คลังเก็บหมวดหมู่: ทารกแรกเกิด

ทารกแรกเกิด

ความเชื่อมั่นในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เกิดขึ้นจากอะไร

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

มีข้อสงสัยว่าความเชื่อมั่นในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เกิดจากอะไร เกิดขึ้นเองหรือเป็นผลจากการเรียนรู้ของมารดา หากเราสังเกตในเรื่องนี้ก็จะพบว่า มารดาบางคนแม้ไม่เคยเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แต่ก็มีความเชื่อมั่นว่าตนเองสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาว่า ความฉลาดทางอารมณ์ก็ไม่มีความสัมพันธ์กับความเชื่อมั่นในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1  สิ่งนี้น่าจะสนับสนุนว่าความเชื่อมั่นในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่น่าจะมีผลมาจากสัญชาตญาณที่เกิดขึ้นเองของมารดา แต่ก็เป็นที่ทราบกันว่า การให้ความรู้และการจัดฝึกฝนทักษะการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะสัมพันธ์กับความเชื่อมั่นในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย ดังนั้น น่าจะเป็นไปได้ว่า ความเชื่อมั่นในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อาจเกิดขึ้นได้เองและสามารถเกิดขึ้นได้จากปัจจัยสนับสนุนอื่น ๆ จากสิ่งแวดล้อมด้วย

เอกสารอ้างอิง

1.        Karakoc H, Mucuk O, Ozkan H. The Relationship of Emotional Intelligence and Breastfeeding Self-Efficacy in Mothers in the Early Postpartum Period. Breastfeed Med 2020;15:103-8.

การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ป้องกันการเกิดเบาหวานในมารดาที่มีความเสี่ยง

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

มารดาที่มีเบาหวานระหว่างการตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงในการเกิดเบาหวานเมื่ออายุเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงคือภาวะอ้วนของมารดา มีการศึกษาการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ร่วมกับการจัดโปรแกรมป้องกันการเกิดเบาหวานโดยการติดตามสื่ออิเล็คโทรนิกส์ผ่านเฟสบุ๊กพบว่า การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ร่วมกับการจัดโปรแกรมป้องกันการเกิดเบาหวานสามารถช่วยให้มารดาควบคุมน้ำหนักให้มีดัชนีมวลกายอยู่ในเกณฑ์ปกติได้ดีกว่าการใช้โปรแกรมป้องกันการเกิดเบาหวานอย่างเดียวหรือการให้การดูแลตามปกติหลังคลอด1 ดังนั้น การจัดระบบการติดตามสื่ออิเล็คโทรนิกส์ผ่านออนไลน์อาจเป็นวิธีหนึ่งที่มีประสิทธิภาพในการใช้งานหรือเข้าถึงการดูแลสุขภาพของมารดาในยุค Gen Y หรือ Gen Z

เอกสารอ้างอิง

1.        Jacobson LT, Collins TC, Lucas M, et al. Electronic Monitoring Of Mom’s Schedule (eMOMS): Protocol for a feasibility randomized controlled trial to improve postpartum weight, blood sugars, and breastfeeding among high BMI women. Contemp Clin Trials Commun 2020;18:100565.

ผลของการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมนในระยะแรกหลังคลอดต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมนในระยะแรกหลังคลอดมักสร้างความวิตกกังวลให้กับมารดาและบุคลากรทางการแพทย์ถึงผลที่มีต่อปริมาณน้ำนม ซึ่งการใช้ยาคุมกำเนิดที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนเอสโตรเจนตั้งแต่ภายใน 24 ชั่วโมงแรกหลังคลอดอาจส่งผลต่อการเริ่มมาของน้ำนมและปริมาณน้ำนมได้ อย่างไรก็ตาม เป็นโชคดีที่ผลการศึกษาเมื่อมีการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมนโดยทั่วไปในคลินิกหากใช้ยาในช่วง 4 สัปดาห์แรกหลังคลอด ไม่พบว่ามีผลเสียต่อการเจริญเติบโตของทารก พัฒนาการการเข้าสู่วัยรุ่น และไม่พบปัญหาทางด้านพฤติกรรมเพิ่มขึ้น1 ดังนั้น ข้อแนะนำที่หลีกเลี่ยงการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนเอสโตนเจนในระยะแรกหลังคลอดยังคงปฏิบัติอยู่ แต่หากมีความจำเป็นต้องยาในระยะแรกหลังคลอด จากข้อมูลที่มีในปัจจุบันยังไม่พบผลเสียต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารก

เอกสารอ้างอิง

1.        Ispas-Jouron S, Seuc A, Northstone K, Festin M. Effects of maternal use of hormonal contraception during breastfeeding: Results from a British birth cohort. Eur J Obstet Gynecol Reprod Biol 2020;250:143-9.

