รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
อย่างที่ทราบกันดีว่า
กระบวนการดูดนมแม่จากเต้านมมารดาของทารกจะมีกลไกที่แตกต่างจากการดูดนมผงดัดแปลงสำหรับทารกจากขวด
ซึ่งหากมารดาให้ทั้งนมแม่และให้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกไปพร้อม ๆ กัน
ทารกมักจะเลือกการกินนมที่สะดวกคือไม่ต้องออกแรงดูดหรือออกแรงในการดูดนมน้อย
ซึ่งก็คือการกินนมผงดัดแปลงสำหรับทารกจากขวดนมที่น้ำนมจะไหลได้เร็วจากขนาดของรูจากจุกนมที่กว้างและมีแรงจากการไหลตามแรงดึงดูดของโลกจากการตั้งขวดนมไว้เหนือทารก
ทำให้ทารกมีโอกาสที่จะหยุดการให้นมแม่มากกว่ามารดาที่ให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียวถึง 2.3 เท่า ดังนั้น
หากมารดาสามารถที่จะให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียวได้อาจจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยให้มารดาประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้1
เอกสารอ้างอิง
1. Hemmingway A, Fisher D, Berkery T,
Dempsey E, Murray DM, Kiely ME. A detailed exploration of early infant milk
feeding in a prospective birth cohort study in Ireland: combination feeding of
breastmilk and infant formula and early breastfeeding cessation. Br J Nutr
2020:1-28.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การให้นมแม่ในที่สาธารณะนั้น ทั้ง ๆ
ที่ควรจะเป็นเรื่องที่มองเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่มุมมองในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน
กลุ่มประเทศตะวันตกมักจะให้การยอมรับมากกว่ากลุ่มประเทศตะวันออก เนื่องจากขนบธรรมเนียมประเพณีและความเชื่อที่แตกต่างกัน
สำหรับประเทศไทยแม้ว่ามุมมองในเรื่องการให้ลูกกินนมแม่จะถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัว
และควรทำในสถานที่มิดชิด แต่การยอมรับการให้นมแม่ในที่สาธารณะก็มีมากขึ้นในปัจจุบัน
เนื่องจากสังคมในยุคปัจจุบัน สตรีมีบทบาทในสังคมมากขึ้นและยังต้องไปทำงานนอกบ้าน ขณะที่ข้อแนะนำการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวยังควรปฏิบัติในหกเดือนแรก
ดังนั้น เมื่อสตรีต้องออกไปทำงานนอกบ้าน หรือต้องไปทำธุระอื่น ๆ
จึงอาจเกิดเหตุการณ์ที่จำเป็นต้องมีการให้นมลูกในที่สาธารณะ ซึ่งทำให้เกิดความเขิน
กระดากใจ หรือกระอักกระอ่วนใจทั้งมารดาที่ให้นมลูกและบุคคลที่อยู่ใกล้เคียง
เกิดสภาวะที่เป็น “จุดสนใจที่ไม่ต้องการ” การที่จะลดปัญหาหรือความยากลำบากในการให้นมแม่ในที่สาธารณะจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมของทั้งมารดาและสภาพสังคม
โดยมารดาที่ต้องมีธุระที่ต้องออกไปนอกบ้านหรือในที่สาธารณะ
ควรมีการเตรียมตัวและมีการใส่เสื้อผ้าที่มีความเหมาะสม สะดวกที่จะให้นมลูกโดยไม่รู้สึกเขินอาย
และมีการศึกษาว่าในที่ระหว่างการเดินทางหรือที่ที่จะเดินทางไปมีจุดที่จุดไว้สำหรับการให้นมแม่หรือไม่
เพื่อจะสามารถที่จะเลือกแวะที่จะให้นมแม่ด้วยความสบายใจ สำหรับสภาพสังคม
การยอมรับในการให้นมแม่ในที่สาธารณะจำเป็นต้องมีการเรียนรู้ การสร้างค่านิยม
โดยการสื่อสารผ่านสื่อต่าง ๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่ช่วยสร้างกระแส โดยจะส่งผลต่อระยะเวลาในเปลี่ยนแปลงการยอมรับ
แม้เรื่องนี้จำเป็นต้องใช้เวลา แต่หากประสบความสำเร็จ
จะช่วยให้มารดาสามารถให้นมแม่ในที่สาธารณะโดยโล่งใจ
และไม่เป็นจุดสนใจที่ไม่ต้องการ 1
เอกสารอ้างอิง
1. Hauck YL, Kuliukas L, Gallagher L,
Brady V, Dykes C, Rubertsson C. Helpful and challenging aspects of
breastfeeding in public for women living in Australia, Ireland and Sweden: a
cross-sectional study. Int Breastfeed J 2020;15:38.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
กฎหมายควบคุมการส่งเสริมการตลาดของนมผงได้ออกมาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 โดยชื่อที่เป็นทางการคือ
พระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก
ในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ เพื่อควบคุมการโฆษณา และการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กผ่านการลด
