คลังเก็บหมวดหมู่: ทารกแรกเกิด

ทารกแรกเกิด

ผลของการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                  การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อในระยะแรกหลังคลอดมีผลดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยนอกจากจะช่วยพัฒนาการของระบบประสาทแล้วยังช่วยให้ทารกเริ่มต้นกินนมแม่ได้เร็ว และทารกกินนมแม่ได้ดีกว่า ซึ่งมีผลต่อความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 อย่างไรก็ตาม บุคลากรทางการแพทย์ควรมีความเข้าใจในกระบวนการและรายละเอียดของการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อในระยะแรกหลังคลอดเพื่อช่วยในการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยกระบวนนี้จะสมบูรณ์ควรจะมีการปล่อยให้ทารกอยู่บนอกมารดาราว 1 ชั่วโมงเพื่อให้ทารกปรับตัวจากการที่อยู่ในครรภ์ มาทำความคุ้นเคยกับการอยู่แนบอกมารดาและพร้อมที่เคลื่อนเข้าหานมแม่เพื่อกินนม ซึ่งหากจัดแบ่งกระบวนการนี้จะมีคำย่อของขั้นตอน 9 ขั้นตอน ได้แก่ ทารกจะผ่านกระบวนการการร้องไห้ (birth cry) ผ่อนคลาย (relaxation) ตื่นตัว (awakening) เคลื่อนไหว (activity) พัก (resting) คืบคลาน (crawling) คุ้นเคย (familiarization) ดูดนม (suckling) และหลับ (sleep) โดยในกระบวนการเหล่านี้ต้องการความสงบ ปราศจากการรบกวน จึงจะได้ผลดีและประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Ghojazadeh M, Hajebrahimi S, Pournaghi-Azar F, Mohseni M, Derakhshani N, Azami-Aghdash S. Effect of Kangaroo Mother Care on Successful Breastfeeding: A Systematic Review and Meta-Analysis of Randomised Controlled Trials. Rev Recent Clin Trials 2019;14:31-40.

 

 

 

ปัจจัยที่ช่วยให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และช่วยในการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                 หากตั้งคำถามว่าปัจจัยใดที่จะช่วยให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ประสบความสำเร็จหรือช่วยในการที่มารดาจะมีการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อในระยะแรกหลังคลอดซึ่งเป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่สำคัญที่จะบอกความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีการศึกษาหาคำตอบในเรื่องนี้พบว่า การฝากครรภ์และการคลอดภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลที่มีการดำเนินงานในลักษณะของโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 เนื่องจากกระบวนการดูแลในโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกล้วนเอื้อต่อความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดังนั้น หากจะสนับสนุนให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ กลไกหนึ่งซึ่งควรให้ความสำคัญคือ การจัดให้มีโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกรองรับการดูแลมารดาและทารกอย่างเพียงพอ และมีกระบวนการที่กำกับดูแลให้มีตัวชี้วัดและการปฏิบัติตามแนวนโยบายของโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกอย่างเหมาะสม น่าจะช่วยให้เกิดความสำเร็จในการรณรงค์ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Chugh Sachdeva R, Mondkar J, Shanbhag S, et al. A Qualitative Analysis of the Barriers and Facilitators for Breastfeeding and Kangaroo Mother Care Among Service Providers, Mothers and Influencers of Neonates Admitted in Two Urban Hospitals in India. Breastfeed Med 2019.

 

 

การให้คำปรึกษาเรื่องการคุมกำเนิดที่ใช้ฮอร์โมนกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

             การคุมกำเนิดที่ใช้ฮอร์โมนบางวิธีหากมีการให้คำปรึกษาที่ไม่เหมาะสมอาจมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ เช่น การให้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอด ดังนั้น การให้คำปรึกษาในเรื่องการคุมกำเนิดหลังคลอดสำหรับมารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น บุคลากรทางการแพทย์ผู้ให้คำปรึกษาควรมีความรู้ และควรหลีกเลี่ยงอคติที่มีต่อการคุมกำเนิดชนิดใดชนิดหนึ่ง ควรเปิดโอกาสที่จะให้มารดาได้มีโอกาสเลือกหลังจากที่ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการคุมกำเนิดในแต่ละวิธีอย่างเหมาะสม1 การที่บุคลากรทางการแพทย์ผู้ให้คำปรึกษามีอคติกับวิธีการคุมกำเนิดวิธีใดวิธีหนึ่งย่อมส่งผลต่อการให้คำปรึกษาและอาจมีผลส่งต่อไปถึงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วยก็ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Bryant AG, Lyerly AD, DeVane-Johnson S, Kistler CE, Stuebe AM. Hormonal contraception, breastfeeding and bedside advocacy: the case for patient-centered care. Contraception 2019;99:73-6.

