รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
มารดาที่เป็นมะเร็งเต้านมที่ได้รับการรักษาที่ไม่ได้มีการผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด หากมารดาอายุยังอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ อาจมีข้อสงสัยว่า ถ้าตนเองตั้งครรภ์ คลอดบุตรแล้ว หลังคลอดจะสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้หรือไม่ โดยทั่วไป ในสตรีที่เป็นมะเร็งหลังการได้รับการรักษา จำเป็นต้องมีการติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่องไปตลอด การที่จะมั่นใจว่าโรคนั้นหายแล้ว จะมีโอกาสเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่ติดตามและตรวจไม่พบการกลับมาเป็นซ้ำของโรค ซึ่งปกติจะใช้รักษาเวลาที่ติดตามอย่างน้อย 5 ปีที่ตรวจไม่พบการกลับเป็นซ้ำของโรค โดยหลังจากนั้น หากมารดามีความประสงค์จะวางแผนการตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้คำปรึกษาในการเตรียมความพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ และหากมารดาตั้งครรภ์ได้ การพิจารณาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ควรรับฟังความคิดเห็น และความรู้สึกของมารดาเกี่ยวกับความต้องการที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อที่จะให้การสนับสนุนและช่วยเหลือมารดาได้อย่างเหมาะสมหลังจากการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับโรคที่มารดาเป็นและความปลอดภัยในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1
เอกสารอ้างอิง
1. Linkeviciute A, Notarangelo M, Buonomo B, Bellettini
G, Peccatori FA. Breastfeeding After Breast Cancer: Feasibility, Safety, and
Ethical Perspectives. J Hum Lact 2020;36:40-3.
รศ.นพ.ภาวิน
พัวพรพงษ์
สามีจะมีบทบาทที่สำคัญในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่บุคลากรทางการแพทย์ไม่ควรละเลย โดยบทบาทของสามีมีตั้งแต่การตัดสินใจในการที่แม่จะให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อย่างไรก็ตาม การที่สามีจะมีส่วนช่วยในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น การจัดกระบวนการที่จะช่วยให้ความรู้และการมีประสบการณ์ร่วมในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะช่วยให้สามีมีทัศนคติที่ดีและสนับสนุนการเลี้ยงลูกดัวยนมแม่1 ดังนั้น เริ่มตั้งแต่ขณะที่มารดาตั้งครรภ์ การจัดระบบเพื่อที่จะเอื้อให้มีการเรียนรู้เกี่ยวกับประโยชน์และความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไปพร้อมกับการเรียนรู้ของมารดา รวมทั้งหากมีการจัดอบรมให้สามีเรียนรู้ว่าจะมีส่วนช่วยในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในช่วงหลังมารดาคลอดบุตร ก็จะช่วยให้สามีสามารถช่วยภรรยาที่เป็นมารดาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างเหมาะสม
เอกสารอ้างอิง
1. Ngoenthong P, Sansiriphun N,
Fongkaew W, Chaloumsuk N. Integrative Review of Fathers’ Perspectives on
Breastfeeding Support. J Obstet Gynecol Neonatal Nurs 2020;49:16-26.
รศ.นพ.ภาวิน
พัวพรพงษ์
การให้ความรู้ คำปรึกษา และข้อแนะนำในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นมผงดัดแปลงสำหรับทารก และอาหารทารก จำเป็นต้องมีการดูแลเรื่องการให้ข้อมูลโดยมีอคติในเรื่องความขัดแย้งของผลประโยชน์ของผู้ที่จะทำการให้ข้อมูล เพราะอคติจะทำให้การให้ข้อมูลไม่เหมาะสม ข้อมูลเบี่ยงเบน และอาจไม่ถูกต้อง หรือมีการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน ซึ่งอาจจะมีผลต่อการตัดสินใจของผู้ที่รับข้อมูล ดังนั้น การแสดงให้เห็นโดยการแจ้งให้กับผู้ที่รับข้อมูลทราบว่า ผู้ที่ให้ข้อมูลมีความขัดแย้งของผลประโยชน์ เป็นผู้ที่จะมีส่วนได้หรือส่วนเสียจากการตัดสินใจของผู้ที่รับข้อมูล จะทำให้ผู้ที่รับข้อมูลมีความเข้าใจถึงการมีอคติ และเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยปกป้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้1
เอกสารอ้างอิง
1. Lhotska L, Richter J, Arendt M. Protecting
Breastfeeding From Conflicts of Interest. J Hum Lact 2020;36:22-8.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
มีการศึกษาที่พบว่า การที่มารดาสามารถให้นมลูกได้ไม่ได้เป็นตัวบอกว่ามารดาจะให้นมแม่ได้นานหรือประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
ขณะที่ความตั้งใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะบ่งบอกถึงความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ดีกว่า1 สิ่งนี้สะท้อนถึงการที่มารดามีความตั้งใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะส่งผลให้มารดามีความมุ่งมั่น
ซึ่งจะทำให้มารดาสามารถฝ่าฟันอุปสรรคที่พบจนประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้
แต่การที่มารดาสามารถให้นมแม่ได้โดยขาดความมุ่งมั่นจะไม่สามารถส่งผลต่อความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
นี่อาจเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของความตั้งใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่จะสามารถทำนายผลการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ดีกว่าการที่มารดามีความสามารถในการให้นมลูกได้เพียงอย่างเดียว
เอกสารอ้างอิง
1. Jones CL, Culpin I, Evans J, Pearson
RM. Relative effects of breastfeeding intention and practice on maternal
responsiveness. Infant Ment Health J 2020;41:82-93.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การเจ็บหัวนมเป็นหนึ่งในปัญหาที่พบบ่อยที่สุดในระยะหลังคลอดที่อาจนำไปสู่การหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร
ซึ่งช่วงเวลาที่พบปัญหาการเจ็บหัวนมบ่อยที่สุด ได้แก่
ช่วงระยะแรกหลังคลอดซึ่งก็คือใน 2-3 วันแรกหลังคลอดขณะที่มารดายังอยู่ในโรงพยาบาล1 โดยสาเหตุของการเจ็บหัวนม มีสาเหตุมาจาก
การเข้าเต้าของทารกที่ไม่เหมาะสม ทารกมีภาวะลิ้นติด การตึงคัดเต้านม
และการที่มีน้ำนมไหลเร็วเกินไป หลังจากที่มารดาได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน อุบัติการณ์ของการเจ็บหัวนมพบลดลง
แต่จะมีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นอีกครั้งในกรณีที่มารดามีปัญหาเรื่องการตึงคัดเต้านม
ดังนั้น การแก้ไขปัญหาเรื่องการตึงคัดเต้านมของมารดารวมทั้งวิธีการบีบน้ำนมออกจากเต้านมก่อนเพื่อให้เต้านมลดอาการตึงคัดลง
ทำให้ทารกอมหัวนมและลานนมได้ลึกขึ้น
จึงอาจเป็นสิ่งที่ควรแนะนำการแก้ปัญหาเหล่านี้เบื้องต้น
เพื่อช่วยให้มารดาสามารถผ่านช่วงเวลาที่มีการเจ็บหัวนมไปได้
และไม่เกิดการหยุดการให้นมลูกก่อนเวลาอันควร
เอกสารอ้างอิง
1. Johansson M, Fenwick J, Thies-Lagergren
L. Mothers’ experiences of pain during breastfeeding in the early postnatal
period: A short report in a Swedish context. Am J Hum Biol 2020;32:e23363.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)