คลังเก็บหมวดหมู่: คำถามที่พบบ่อย

คำถามที่พบบ่อย

อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดลงในทารกที่ส่องไฟ

IMG_1467

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ทารกตัวเหลืองเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยของทารกแรกเกิดในระยะหลังเกิด สาเหตุของการเกิดทารกตัวเหลืองมีหลายสาเหตุ ได้แก่ การที่หมู่เลือดมารดาและทารกไม่เข้ากัน ภาวะ G6PD การติดเชื้อ และการกินนมแม่ที่ไม่เพียงพอ วิธีการดูแลรักษาที่นิยมใช้ในการรักษาทารกตัวเหลือง คือ การส่องไฟ ซึ่งความถี่ของแสงที่พอเหมาะจะช่วยในการเปลี่ยนแปลงบิลลิรูบินที่เป็นสารเหลือง ทำให้ร่างกายทารกสามารถกำจัดสารเหลืองออกจากร่างกายได้ดีขึ้น แต่มีการศึกษาพบว่า การที่ทารกส่องไฟในการรักษาภาวะตัวเหลืองมีความสัมพันธ์กับอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในช่วง 4 เดือนแรก1 โดยสาเหตุของการที่มีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ลดลง อาจเป็นจากทารกจำเป็นต้องแยกไปส่องไฟรักษาภาวะตัวเหลืองหรือความวิตกกังวลของมารดาจากการที่ทารกตัวเหลือง ซึ่งหากบุคลากรทางการแพทย์ทราบถึงความเสี่ยงนี้ เอาใจใส่ ให้ความเข้าใจ และย้ำเตือนให้ทราบถึงประโยชน์ของนมแม่ อาจช่วยให้มารดาคงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อไปได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Waite WM, Taylor JA. Phototherapy for the Treatment of Neonatal Jaundice and Breastfeeding Duration and Exclusivity. Breastfeed Med 2016;11:180-5.

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวี

DSC00090-1

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? หนึ่งในสาเหตุของการติดเชื้อเอชไอวี ได้แก่ การติดเชื้อจากมารดาสู่ทารกระหว่างการตั้งครรภ์และการคลอด การที่มารดาได้รับยาต้านเชื้อไวรัสร่วมกับการดูแลอย่างเหมาะสมจะลดการติดเชื้อลงได้เหลือราวร้อยละ 1 การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นข้อบ่งห้ามในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เนื่องจากมีไวรัสเอชไอวีผ่านทางน้ำนม อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ภาวะท้องเสียและปอดบวมสูง และขาดการสนับสนุนการได้รับนมผงดัดแปลงสำหรับทารกอย่างเพียงพอ การที่ทารกกินนมแม่อย่างเดียวจะมีความเสี่ยงต่ำกว่าทารกที่กินนมแม่ร่วมกับนมผง สำหรับในมารดา การให้ลูกกินนมแม่ไม่มีผลเสียต่อการติดเชื้อเอชไอวี และมีผลศึกษาว่าช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของมารดาลงได้1 แต่ความสำคัญในการเลือกอาหารสำหรับทารกจำเป็นต้องเลือกสิ่งที่ปลอดภัยที่สุดที่สามารถจัดหา เข้าถึงได้และมีสนับสนุนอย่างเพียงพอในแต่ละพื้นที่ที่จะกำหนดในการให้คำปรึกษาสำหรับมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวี

เอกสารอ้างอิง

  1. Wall KM, Kilembe W, Haddad L, et al. Hormonal Contraception, Pregnancy, Breastfeeding, and Risk of HIV Disease Progression Among Zambian Women. J Acquir Immune Defic Syndr 2016;71:345-52.

การคุมกำเนิดช่วยชีวิตมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวี

IMG_0707

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การติดเชื้อเอชไอวีในปัจจุบันเป็นสิ่งที่พบได้ในสังคม การทำความเข้าใจและมีความรู้เกี่ยวกับการดูแลตนเอง ป้องกันการแพร่เชื้อและรับเชื้อจึงเป็นเรื่องที่ทุกคนควรใส่ใจ สำหรับผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี การมีเพศสัมพันธ์ควรใช้ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อและเสี่ยงต่อการรับเชื้อโรคอื่นๆ ที่จะทำให้เกิดความเสี่ยงขณะที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาพบว่า มารดาที่คุมกำหนดด้วยยาฝังคุมกำเนิดหรือยาฉีดคุมกำเนิดอาจมีความสัมพันธ์กับการลดอัตราการตายของผู้ติดเชื้อเอชไอวี ขณะที่ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทานไม่มีผลนี้1 อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่อธิบายเหตุผลและความชัดเจนจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป ?

เอกสารอ้างอิง

  1. Wall KM, Kilembe W, Haddad L, et al. Hormonal Contraception, Pregnancy, Breastfeeding, and Risk of HIV Disease Progression Among Zambian Women. J Acquir Immune Defic Syndr 2016;71:345-52.

