คลังเก็บหมวดหมู่: ทารกแรกเกิด

ทารกแรกเกิด

การพัฒนาเครื่องมือเลียนแบบการกินนมแม่ของทารก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การดูดและกลืนนมแม่ของทารกจากเต้านมมารดาเป็นกลไกที่มีความซับซ้อน ต่อเนื่อง และเชื่อมโยงกันกับการไหลของนมแม่ในท่อน้ำนมของเต้านมมารดา มีความพยายามจะพัฒนาเครื่องมือเลียนแบบการกินนมแม่ของทารก ซึ่งในปัจจุบันมีเครื่องมือที่เลียนแบบการกินนมแม่ของทารกที่เรียกว่า bio-inspired breastfeeding simulator หรือเรียกย่อ ๆ ว่า BIBS ที่สามารถสร้างแรงดูดเลียนแบบแรงดูดในช่องปากของทารก มีอุปกรณ์ที่เลียนแบบหัวนมที่จะมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะของหัวนมตามแรงดูดที่กำหนด มีการจำลองท่อน้ำนมที่จะแสดงถึงการไหลของน้ำนมจากในต่อมน้ำนม ผ่านท่อน้ำนมและหัวนม ซึ่งจากการทดสอบพบว่ามีประสิทธิภาพที่ดีและสามารถสะท้อนถึงกลไกการดูดนมของทารกได้อย่างมีนัยสำคัญ1 ดังนั้น การพัฒนาเครื่องมือนี้อาจจะช่วยในการสร้างความเข้าใจกลไกการดูดน้ำนมของทารกให้กับบุคลากรทางการแพทย์ มารดาและครอบครัว และยังอาจมีส่วนช่วยในการพัฒนาเครื่องมือต่าง ๆ ที่จะช่วยทารกดูดนมแม่ในทารกที่มีความผิดปกติของช่องปากได้ในอนาคต

เอกสารอ้างอิง

1.            Jiang L, Hassanipour F. Bio-inspired Breastfeeding Simulator (BIBS): A Tool for Studying the Infant Feeding Mechanism. IEEE Trans Biomed Eng 2020.

ความสำเร็จในการให้ลูกกินนมแม่โดยการเข้ากลุ่มสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

นอกเหนือจากการที่มีพี่เลี้ยงสนับสนุนในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้แล้ว การจัดกลุ่มมารดาเพื่อสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยให้มารดาได้แลกเปลี่ยนปัญหาและแนวทางการแก้ไขระหว่างการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังช่วยเพิ่มความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย เนื่องจากปัญหาที่พบของมารดาคนหนึ่งอาจจะคล้ายกับมารดาอีกคนหนึ่ง และการสื่อสารกันเองระหว่างมารดาด้วยภาษาที่ง่าย และการเห็นตัวอย่างของมารดาที่ได้รับการแก้ไขจนประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกับการมีผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมจะให้คำปรึกษาในการจัดกลุ่มสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อาจเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้1

เอกสารอ้างอิง

1.            Jenkins LA, Barnes K, Latter A, Edwards RA. Examining the Baby Cafe Model and Mothers’ Breastfeeding Duration, Meeting of Goals, and Exclusivity. Breastfeed Med 2020.

แม่ที่ให้ลูกกินนมแม่ร่วมกับให้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกมักจะหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เร็ว

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

อย่างที่ทราบกันดีว่า กระบวนการดูดนมแม่จากเต้านมมารดาของทารกจะมีกลไกที่แตกต่างจากการดูดนมผงดัดแปลงสำหรับทารกจากขวด ซึ่งหากมารดาให้ทั้งนมแม่และให้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกไปพร้อม ๆ กัน ทารกมักจะเลือกการกินนมที่สะดวกคือไม่ต้องออกแรงดูดหรือออกแรงในการดูดนมน้อย ซึ่งก็คือการกินนมผงดัดแปลงสำหรับทารกจากขวดนมที่น้ำนมจะไหลได้เร็วจากขนาดของรูจากจุกนมที่กว้างและมีแรงจากการไหลตามแรงดึงดูดของโลกจากการตั้งขวดนมไว้เหนือทารก ทำให้ทารกมีโอกาสที่จะหยุดการให้นมแม่มากกว่ามารดาที่ให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียวถึง 2.3 เท่า ดังนั้น หากมารดาสามารถที่จะให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียวได้อาจจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยให้มารดาประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้1

เอกสารอ้างอิง

1.            Hemmingway A, Fisher D, Berkery T, Dempsey E, Murray DM, Kiely ME. A detailed exploration of early infant milk feeding in a prospective birth cohort study in Ireland: combination feeding of breastmilk and infant formula and early breastfeeding cessation. Br J Nutr 2020:1-28.