แลก แจก แถม และการส่งเสริมการขายด้วยวิธีการอื่น
รวมถึงการเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการ
และการให้ข้อมูลอาหารที่ขาดจรรยาบรรณและไม่เหมาะสม1 โดยมีบทลงโทษทั้งปรับและจำคุก แต่ยังขาดความเข้มงวดในการบังคับใช้
จะเห็นได้จากมีโฆษณาแฝงหรือการให้บริจาคอย่างไม่เหมาะสมผ่านสื่อต่าง ๆ
รวมทั้งสื่อสังคมออนไลน์ที่มีบทบาทมากขึ้นในปัจจุบัน หน่วยงานรวมทั้งบุคคลที่มีหน้าที่ในการควบคุมดูแลการละเมิดกฎหมายนี้ควรจะเข้มงวด
เอาใจใส่ และสื่อสารเรื่องตัวอย่างการกระทำผิดให้ประชาชนทราบ
ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีความเข้าใจในเนื้อหาของกฎหมายและช่วยกันเป็นหูเป็นตาสอดส่องช่วยดูแล
โดยบทบาทเหล่านี้จะมีผลช่วยให้เด็กไทยมีโอกาสได้กินนมแม่มากขึ้น
เอกสารอ้างอิง
1. ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ (ฉบับปรับปรุง). กรุงเทพมหานคร: ศูนย์หนังสือจุฬา (ebook);
2563.
รศ.นพ.ภาวิน
พัวพรพงษ์
การที่มีการให้มารดาลาพักหลังคลอด จุดประสงค์เพื่อให้มารดาได้พักฟื้นปรับสภาพร่างกายให้กลับมาเป็นเหมือนก่อนตั้งครรภ์ ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้เวลาราว 6 สัปดาห์หลังคลอด และอีกส่วนที่มีความสำคัญคือให้มารดาสามารถให้ลูกกินนมแม่ ซึ่งแนะนำให้มีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนแรกหลังคลอด โดยทั่วไป การอนุญาตให้ลาพักหลังคลอดมักจะครอบคลุมในช่วงหกสัปดาห์หลังคลอดที่เป็นช่วยที่ร่างกายมารดาจะกลับมาเป็นปกติอยู่แล้ว แต่สำหรับการที่จะให้มารดาสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนหลังคลอดยังอาจจะมีอุปสรรคอยู่ ในประเทศไทยส่วนใหญ่สิทธิในการลาพักหลังคลอดมักจะให้ลาพักได้ประมาณ 3 เดือนหลังคลอด ซึ่งทำให้พบว่าการกลับไปทำงานเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้มารดาหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ทั้ง ๆ ที่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า หากมารดาได้รับการลาพักหลังคลอดนานขึ้นจะช่วยในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 การตัดสินใจเชิงนโยบายเพื่อออกกฎหมายสนับสนุนการลาพักหลังคลอดเพิ่มขึ้นจึงควรนำมาทบทวนพิจารณา เพื่อสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพพื้นฐานของประชาชน ซึ่งหากได้มีการสนับสนุนในเรื่องนี้แล้วในหลายประเทศในกลุ่มอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม เมียนมาร์ เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง
1. Grandahl M, Stern J, Funkquist EL. Longer shared parental
leave is associated with longer duration of breastfeeding: a cross-sectional
study among Swedish mothers and their partners. BMC Pediatr 2020;20:159.
รศ.นพ.ภาวิน
พัวพรพงษ์
เป็นที่ทราบกันดีว่า มารดาที่มีลูกคนแรกหรือมารดาครรภ์แรกจะมีความเสี่ยงที่จะหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร อาจมีสาเหตุจากการขาดความรู้ ขาดประสบการณ์ และขาดผู้ที่จะให้คำปรึกษาอย่างเหมาะเมื่อเกิดปัญหาหรืออุปสรรคในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดังนั้น การที่บุคลากรให้ความสำคัญและระลึกอยู่เสมอว่า มารดาที่มีลูกคนแรกอาจจะต้องมีการจัดระบบการดูแลที่มีการติดตามเอาใจใส่มากขึ้นกว่ามารดาที่มีประสบการณ์ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แล้ว ซึ่งมีการศึกษาพบว่า การจัดระบบสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาที่มีลูกคนแรกสามารถเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่หกเดือนได้ถึง 3 เท่า1 จึงถือว่าเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้
เอกสารอ้างอิง
1. Gonzalez-Darias A, Diaz-Gomez NM, Rodriguez-Martin S,
Hernandez-Perez C, Aguirre-Jaime A. ‘Supporting a first-time mother’: Assessment
of success of a breastfeeding promotion programme. Midwifery 2020;85:102687.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)