การมีน้ำนมมาช้ามีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

หลังมารดาคลอด หากน้ำนมมารดามาช้ากว่า 72 ชั่วโมงหรือ 3 วันหลังคลอดจะได้รับการวินิจฉัยว่า มีภาวะน้ำนมมาช้า ซึ่งภาวะน้ำนมมาช้าจะสัมพันธ์กับการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในระยะแรกเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 และสัมพันธ์กับการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในเดือนที่สามและเดือนที่หกหลังคลอดเพิ่มขึ้นร้อยละ 24 และร้อยละ 14 ตามลำดับ1 ดังนั้น การลดหรือช่วยแก้ไขปัญหาการมีน้ำนมมาช้าจะเป็นกระบวนการเชิงรุกในการช่วยลดปัญหาการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะแรกหลังคลอดและการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในหกเดือนหลังคลอด ซึ่งการให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องการสร้างน้ำนมแก่มารดาและการช่วยกระตุ้นให้มารดาเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอด การให้มารดาได้โอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ และการให้ทารกกระตุ้นดูดนมแม่บ่อย ๆ วันละ 8-12 ครั้งในมารดาที่มีความเสี่ยงที่จะมีน้ำนมมาช้าจะช่วยลดปัญหานี้ได้

เอกสารอ้างอิง

1.        Huang L, Xu S, Chen X, et al. Delayed Lactogenesis Is Associated with Suboptimal Breastfeeding Practices: A Prospective Cohort Study. J Nutr 2020;150:894-900.

ความปลอดภัยของการใช้ยาระหว่างการตั้งครรภ์และการให้นมบุตร

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

จำนวนของมารดาที่มีการใช้ยาระหว่างการตั้งครรภ์และให้นมบุตรมีจำนวนมาก1 ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาทั้งในด้านการรักษาโรคเนื่องจากการหยุดการใช้ยาหรือหยุดให้นมลูกจากการกลัวอันตรายจากการใช้ยาจะเกิดขึ้นกับลูก ในทางตรงกันข้ามมารดาอาจมีการใช้โดยไม่ทราบว่าอาจเกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์หรือทารกที่กินนมแม่ได้  การให้ข้อมูลที่ถูกต้องทันสมัยจะช่วยให้มารดาสามารถใช้ยาได้อย่างเหมาะสม ในประเทศไทย การเข้าถึงข้อมูลยังมีความจำกัด เนื่องจากมีข้อจำกัดของความรู้ของมารดา ข้อจำกัดในเรื่องความเข้าใจเนื้อหา ศัพท์เทคนิค   ภาษาอังกฤษ และการเข้าถึงข้อมูลในสื่อออนไลน์  การสื่อสารให้มารดาตระหนักถึงความสำคัญของปัญหานี้ให้มารดาและบุคลากรทางการแพทย์มีการตื่นตัว แจ้งหรือซักถามสตรีในวัยเจริญพันธุ์ทุกครั้งเมื่อมีการใช้หรือสั่งจ่ายยาให้กับมารดาจะช่วยในการลดปัญหาเหล่านี้ได้ อย่างไรก็ตาม การพัฒนาให้มารดามีศักยภาพในการเข้าถึงข้อมูลด้วยตนเองได้ ร่วมกับการพัฒนาสื่อให้สามารถมีความง่ายในการใช้งานและเข้าใจ จะส่งเสริมให้เกิดการเข้าถึงข้อมูลและปฏิบัติตัวได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น

เอกสารอ้างอิง

1.        Heitmann K, Schjott J. SafeMotherMedicine: Aiming to Increase Women’s Empowerment in Use of Medications During Pregnancy and Breastfeeding. Matern Child Health J 2020.