คลังเก็บหมวดหมู่: ทารกแรกเกิด

ทารกแรกเกิด

ทารกกินนมเสียงดังเป็นอะไรไหม

00024-3-1-small

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ?โดยทั่วไป หากทารกเข้าเต้าและดูดนมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะทารกดูดนมจะไม่ได้ยินเสียงการดูดนมเนื่องจากปากของทารกประกบกับเต้านมได้แนบสนิท แต่จะได้ยินเสียงการกลืนนมของทารกได้ ในกรณีที่ทารกกินนมแล้วมีเสียงดังขณะดูดนม ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากการเข้าเต้าที่ไม่เหมาะสม มารดาหรือบุคลากรทางการแพทย์ต้องสังเกตว่าขณะเข้าเต้า ทารกได้อ้าปากกว้าง ริมฝีปากของทารกบานออก หน้าอกของทารกอยู่ชิดลำตัวมารดา และไหล่ ลำตัวและสะโพกของทารกอยู่ในแนวเดียวกัน ซึ่งหากมีการปรับเปลี่ยนท่าการเข้าเต้าได้เหมาะสม การเกิดเสียงดังขณะทารกดูดนมจะหายไป ในกรณีที่ปรับเปลี่ยนท่าแล้ว ทารกยังเข้าเต้าได้ไม่ดี โดยไม่สามารถอมหัวนมและลานนมได้ลึกพอ ควรตรวจดูภาวะลิ้นติดในช่องปากของทารก ซึ่งหากมีภาวะลิ้นติดปานกลางถึงรุนแรงและมารดามีอาการเจ็บหัวนมร่วมด้วย อาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไข แต่ในกรณีที่ทารกมีอาการคัดจมูกหรือมีการติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบน มารดาอาจได้ยินเสียงหายใจขัดหรือหายใจเร็วขณะที่ทารกดูดนมได้ ซึ่งการแก้ไขทำโดยอาจใช้ลูกยางแดงดูดน้ำมูกหรือเสมหะจากจมูก หรือใช้น้ำเกลือล้างจมูกเพื่อลดการอุดตันของน้ำมูกจะทำให้ทารกหายใจได้โล่งขึ้นและดูดนมได้ดีขึ้นด้วย

? ? ? ? ? ? นอกจากนี้ ในกรณีที่มารดามีน้ำนมไหลมากและไหลเร็วจนเกินไป อาจได้ยินเสียงทารกสำลักน้ำนม การแก้ไขอาจบีบน้ำนมออกก่อน ให้เต้านมคัดตึงน้อยลง น้ำนมจะไหลช้าลง ทารกก็จะดูดนมได้ดีขึ้นโดยไม่สำลัก ดังนั้นจะเห็นว่า การสังเกตเสียงที่ผิดปกติขณะทารกดูดนม การปรับเปลี่ยนลักษณะการเข้าเต้าให้เหมาะสม ร่วมกับการตรวจในช่องปากทารกมีความสำคัญ โดยจะช่วยให้ทารกสามารถกินนมแม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Bunik M. Breastfeeding telephone triage and advice. 2nd?ed. The American Academy of Pediatrics 2016.

อาการแพ้ในทารกที่กินนมแม่

00026-1-1-o-small

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? มารดาบางคนอาจมีคำถามว่า ทารกที่กินนมแม่จะมีอาการแพ้ได้หรือไม่ โดยทั่วไป การที่ทารกกินนมแม่จะช่วยป้องกันและลดอาการภูมิแพ้ได้ แต่ในกรณีที่มารดารับประทานอาหารบางอย่าง ได้แก่ นมวัว ผลิตภัณฑ์จากนมวัว สีผสมอาหาร สารกันบูด ไข่ ช็อคโกแลต ถั่ว สารจากอาหารเหล่านี้จะผ่านน้ำนมและทำให้เกิดอาการแพ้ในทารกได้ ซึ่งที่พบบ่อยคือ การแพ้นมวัวหรือผลิตภัณฑ์จากนมวัว โดยพบราวร้อยละ 2-3 ทารกที่มีอาการแพ้อาจพบมีอาการหงุดหงิด งอแง เป็นผื่น คันบริเวณตา คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูกหรือท้องเสีย และอุจจาระอาจมีมูกเลือดปน ในกรณีที่มีอาการที่สงสัยการแพ้นมวัวจากอาหารที่มารดารับประทาน ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยที่แน่ชัด การให้มารดางดนมวัวหรือผลิตภัณฑ์จากนมวัว เนย ชีส หรืออาหารที่มีส่วนผสมของนมวัว แล้วติดตามดูอาการของทารกส่วนใหญ่จะดีขึ้นภายในหนึ่งสัปดาห์ อย่างไรก็ตาม การแพ้สารอาหารที่ผ่านทางน้ำนมนี้ไม่ได้เป็นอาการแพ้ชนิดที่รุนแรงจนเกิดอาการช็อก (anaphylactic shock) และการที่ทารกกินนมแม่ส่วนใหญ่จะช่วยลดความรุนแรงและอาจทำให้เห็นแพ้ช้าลงได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Bunik M. Breastfeeding telephone triage and advice. 2nd The American Academy of Pediatrics 2016.

