ทารกกินนมเสียงดังเป็นอะไรไหม

00024-3-1-small

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ?โดยทั่วไป หากทารกเข้าเต้าและดูดนมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะทารกดูดนมจะไม่ได้ยินเสียงการดูดนมเนื่องจากปากของทารกประกบกับเต้านมได้แนบสนิท แต่จะได้ยินเสียงการกลืนนมของทารกได้ ในกรณีที่ทารกกินนมแล้วมีเสียงดังขณะดูดนม ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากการเข้าเต้าที่ไม่เหมาะสม มารดาหรือบุคลากรทางการแพทย์ต้องสังเกตว่าขณะเข้าเต้า ทารกได้อ้าปากกว้าง ริมฝีปากของทารกบานออก หน้าอกของทารกอยู่ชิดลำตัวมารดา และไหล่ ลำตัวและสะโพกของทารกอยู่ในแนวเดียวกัน ซึ่งหากมีการปรับเปลี่ยนท่าการเข้าเต้าได้เหมาะสม การเกิดเสียงดังขณะทารกดูดนมจะหายไป ในกรณีที่ปรับเปลี่ยนท่าแล้ว ทารกยังเข้าเต้าได้ไม่ดี โดยไม่สามารถอมหัวนมและลานนมได้ลึกพอ ควรตรวจดูภาวะลิ้นติดในช่องปากของทารก ซึ่งหากมีภาวะลิ้นติดปานกลางถึงรุนแรงและมารดามีอาการเจ็บหัวนมร่วมด้วย อาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไข แต่ในกรณีที่ทารกมีอาการคัดจมูกหรือมีการติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบน มารดาอาจได้ยินเสียงหายใจขัดหรือหายใจเร็วขณะที่ทารกดูดนมได้ ซึ่งการแก้ไขทำโดยอาจใช้ลูกยางแดงดูดน้ำมูกหรือเสมหะจากจมูก หรือใช้น้ำเกลือล้างจมูกเพื่อลดการอุดตันของน้ำมูกจะทำให้ทารกหายใจได้โล่งขึ้นและดูดนมได้ดีขึ้นด้วย

? ? ? ? ? ? นอกจากนี้ ในกรณีที่มารดามีน้ำนมไหลมากและไหลเร็วจนเกินไป อาจได้ยินเสียงทารกสำลักน้ำนม การแก้ไขอาจบีบน้ำนมออกก่อน ให้เต้านมคัดตึงน้อยลง น้ำนมจะไหลช้าลง ทารกก็จะดูดนมได้ดีขึ้นโดยไม่สำลัก ดังนั้นจะเห็นว่า การสังเกตเสียงที่ผิดปกติขณะทารกดูดนม การปรับเปลี่ยนลักษณะการเข้าเต้าให้เหมาะสม ร่วมกับการตรวจในช่องปากทารกมีความสำคัญ โดยจะช่วยให้ทารกสามารถกินนมแม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Bunik M. Breastfeeding telephone triage and advice. 2nd?ed. The American Academy of Pediatrics 2016.