอง
  • เคารพการตัดสินใจของมารดา ยอมรับและไม่กล่าวโทษมารดาในกรณีที่มารดาปฏิบัติไปแล้วไม่ประสบความสำเร็จ ควรให้กำลังใจว่ามารดาได้ทำดีที่สุดแล้ว เสริมพลัง และเสนอทางออกหรือทางเลือกใหม่ให้มารดาในการให้การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อไป

เอกสารอ้างอิง

  1. Doherty T, Horwood C, Haskins L, et al. Breastfeeding advice for reality: Women’s perspectives on primary care support in South Africa. Matern Child Nutr 2020;16:e12877.

 

ปัญหาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

          ปัญหาการให้นมลูกในมารดาที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน เกิดจากมารดาที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วนจะมีความเสี่ยงที่มีภาวะแทรกซ้อนในระหว่างการฝากครรภ์และในระยะคลอดเพิ่มขึ้น ได้แก่ การมีภาวะเบาหวานระหว่างการตั้งครรภ์ การมีภาวะความดันโลหิตสูงระหว่างการตั้งครรภ์ การคลอดยาก ซึ่งทำให้มีโอกาสที่จะได้รับการผ่าตัดคลอดสูง ซึ่งทำให้การเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เริ่มต้นได้ช้า นอกจากนี้มารดาที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน จะมีน้ำนมมาช้า โดยหากมารดามีเต้านมที่ใหญ่ด้วย การจัดท่าให้นมลูกจะยาก ดังนั้น จึงต้องมีการให้ความรู้และฝึกอบรมให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถเลือกให้คำแนะนำที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาที่มักพบในมารดากลุ่มนี้1 จะช่วยเพิ่มอัตาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วนได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Piro SS, Ahmed HM. Impacts of antenatal nursing interventions on mothers’ breastfeeding self-efficacy: an experimental study. BMC Pregnancy Childbirth 2020;20:19.

เต้านมใหญ่ ให้นมแม่ได้ดีจริงหรือ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                  ข้อมูลนี้ไม่เป็นความจริง ขนาดของเต้านมไม่ได้สัมพันธ์กับการประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เนื่องจากการสร้างน้ำนมขึ้นอยู่กับต่อมน้ำนมที่จะมีอยู่คล้ายคลึงในมารดาที่มีเต้านมใหญ่และเต้านมเล็ก แต่ที่แตกต่างกันคือปริมาณไขมันที่สะสมอยู่บริเวณเต้านม ดังนั้น หากมีการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาการของเต้านมได้อย่างเป็นปกติ การสร้างน้ำนมของมารดาที่มีเต้านมเล็กหรือใหญ่ก็ไม่แตกต่างกัน จะขึ้นอยู่กับการกระตุ้นการสร้างน้ำนมที่ถูกวิธี ก็คือ การให้ลูกดูดกระตุ้นน้ำนมบ่อย ๆ และดูดจนเกลี้ยงเต้า นอกจากนี้ในมารดาที่มีเต้านมขนาดใหญ่ มักพบในมารดาที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน ขนาดเต้านมที่ใหญ่อาจจะมีผลทำให้การจัดท่าให้นมที่เหมาะสมยากกว่า และในมารดากลุ่มนี้อาจพบมีน้ำนมมาช้า มีภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้ง ครรภ์และคลอดสูงกว่า ทำให้มีโอกาสที่จะผ่าตัดคลอดมากกว่า1 ซึ่งจะมีผลทำให้การเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทำได้ช้า จะเห็นว่า การที่ขนาดเต้านมใหญ่ไม่ได้มีข้อดีเหนือกว่าขนาดเต้านมปกติ ซึ่งการมีขนาดเต้านมที่มีความพอดีเหมาะสมสำหรับขนาดทารกของมารดาเอง จะเป็นการดีที่สุด

เอกสารอ้างอิง

  1. Chang YS, Glaria AA, Davie P, Beake S, Bick D. Breastfeeding experiences and support for women who are overweight or obese: A mixed-methods systematic review. Matern Child Nutr 2020;16:e12865.