 

มารดาเจ็บเต้านมขณะที่ให้นมบุตร ต้องระวังอย่างไรบ้าง

IMG_1005

??????????????? รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ?อาการเจ็บเต้านมเป็นอาการที่พบได้บ่อยหลังคลอดและระหว่างการให้นมบุตร มารดาและบุคลากรทางการแพทย์ควรทราบถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเจ็บเต้านม เพื่อการปฏิบัติตัวที่เหมาะสมและหากมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ควรปรึกษาแพทย์ อาการเจ็บเต้านมของมารดาเกิดได้จาก

? ? ? ? ? ?-การตึงคัดเต้านมในระยะหลังคลอด มารดาอาจมีไข้ต่ำๆ ส่วนใหญ่อาการไข้จะไม่นานเกิน 24 ชั่วโมง การประคบเย็นจะช่วยลดอาการปวดคัดตึงเต้านมได้

? ? ? ? ? ?-ก้อนจากการอุดตันของท่อน้ำนม (plugged duct) มักจะพบในมารดาที่ใส่เสื้อชั้นในคับจนเกินไปจนขัดขวางการไหลของน้ำนมในท่อน้ำนม เกิดท่อน้ำนมอุดตัน เป็นก้อน กดเจ็บ การประคบร้อนและนวดเต้านมบริเวณที่เป็นก้อนจะช่วยในการรักษาได้

? ? ? ? ? ?-เต้านมอักเสบ ารดาจะมีไข้ร่วมด้วย เต้านมจะบวม แดง และร้อน อาจคลำได้เป็นก้อนแข็งในบางจุด ซึ่งจะกดเจ็บ การรักษาอาจจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อที่พบเป็นสาเหตุบ่อยคือเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังจำพวก staphyolococcus หรือ streptococcus

? ? ? ? ? ?-ฝีที่เต้านม อาการจะคล้ายกับเต้านมอักเสบ แต่จะคลำได้เป็นก้อนหยุ่นๆ เป็นลักษณะของฝีในบริเวณที่กดเจ็บ ผิวหนังเหนือบริเวณที่เกิดฝีที่คล้ำเป็นสีม่วง ภาวะฝีที่เต้านมเป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง จำเป็นต้องมีการระบายหนองออก โดยทั่วไปใช้การเจาะดูดออกร่วมกับการให้ยาปฏิชีวนะ

? ? ? ? ? ?-การอักเสบจากการติดเชื้อรา มารดาจะมีอาการเจ็บหัวนมร้าวไปที่เต้านม โดยลักษณะการเจ็บจะเจ็บจี๊ดร้าวไปด้านหลัง ผิวหนังบริเวณหัวนมจะมีลักษณะเป็นสะเก็ด มัน และสีชมพู มักพบในมารดาที่มีการใช้ยาปฏิชีวนะระหว่างการคลอด หรือใช้ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน มารดาที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ และมารดาที่เป็นเบาหวาน การรักษาในมารดาสามารถใช้ยาฆ่าเชื้อยาชนิดรับประทานหรือยาทา และทายา gentian violet ในปากทารกเพื่อร่วมในการรักษาด้วย ?

? ? ? ? ? ? สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเจ็บเต้านมอื่นๆ ได้แก่ การเกิดผิวหนังอักเสบบริเวณเต้านม (eczema) การเกิดผิวหนังอักเสบจากการเป็นมะเร็ง (Paget disease) ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการเจ็บเต้านมและอาการคันบริเวณผิวหนังบริเวณหัวนมหรือเต้านมได้ นอกจากนี้ หากมีอาการเจ็บหัวนมหลังการดูดนมใหม่ๆ หรือขณะอากาศเย็น หรือหลังการอาบน้ำ อาจเป็นอาการเจ็บหัวนมจากเส้นเลือดหดรัดตัวผิดปกติ (Raynaud phenomenon) ซึ่งการเช็ดหัวนมให้แห้งและหลีกเลี่ยงอากาศที่เย็นจะช่วยในการรักษาได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Bunik M. Breastfeeding telephone triage and advice. 2nd?ed. The American Academy of Pediatrics 2016.