การให้นมแม่ในที่สาธารณะกับการเป็นจุดสนใจที่ไม่ต้องการ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การให้นมแม่ในที่สาธารณะนั้น ทั้ง ๆ ที่ควรจะเป็นเรื่องที่มองเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่มุมมองในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน กลุ่มประเทศตะวันตกมักจะให้การยอมรับมากกว่ากลุ่มประเทศตะวันออก เนื่องจากขนบธรรมเนียมประเพณีและความเชื่อที่แตกต่างกัน สำหรับประเทศไทยแม้ว่ามุมมองในเรื่องการให้ลูกกินนมแม่จะถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัว และควรทำในสถานที่มิดชิด แต่การยอมรับการให้นมแม่ในที่สาธารณะก็มีมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากสังคมในยุคปัจจุบัน สตรีมีบทบาทในสังคมมากขึ้นและยังต้องไปทำงานนอกบ้าน ขณะที่ข้อแนะนำการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวยังควรปฏิบัติในหกเดือนแรก ดังนั้น เมื่อสตรีต้องออกไปทำงานนอกบ้าน หรือต้องไปทำธุระอื่น ๆ จึงอาจเกิดเหตุการณ์ที่จำเป็นต้องมีการให้นมลูกในที่สาธารณะ ซึ่งทำให้เกิดความเขิน กระดากใจ หรือกระอักกระอ่วนใจทั้งมารดาที่ให้นมลูกและบุคคลที่อยู่ใกล้เคียง เกิดสภาวะที่เป็น “จุดสนใจที่ไม่ต้องการ” การที่จะลดปัญหาหรือความยากลำบากในการให้นมแม่ในที่สาธารณะจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมของทั้งมารดาและสภาพสังคม โดยมารดาที่ต้องมีธุระที่ต้องออกไปนอกบ้านหรือในที่สาธารณะ ควรมีการเตรียมตัวและมีการใส่เสื้อผ้าที่มีความเหมาะสม สะดวกที่จะให้นมลูกโดยไม่รู้สึกเขินอาย และมีการศึกษาว่าในที่ระหว่างการเดินทางหรือที่ที่จะเดินทางไปมีจุดที่จุดไว้สำหรับการให้นมแม่หรือไม่ เพื่อจะสามารถที่จะเลือกแวะที่จะให้นมแม่ด้วยความสบายใจ สำหรับสภาพสังคม การยอมรับในการให้นมแม่ในที่สาธารณะจำเป็นต้องมีการเรียนรู้ การสร้างค่านิยม โดยการสื่อสารผ่านสื่อต่าง ๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่ช่วยสร้างกระแส โดยจะส่งผลต่อระยะเวลาในเปลี่ยนแปลงการยอมรับ แม้เรื่องนี้จำเป็นต้องใช้เวลา แต่หากประสบความสำเร็จ จะช่วยให้มารดาสามารถให้นมแม่ในที่สาธารณะโดยโล่งใจ และไม่เป็นจุดสนใจที่ไม่ต้องการ1

เอกสารอ้างอิง

1.            Hauck YL, Kuliukas L, Gallagher L, Brady V, Dykes C, Rubertsson C. Helpful and challenging aspects of breastfeeding in public for women living in Australia, Ireland and Sweden: a cross-sectional study. Int Breastfeed J 2020;15:38.

กฎหมายควบคุมการส่งเสริมการตลาดของนมผงควรได้รับการใส่ใจ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

กฎหมายควบคุมการส่งเสริมการตลาดของนมผงได้ออกมาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 โดยชื่อที่เป็นทางการคือ พระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก ในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ เพื่อควบคุมการโฆษณา และการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กผ่านการลด แลก แจก แถม และการส่งเสริมการขายด้วยวิธีการอื่น รวมถึงการเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการ และการให้ข้อมูลอาหารที่ขาดจรรยาบรรณและไม่เหมาะสม1 โดยมีบทลงโทษทั้งปรับและจำคุก แต่ยังขาดความเข้มงวดในการบังคับใช้ จะเห็นได้จากมีโฆษณาแฝงหรือการให้บริจาคอย่างไม่เหมาะสมผ่านสื่อต่าง ๆ รวมทั้งสื่อสังคมออนไลน์ที่มีบทบาทมากขึ้นในปัจจุบัน หน่วยงานรวมทั้งบุคคลที่มีหน้าที่ในการควบคุมดูแลการละเมิดกฎหมายนี้ควรจะเข้มงวด เอาใจใส่ และสื่อสารเรื่องตัวอย่างการกระทำผิดให้ประชาชนทราบ ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีความเข้าใจในเนื้อหาของกฎหมายและช่วยกันเป็นหูเป็นตาสอดส่องช่วยดูแล โดยบทบาทเหล่านี้จะมีผลช่วยให้เด็กไทยมีโอกาสได้กินนมแม่มากขึ้น

เอกสารอ้างอิง

1.            ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ (ฉบับปรับปรุง). กรุงเทพมหานคร: ศูนย์หนังสือจุฬา (ebook); 2563.