รศ.นพ.ภาวิน
พัวพรพงษ์
การให้ความรู้ คำปรึกษา และข้อแนะนำในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นมผงดัดแปลงสำหรับทารก และอาหารทารก จำเป็นต้องมีการดูแลเรื่องการให้ข้อมูลโดยมีอคติในเรื่องความขัดแย้งของผลประโยชน์ของผู้ที่จะทำการให้ข้อมูล เพราะอคติจะทำให้การให้ข้อมูลไม่เหมาะสม ข้อมูลเบี่ยงเบน และอาจไม่ถูกต้อง หรือมีการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน ซึ่งอาจจะมีผลต่อการตัดสินใจของผู้ที่รับข้อมูล ดังนั้น การแสดงให้เห็นโดยการแจ้งให้กับผู้ที่รับข้อมูลทราบว่า ผู้ที่ให้ข้อมูลมีความขัดแย้งของผลประโยชน์ เป็นผู้ที่จะมีส่วนได้หรือส่วนเสียจากการตัดสินใจของผู้ที่รับข้อมูล จะทำให้ผู้ที่รับข้อมูลมีความเข้าใจถึงการมีอคติ และเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยปกป้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้1
เอกสารอ้างอิง
1. Lhotska L, Richter J, Arendt M. Protecting
Breastfeeding From Conflicts of Interest. J Hum Lact 2020;36:22-8.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
มีการศึกษาที่พบว่า การที่มารดาสามารถให้นมลูกได้ไม่ได้เป็นตัวบอกว่ามารดาจะให้นมแม่ได้นานหรือประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
ขณะที่ความตั้งใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะบ่งบอกถึงความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ดีกว่า1 สิ่งนี้สะท้อนถึงการที่มารดามีความตั้งใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะส่งผลให้มารดามีความมุ่งมั่น
ซึ่งจะทำให้มารดาสามารถฝ่าฟันอุปสรรคที่พบจนประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้
แต่การที่มารดาสามารถให้นมแม่ได้โดยขาดความมุ่งมั่นจะไม่สามารถส่งผลต่อความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
นี่อาจเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของความตั้งใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่จะสามารถทำนายผลการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ดีกว่าการที่มารดามีความสามารถในการให้นมลูกได้เพียงอย่างเดียว
เอกสารอ้างอิง
1. Jones CL, Culpin I, Evans J, Pearson
RM. Relative effects of breastfeeding intention and practice on maternal
responsiveness. Infant Ment Health J 2020;41:82-93.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การเจ็บหัวนมเป็นหนึ่งในปัญหาที่พบบ่อยที่สุดในระยะหลังคลอดที่อาจนำไปสู่การหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร
ซึ่งช่วงเวลาที่พบปัญหาการเจ็บหัวนมบ่อยที่สุด ได้แก่
ช่วงระยะแรกหลังคลอดซึ่งก็คือใน 2-3 วันแรกหลังคลอดขณะที่มารดายังอยู่ในโรงพยาบาล1 โดยสาเหตุของการเจ็บหัวนม มีสาเหตุมาจาก
การเข้าเต้าของทารกที่ไม่เหมาะสม ทารกมีภาวะลิ้นติด การตึงคัดเต้านม
และการที่มีน้ำนมไหลเร็วเกินไป หลังจากที่มารดาได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน อุบัติการณ์ของการเจ็บหัวนมพบลดลง
แต่จะมีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นอีกครั้งในกรณีที่มารดามีปัญหาเรื่องการตึงคัดเต้านม
ดังนั้น การแก้ไขปัญหาเรื่องการตึงคัดเต้านมของมารดารวมทั้งวิธีการบีบน้ำนมออกจากเต้านมก่อนเพื่อให้เต้านมลดอาการตึงคัดลง
ทำให้ทารกอมหัวนมและลานนมได้ลึกขึ้น
จึงอาจเป็นสิ่งที่ควรแนะนำการแก้ปัญหาเหล่านี้เบื้องต้น
เพื่อช่วยให้มารดาสามารถผ่านช่วงเวลาที่มีการเจ็บหัวนมไปได้
และไม่เกิดการหยุดการให้นมลูกก่อนเวลาอันควร
เอกสารอ้างอิง
1. Johansson M, Fenwick J, Thies-Lagergren
L. Mothers’ experiences of pain during breastfeeding in the early postnatal
period: A short report in a Swedish context. Am J Hum Biol 2020;32:e23363.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การดูดและกลืนนมแม่ของทารกจากเต้านมมารดาเป็นกลไกที่มีความซับซ้อน
ต่อเนื่อง และเชื่อมโยงกันกับการไหลของนมแม่ในท่อน้ำนมของเต้านมมารดา มีความพยายามจะพัฒนาเครื่องมือเลียนแบบการกินนมแม่ของทารก
ซึ่งในปัจจุบันมีเครื่องมือที่เลียนแบบการกินนมแม่ของทารกที่เรียกว่า bio-inspired
breastfeeding simulator หรือเรียกย่อ ๆ ว่า BIBS ที่สามารถสร้างแรงดูดเลียนแบบแรงดูดในช่องปากของทารก
มีอุปกรณ์ที่เลียนแบบหัวนมที่จะมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะของหัวนมตามแรงดูดที่กำหนด
มีการจำลองท่อน้ำนมที่จะแสดงถึงการไหลของน้ำนมจากในต่อมน้ำนม ผ่านท่อน้ำนมและหัวนม
ซึ่งจากการทดสอบพบว่ามีประสิทธิภาพที่ดีและสามารถสะท้อนถึงกลไกการดูดนมของทารกได้อย่างมีนัยสำคัญ1 ดังนั้น
การพัฒนาเครื่องมือนี้อาจจะช่วยในการสร้างความเข้าใจกลไกการดูดน้ำนมของทารกให้กับบุคลากรทางการแพทย์
มารดาและครอบครัว และยังอาจมีส่วนช่วยในการพัฒนาเครื่องมือต่าง ๆ ที่จะช่วยทารกดูดนมแม่ในทารกที่มีความผิดปกติของช่องปากได้ในอนาคต
เอกสารอ้างอิง
1. Jiang L, Hassanipour F. Bio-inspired
Breastfeeding Simulator (BIBS): A Tool for Studying the Infant Feeding
Mechanism. IEEE Trans Biomed Eng 2020.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
นอกเหนือจากการที่มีพี่เลี้ยงสนับสนุนในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้แล้ว
การจัดกลุ่มมารดาเพื่อสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยให้มารดาได้แลกเปลี่ยนปัญหาและแนวทางการแก้ไขระหว่างการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังช่วยเพิ่มความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย
เนื่องจากปัญหาที่พบของมารดาคนหนึ่งอาจจะคล้ายกับมารดาอีกคนหนึ่ง
และการสื่อสารกันเองระหว่างมารดาด้วยภาษาที่ง่าย
และการเห็นตัวอย่างของมารดาที่ได้รับการแก้ไขจนประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกับการมีผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมจะให้คำปรึกษาในการจัดกลุ่มสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อาจเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้1
เอกสารอ้างอิง
1. Jenkins LA, Barnes K, Latter A, Edwards
RA. Examining the Baby Cafe Model and Mothers’ Breastfeeding Duration, Meeting
of Goals, and Exclusivity. Breastfeed Med 2020.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)