รศ.นพ.ภาวิน
พัวพรพงษ์
ในระหว่างการตั้งครรภ์มารดาอาจมีอารมณ์หงุดหงิดง่ายได้ แต่หากมารดามีความผิดปกติทางอารมณ์มาก จะส่งผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ และยังมีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้น การดูแลเอาใจใส่ สอบถามมารดาเกี่ยวกับอารมณ์ของมารดาระหว่างการตั้งครรภ์จึงมีส่วนสำคัญในการทำนายถึงความเสี่ยงในการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร และทำนายการเกิดภาวะหลังคลอดได้ ซึ่งในมารดาที่มีความเสี่ยงสูงการให้คำปรึกษาที่เหมาะสมกับมารดาร่วมกับการเอาใจใส่ของครอบครัวจะช่วยให้มารดาผ่านอุปสรรคเหล่านี้ไปได้ด้วยดี โดยยังคงประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีการศึกษาพบว่า ปัจจัยในเรื่องการศึกษาของมารดามีผลต่อความสัมพันธ์เหล่านี้1 โดยมารดาที่มีการศึกษาสูงจะไม่พบความสัมพันธ์ของความผิดปกติทางอารมณ์ระหว่างการตั้งครรภ์ การหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร และภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ซึ่งอาจเป็นเพราะการศึกษาอาจมีผลต่อการปรับตัวของมารดาที่เหมาะสมกว่า และมีผลต่อความตั้งใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้นด้วย
เอกสารอ้างอิง
1. Farias-Antunez S, Santos IS,
Matijasevich A, de Barros AJD. Maternal mood symptoms in pregnancy and
postpartum depression: association with exclusive breastfeeding in a
population-based birth cohort. Soc Psychiatry Psychiatr Epidemiol
2020;55:635-43.
รศ.นพ.ภาวิน
พัวพรพงษ์
เป็นที่ทราบกันดีว่า การเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอดจะส่งผลดีต่ออัตราและความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แล้วปัจจัยอะไรที่มีผลต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอด มีการศึกษาพบว่า ปัจจัยในระหว่างการคลอดที่มีความสำคัญและพบเป็นอุปสรรคต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในระยะแรกคือ การผ่าตัดคลอดและการให้ยาแก้ปวดในกลุ่มมอร์ฟีน1 ซึ่งในปัจจุบันพบมีการผ่าตัดคลอดในอัตราที่สูงเกินความจำเป็น ดังนั้น ควรมีการลดการผ่าตัดคลอด ซึ่งส่วนหนึ่งต้องให้ความรู้ถึงความเสี่ยงของการผ่าตัดคลอดและให้คำปรึกษาถึงข้อบ่งชี้ของการผ่าตัดคลอดแก่มารดา ครอบครัว รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดี สำหรับการลดการใช้ยาแก้ปวดในระหว่างการคลอด จำเป็นต้องให้มารดาทราบถึงผลเสียของการใช้ยาแก้ปวด และทางเลือกในการลดความเจ็บปวดระหว่างการคลอดที่ไม่จำเป็นต้องใช้ยา โดยหากลดอุปสรรคเหล่านี้ได้ ก็เท่ากับเป็นการสนับสนุนให้มีการเพิ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไปในขณะเดียวกัน
เอกสารอ้างอิง
1. Fan HSL, Wong JYH, Fong DYT, Lok
KYW, Tarrant M. Association Between Intrapartum Factors and the Time to
Breastfeeding Initiation. Breastfeed Med 2020.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การติดเชื้อซิกาได้มีการระบาดมาช่วงหนึ่งแล้ว ซึ่งจะเริ่มจากทวีปแถบแอฟริกาและมีการแพร่ระบาดมาในหลายประเทศ โดยหากมีการติดเชื้อในระหว่างการตั้งครรภ์สามารถเกิดการติดเชื้อจากมารดาไปสู่ทารกได้ ซึ่งทำให้เกิดความผิดปกติในทารก (congenital Zika syndrome) ซึ่งจะพบทารกมีศีรษะเล็ก (microcephaly) ทารกมีความยากลำบากในการดูดหรือการกลืนนม และพบทารกมีการสำรอกนมจากความผิดปกติของหูรูดกระเพาะที่ต่อกับหลอดอาหาร (gastroesophageal reflux) ดังนั้นจึงส่งผลต่อการกินนม โดยมีการศึกษาพบว่าทารกที่ติดเชื้อซิกาแต่กำเนิดพบมีภาวะศีรษะเล็กรุนแรงร้อยละ 59.7 พบปัญหาการดูดลำบากร้อยละ 27.8 พบปัญหาการกลืนลำบากร้อยละ 48.0 พบปัญหาการสำรอกนมจากความผิดปกติของหูรูดกระเพาะที่ต่อกับหลอดอาหารร้อยละ 29.2 อย่างไรก็ตาม ทารกที่ติดเชื้อซิกาแต่กำเนิดส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 89.9 สามารถกินนมแม่ได้ตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอด1 บุคลากรทางการแพทย์จึงควรให้คำปรึกษาในมารดาที่มีการติดเชื้อซิกาอย่างเหมาะสม และช่วยเหลือทารกในกรณีที่พบปัญหาในการดูด กลืน หรือสำรอกนมให้ทารกสามารถประสบความสำเร็จในการกินนมแม่
เอกสารอ้างอิง
1. Fabia Cabral Cavalcanti A, Aguiar
YPC, Oliveira Melo AS, Leite Cavalcanti A, D’Avila S. Breastfeeding Behavior in
Brazilian Children with Congenital Zika Syndrome. Int J Dent 2020;2020:1078250.
