การให้นมแม่ในที่สาธารณะกับการเป็นจุดสนใจที่ไม่ต้องการ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การให้นมแม่ในที่สาธารณะนั้น ทั้ง ๆ ที่ควรจะเป็นเรื่องที่มองเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่มุมมองในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน กลุ่มประเทศตะวันตกมักจะให้การยอมรับมากกว่ากลุ่มประเทศตะวันออก เนื่องจากขนบธรรมเนียมประเพณีและความเชื่อที่แตกต่างกัน สำหรับประเทศไทยแม้ว่ามุมมองในเรื่องการให้ลูกกินนมแม่จะถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัว และควรทำในสถานที่มิดชิด แต่การยอมรับการให้นมแม่ในที่สาธารณะก็มีมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากสังคมในยุคปัจจุบัน สตรีมีบทบาทในสังคมมากขึ้นและยังต้องไปทำงานนอกบ้าน ขณะที่ข้อแนะนำการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวยังควรปฏิบัติในหกเดือนแรก ดังนั้น เมื่อสตรีต้องออกไปทำงานนอกบ้าน หรือต้องไปทำธุระอื่น ๆ จึงอาจเกิดเหตุการณ์ที่จำเป็นต้องมีการให้นมลูกในที่สาธารณะ ซึ่งทำให้เกิดความเขิน กระดากใจ หรือกระอักกระอ่วนใจทั้งมารดาที่ให้นมลูกและบุคคลที่อยู่ใกล้เคียง เกิดสภาวะที่เป็น “จุดสนใจที่ไม่ต้องการ” การที่จะลดปัญหาหรือความยากลำบากในการให้นมแม่ในที่สาธารณะจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมของทั้งมารดาและสภาพสังคม โดยมารดาที่ต้องมีธุระที่ต้องออกไปนอกบ้านหรือในที่สาธารณะ ควรมีการเตรียมตัวและมีการใส่เสื้อผ้าที่มีความเหมาะสม สะดวกที่จะให้นมลูกโดยไม่รู้สึกเขินอาย และมีการศึกษาว่าในที่ระหว่างการเดินทางหรือที่ที่จะเดินทางไปมีจุดที่จุดไว้สำหรับการให้นมแม่หรือไม่ เพื่อจะสามารถที่จะเลือกแวะที่จะให้นมแม่ด้วยความสบายใจ สำหรับสภาพสังคม การยอมรับในการให้นมแม่ในที่สาธารณะจำเป็นต้องมีการเรียนรู้ การสร้างค่านิยม โดยการสื่อสารผ่านสื่อต่าง ๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่ช่วยสร้างกระแส โดยจะส่งผลต่อระยะเวลาในเปลี่ยนแปลงการยอมรับ แม้เรื่องนี้จำเป็นต้องใช้เวลา แต่หากประสบความสำเร็จ จะช่วยให้มารดาสามารถให้นมแม่ในที่สาธารณะโดยโล่งใจ และไม่เป็นจุดสนใจที่ไม่ต้องการ1

เอกสารอ้างอิง

1.            Hauck YL, Kuliukas L, Gallagher L, Brady V, Dykes C, Rubertsson C. Helpful and challenging aspects of breastfeeding in public for women living in Australia, Ireland and Sweden: a cross-sectional study. Int Breastfeed J 2020;15:38.