มีก้อนที่เต้านมขณะให้นมบุตร อันตรายไหม

IMG_0931

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ?ระยะหลังคลอดในขณะให้นมบุตร หากมารดาตรวจพบก้อนที่เต้านม โดยที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีการตรวจพบมาก่อน สาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่ ก้อนจากการอุดตันของท่อน้ำนม (plugged duct) หรือเป็นก้อนที่เกิดจากน้ำนมขังเป็นถุง (galactocele) กรณีที่มารดามีไข้ร่วมด้วย อาจเกิดจากเต้านมอักเสบหรือฝีที่เต้านม

? ? ? ? ? ?กรณีที่เป็นก้อนจากการอุดตันของท่อน้ำนม การดูแลรักษาทำโดยการประคบร้อนก่อนการให้นมหรือการปั๊มนม ร่วมกับทำการนวดตรงบริเวณก้อน กดนวดไล่ตรงบริเวณที่เป็นก้อนไปในทิศทางของหัวนม โดยการทำการกดนวดขณะที่ทารกดูดนมหรือขณะปั๊มนม แนะนำมารดาให้ใส่เสื้อชั้นในที่เหมาะสม ไม่แน่นหรือกดทับขัดขวางการไหลของน้ำนมในท่อน้ำนม สำหรับการให้เลคซิตินจากถั่วเหลือง (soy lecithin) เพื่อช่วยลดการเกิดการอุดตันของท่อน้ำนม ยังไม่มีรายงานการวิจัยยืนยันผลในการรักษา กรณีที่มารดาได้รับการกระแทกบริเวณเต้านมจนเกิดรอยช้ำเขียว ก็อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดการอุดตันของไหลของน้ำนมได้ การรักษาก็ใช้การประคบร้อนและการกดนวดเช่นกัน เพื่อให้ก้อนเลือดที่จับตัวเป็นก้อนมีการดูดซึมเร็วขึ้น เมื่ออาการช้ำเขียวดีขึ้น การไหลของน้ำนมก็จะกลับเป็นปกติ

? ? ? ? ? ?นอกจากนี้ สาเหตุของก้อนที่เต้านมอาจเกิดจากก้อนจากการอักเสบของเต้านมหรือฝีที่เต้านม ซึ่งมักตรวจพบว่ามารดาจะมีอาการไข้ร่วมด้วย สำหรับสาเหตุอื่นๆ ได้แก่ ก้อนเนื้องอกหรือก้อนถุงน้ำชนิดที่ไม่ใช่เนื้อร้าย (fibroadenoma, papilloma หรือ fibrocystic disease) ก้อนไขมัน (lipoma) หรือที่พบได้น้อยแต่ต้องระมัดระวังคือ ก้อนจากมะเร็งเต้านม ซึ่งพบราวร้อยละ 3 ที่ให้การวินิจฉัยได้ระหว่างการตั้งครรภ์หรือการให้นมบุตร ดังนั้น ในกรณีที่ให้การรักษาในสาเหตุที่พบบ่อยแล้วไม่ดีขึ้น ควรระมัดระวังว่าอาจเป็นก้อนเนื้องอกหรือเนื้อร้ายที่ต้องการการดูแลจากแพทย์เฉพาะทางอย่างใกล้ชิด

เอกสารอ้างอิง

  1. Bunik M. Breastfeeding telephone triage and advice. 2nd The American Academy of Pediatrics 2016.

มารดาดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างให้นมบุตร ได้หรือไม่

alcohol drinking3

??????????????? รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ในช่วงเทศกาลหรือมีการเลี้ยงฉลองในวาระต่างๆ อาจมีการเลี้ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ คำถามที่มักถูกถามคือ มารดาดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ได้หรือไม่ แอลกอฮอล์จะดูดซึมได้เร็วจากทางเดินอาหารและผ่านไปสู่น้ำนมได้ดี โดยระดับแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดมารดาจะใกล้เคียงกับระดับแอลกอฮอล์ในน้ำนม ดังนั้น การที่มารดามีอาการเมา และให้ลูกกินนม? ลูกจะได้รับน้ำนมที่มีแอลกอฮอล์ในระดับที่สูง คือ ลูกก็จะเมาด้วย การหลีกเลี่ยงที่ทำได้คือเว้นระยะของการให้นมบุตรให้ห่างออกไป ให้ร่างกายมารดากำจัดแอลกอฮอล์ไปเสียก่อน โดยหากมารดาดื่มไวน์ขนาดที่รินเสริ์ฟปกติหรือไม่เกินครึ่งแก้วไวน์ (150 มิลลิลิตร) หรือดื่มเบียร์ไม่เกินหนึ่งกระป๋องเล็ก (360 มิลลิลิตร) หรือดื่มค็อกเทลที่ผสมเหล้า 40 ดีกรีไม่เกิน 1 เป็กครึ่ง (45 มิลลิลิตร) ร่างกายจะกำจัดแอลกอฮอล์ออกได้ และสามารถให้นมลูกโดยปลอดภัย แต่อย่างไรก็ตาม หากเป็นไปได้ มารดาควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในระหว่างการให้นมบุตร ซึ่งจะทำให้ไม่ได้ไม่ต้องมาวิตกกังวลว่าต้องเว้นระยะการให้นมลูกนานเท่าไหร่ และไม่ต้องวิตกกังวลว่าลูกจะได้รับแอลกอฮอล์ไปมากแค่ไหนด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Bunik M. Breastfeeding telephone triage and advice. 2nd The American Academy of Pediatrics 2016.