มารดาที่สูบบุหรี่มีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่ำ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                การสูบบุหรี่มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งในปอด โรคปอดเรื้อรัง รวมถึงยังมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย มีการศึกษาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาที่สูบบุหรี่พบว่า ทารกของมารดาที่สูบบุหรี่มีการพัฒนาการของระบบประสาทที่ผิดปกติ ซึ่งทารกที่มีพัฒนาการของระบบประสาทที่ผิดปกติ เมื่อประเมินการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วยคะแนนการเข้าเต้า (LATCH  score) พบว่ามีคะแนนการเข้าเต้าต่ำกว่าทารกในกลุ่มควบคุม1 ซึ่งคะแนนการเข้าเต้าที่ต่ำสัมพันธ์กับอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ต่ำด้วย ดังนั้น จะเห็นว่าผลเสียของการสูบบุหรี่นั้นไม่เฉพาะเกิดแก่ตัวมารดาเองเท่านั้น ยังมีผลต่อสุขภาพทารกด้วย บุคลากรทางการแพทย์ควรให้ความรู้เหล่านี้แก่มารดาเพื่อมารดาจะเข้าใจและเลือกปฏิบัติตัวเพื่อลดความเสี่ยงจากผลเสียของบุหรี่

เอกสารอ้างอิง

  1. Bertini G, Elia S, Lori S, Dani C. Abnormal neurological soft signs in babies born to smoking mothers were associated with lower breastfeeding for first three months. Acta Paediatr 2019.

 

การประเมินเกณฑ์คุณภาพแม่และเด็กช่วยส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

             การพัฒนาคุณภาพหรือการประกันคุณภาพโรงพยาบาล ปัจจุบันเป็นสิ่งที่บุคลากรทางการแพทย์ให้ความสำคัญและมีคุ้นเคย โดยในประเทศไทยเกณฑ์ในการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลจะใช้เกณฑ์ Hospital accreditation หรือ HA สำหรับโรงพยาบาลภาครัฐและโรงพยาบาลเอกชนบางโรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยประกันสังคมและผู้ป่วยประกันคุณภาพ แต่โรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยต่างชาติ  จะใช้เกณฑ์พัฒนาคุณภาพของนานาชาติ เช่น JCI หรือในอดีตอาจใช้ ISO การพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลนอกจากจะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้มารับบริการ สร้างความสบายใจต่อบุคลากรทางแพทย์ผู้ให้การดูแลว่าโรงพยาบาลมีระบบรักษาพยาบาลที่ดี มีความปลอดภัยและลดปัญหาการฟ้องร้องแล้ว การประเมินตามเกณฑ์มาตรฐานตัวชี้วัดของมารดาและทารกยังช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย1 ซึ่งเกณฑ์การประเมินตัวชี้วัดของประเทศไทยจะใช้เกณฑ์ลูกเกิดรอดแม่ปลอดและเกณฑ์โรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก ในสหรัฐอเมริกาใช้คะแนนจากการสำรวจการดูแลทารกและการให้อาหารทารกของมารดาในการประเมิน (Maternity Practices in Infant Nutrition and Care survey) ซึ่งคะแนนจากการประเมินเหล่านี้ จะช่วยในการพัฒนานโยบายและการปฏิบัติที่จะสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของสถานพยาบาล

เอกสารอ้างอิง

  1. Barrera CM, Beauregard JL, Nelson JM, Perrine CG. Association of Maternity Care Practices and Policies with In-Hospital Exclusive Breastfeeding in the United States. Breastfeed Med 2019.