นมแม่ เพื่อสุขภาพที่ดีของทารกและมารดา

IMG_1684

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การรณรงค์ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในปัจจุบัน แม้มารดาจะมีความเข้าใจถึงประโยชน์และความสำคัญของนมแม่มากขึ้น รวมทั้งกระแสสังคมที่มีการเอาใจใส่เรื่องสุขภาพ ทำให้การสื่อสารที่จะให้กับมารดาและครอบครัวนั้นดูเหมือนจะง่ายขึ้น แต่ยังคงมีปัญหาและอุปสรรคที่พบหลายอย่างที่ยังคงทำให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังคงไม่เป็นไปตามเป้าหมายขององค์การอนามัยโลกที่ตั้งไว้ว่า อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนร้อยละ 50

? ? ? ? ? ? ?บุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นแกนนำในการรณรงค์จำเป็นต้องสนับสนุน ส่งเสริมและปกป้องสิทธิที่ทารกจะได้รับนมแม่ โดยการสนับสนุนให้มารดาได้มีความพร้อมในการให้ทารกได้กินนมแม่ตั้งแต่ระยะฝากครรภ์จนถึงหลังคลอดพร้อมทั้งติดตามช่วยแก้ปัญหาที่อาจนำมาซึ่งการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาที่เหมาะสม การส่งเสริมนั้นต้องสื่อสารให้เห็นประโยชน์และความสำคัญของนมแม่ต่อสุขภาพที่ดีของทารกและมารดาทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว เพื่อสร้างความตั้งใจและความมุ่งมั่นที่จะเลี้ยงดูลูกด้วยนมแม่ และสร้างให้บิดาและมารดามีส่วนร่วมในการเป็นผู้ส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สำหรับการปกป้องสิทธิของทารกที่จะได้รับนมแม่ เน้นการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ว่าด้วยการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันการสื่อสารทางการตลาดที่ชักจูงและทำให้เกิดมโนคติที่จะเลือกใช้นมผงดัดแปลงในการเลี้ยงดูทารก1,2 ทั้งหมดนี้ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือของทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งภาคการเมือง ภาคเอกชน และภาคประชาชนที่จะร่วมมือกัน เพื่อสร้างให้บุคลากรของโลกในอนาคตมีสุขภาพที่ดีจากการเริ่มต้นการกินนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Wallingford J. Breastfeeding in the 21st century. Lancet 2016;387:2087.
  2. Walters D, Kakietek JJ, Eberwein JD, Pullum T, Shekar M. Breastfeeding in the 21st century. Lancet 2016;387:2087.

การสนับสนุนให้มารดาได้ให้นมลูกสองปีหรือนานกว่านั้น

IMG_1681

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? องค์การอนามัยโลกแนะนำให้มารดาให้นมบุตรอย่างเดียวหกเดือน หลังจากนั้นให้อาหารเสริมตามวัยร่วมกับให้นมแม่ต่อเนื่องไปจนกระทั่งสองปีหรือนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของมารดาและทารก โดยการเอาใจใส่และดูแลให้คำแนะนำ สนับสนุนจากบุคลากรทางการแพทย์ตั้งแต่ในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอด ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นมีความสำคัญต่อความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวและช่วยในเรื่องระยะเวลาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่การขาดความต่อเนื่องของการแนะนำและย้ำเตือนถึงประโยชน์ของนมแม่ที่ยังมีมากหากทารกได้กินนมแม่จนถึงสองปีหรือนานกว่านั้น ก็มีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่สองปีเช่นกัน มีการศึกษาพบว่า อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่สองปีไม่แตกต่างกันในมารดากลุ่มเสี่ยงที่ได้รับการดูแลและให้คำปรึกษาในช่วงหกเดือนแรกแล้วหยุดการให้การสนับสนุนกับมารดาที่ไม่ได้รับการให้การดูแลหรือคำปรึกษาในช่วงหกเดือนแรกหลังคลอด1 ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ควรให้ความสำคัญกับการติดตามดูแลทารกอย่างต่อเนื่องร่วมกับการให้ข้อมูลเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างสม่ำเสมอ ขณะที่ติดตามดูแลเรื่องการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกที่คลินิกเด็กดี ความต่อเนื่องของการให้ข้อมูลเรื่องประโยชน์และความจำเป็นของนมแม่ในช่วงปีที่สองหรือนานกว่านั้นน่าจะช่วยให้ทารกได้กินนมแม่นานขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Silva CF, Nunes LM, Schwartz R, Giugliani ER. Effect of a pro-breastfeeding intervention on the maintenance of breastfeeding for 2 years or more: randomized clinical trial with adolescent mothers and grandmothers. BMC Pregnancy Childbirth 2016;16:97.