รศ.นพ.ภาวิน
พัวพรพงษ์
การที่มารดาให้ลูกกินนมแม่จะส่งเสริมในเรื่องความผูกพันระหว่างมารดาและทารก ซึ่งจะช่วยลดการทอดทิ้งทารกได้ โดยกลไกคำอธิบายเชื่อว่าเกิดจากฮอร์โมนออกซิโตซิน ที่มีชื่อเล่นว่า love hormone หรือฮอร์โมนแห่งความรัก ซึ่งการดูดนมของทารกจะกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนออกซิโตซินและสร้างให้เกิดความรู้สึกผูกพันระหว่างมารดาและทารก ในทางกลับกัน เมื่อเกิดความรักความผูกพันระหว่างมารดาและทารกแล้ว เมื่อมารดาคิดถึงลูก เห็นภาพลูก หรือได้กลิ่นลูก ก็จะมีผลกระตุ้นการกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนออกซิโตซิน ซึ่งฮอร์โมนออกซิโตซินจะมีบทบาทในการหลั่งน้ำนมด้วย ดังนั้น จึงอาจพบมารดามีน้ำนมไหลได้เมื่อมารดาคิดถึงลูก ซึ่งความสัมพันธ์ที่พบระหว่างการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และความผูกพันระหว่างมารดาและทารกมีการทบทวนการศึกษาอย่างเป็นระบบที่ยืนยันผลนี้1 โดยความรักความผูกพันระหว่างมารดาและทารกจะทำให้มารดารู้สึกต้องปกป้องทารก ทำให้ทารกปลอดภัย และเป็นกลไกหนึ่งในการช่วยดำรงเผ่าพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่
เอกสารอ้างอิง
1. Linde K, Lehnig F, Nagl M, Kersting A. The association
between breastfeeding and attachment: A systematic review. Midwifery 2020;81:102592.
รศ.นพ.ภาวิน
พัวพรพงษ์
เรื่องการทำ application ของความรู้ในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่บนมือถือเป็นแนวคิดที่ดี เนื่องจากการใช้มือถือในปัจจุบันแทบจะเป็นปัจจัยที่ 5 ที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตเสียแล้ว อย่างไรก็ตาม เนื้อหาหรือสิ่งที่ต้องไว้เป็นวัตถุประสงค์ที่จะส่งข้อมูล ช่วยจดจำ เตือน หรือหาแนวทางในการแก้ปัญหาหรืออุปสรรคที่พบเป็นสิ่งที่ผู้ที่จะพิจารณาทำ application จำเป็นต้องให้ความสนใจ เพราะหากข้อมูลที่มีอยู่ใน application ไม่แตกต่างจากข้อมูลที่มารดาได้รับจากบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้ให้ข้อมูลอยู่แล้วในระหว่างการตั้งครรภ์ ระยะคลอด หรือหลังคลอด ผลของการมี application นั้น ๆ ก็อาจไม่มีความแตกต่างกัน1 หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ อุตส่าห์ตั้งใจที่จะทำ application ให้เกิดประโยชน์โดยการลงทั้งเงิน คน และแรงงานไปแล้ว แต่กลับไม่ได้ช่วยให้ทารกได้กินนมแม่มากขึ้น ดังนั้น การพิจารณาตั้งวัตถุประสงค์ของการใช้ application ให้ชัดเจน โดยมีการทบทวนว่าการจัดการข้อมูลใดที่จะใส่ไว้ใน application บ้าง ควรมีการวิเคราะห์ วางแผน ติดตามผล และปรับปรุง เพื่อให้มีการพัฒนาการใช้ application ให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่าในการลงทุน
เอกสารอ้างอิง
1. Lewkowitz AK, Lopez JD, Carter EB, et al. Impact of a
novel smartphone application on low-income women’s breastfeeding rates: a
randomized controlled trial. American Journal of Obstetrics and Gynecology 2020;222:S38-S9.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)