คลังเก็บหมวดหมู่: คำถามที่พบบ่อย

คำถามที่พบบ่อย

ความเข้าใจมารดาส่งเสริมให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่นานขึ้น

IMG_3460

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? มารดาแต่ละคน ในการที่จะวางแผนในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อาจมีปัญหาและอุปสรรคที่แตกต่างกัน ดังนั้น การที่บุคลากรทางการแพทย์จะให้คำปรึกษาแก่มารดา จำเป็นต้องทราบบริบทของมารดา ได้แก่ มารดาพักอยู่ที่ไหน อยู่กับใคร ทำงานอะไร มีใครช่วยเหลือในการเลี้ยงหรือดูแลลูกหรือไม่ สภาพครอบครัวเป็นอย่างไร บทบาทของมารดาและคนในครอบครัว หน้าที่และภาระงานต่าง ๆ ที่มารดาต้องปฏิบัติ เป็นต้น การที่จะเข้าถึงมารดาและให้คำปรึกษาจำเป็นต้องมีรูปแบบที่หลากหลายให้มารดามีความสะดวกที่จะเลือกใช้ โดยอาจใช้รูปแบบการให้คำปรึกษาที่คลินิกนมแม่ หรือในคนรุ่นใหม่อาจให้คำปรึกษาผ่านกลุ่มไลน์ ซึ่งจะทำให้การสนับสนุนให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ประสบความสำเร็จโดยมารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นานขึ้น1

เอกสารอ้างอิง

  1. Dowling S, Pontin D. Using liminality to understand mothers’ experiences of long-term breastfeeding: ‘Betwixt and between’, and ‘matter out of place’. Health (London) 2017;21:57-75.

ระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สัมพันธ์กับความฉลาดของทารก

img_2196

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ?แม่มักต้องการมีลูกที่ฉลาด ซึ่งพื้นฐานของความฉลาดเบื้องต้นก็มาจากอาหารที่ทารกรับประทาน และอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารกแรกเกิดก็คือ นมแม่ ที่มีสารอาหารครบถ้วน โดยเฉพาะกรดไขมันต่าง ๆ ที่จำเป็นในการพัฒนาของสมอง มีการศึกษาพบว่าระยะเวลาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สัมพันธ์กับไอคิวของทารกที่สูงขึ้น เช่นเดียวกันกับการพบว่ากรดไขมันที่มีอยู่ในนมแม่สัมพันธ์กับไอคิวที่เพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม แนวโน้มของระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดูเหมือนจะมีผลมากกว่า1 แต่ในสภาพความเป็นจริงในมารดาที่เอาใจใส่ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และให้ลูกกินนมแม่นาน มักจะรับประทานอาหารที่บำรุงตนเองอยู่แล้ว การให้นมแม่จึงมักมาร่วมกับสารอาหารที่ครบถ้วนและเสริมสร้างการบำรุงสมอง นอกจากนี้ ในนมแม่มีภูมิคุ้มกันที่ช่วยให้ลูกเจ็บป่วยน้อยและมีความแข็งแรง จึงต้องนำเสนอว่า มารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่นาน จะช่วยให้ลูกฉลาดและมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงมากกว่ามารดาที่ไม่ได้ให้ลูกกินนมแม่ และแม่ที่ต้องการให้ลูกฉลาดก็ควรให้ลูกกินนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Bernard JY, Armand M, Peyre H, et al. Breastfeeding, Polyunsaturated Fatty Acid Levels in Colostrum and Child Intelligence Quotient at Age 5-6 Years. J Pediatr 2017.

นมแม่ช่วยลดการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านม

IMG_3491

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ?การที่มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านม นอกจากนี้ในมารดาที่เป็นมะเร็งเต้านม ประวัติการเคยเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะช่วยลดการเสียชีวิตของมารดาได้ อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาพบว่า ประวัติการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะช่วยลดการเสียชีวิตของมารดาในมารดาที่มีจำนวนบุตรน้อยและมีดัชนีมวลกายอยู่ในเกณฑ์ปกติ1 สำหรับมารดาที่มีดัชนีมวลกายสูง น้ำหนักเกิน ประวัติการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อาจไม่ช่วยลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตของมารดา มารดาจึงควรมีการดูแลสุขภาพ ออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนัก เพื่อร่วมช่วยป้องกันอันตรายจากมะเร็งเต้านมด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Connor AE, Visvanathan K, Baumgartner KB, et al. Pre-diagnostic breastfeeding, adiposity, and mortality among parous Hispanic and non-Hispanic white women with invasive breast cancer: the Breast Cancer Health Disparities Study. Breast Cancer Res Treat 2017;161:321-31.

นมแม่ช่วยป้องกันการอับเสบของหูชั้นกลางในช่วงเด็กเล็ก

IMG_3464

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ?การกินนมแม่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีแก่ทารก ซึ่งจะช่วยป้องกันการติดเชื้อในทางเดินอาหาร การติดเชื้อในทางเดินหายใจ และการอักเสบจากการติดเชื้อในหูชั้นกลาง โดยผลของการป้องกันการติดเชื้อน่าจะส่งผลในระยะยาว อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาในเรื่องการป้องกันการอักเสบของหูชั้นกลางเพื่อศึกษาผลของการกินนมแม่ในระยะยาว พบว่า การกินนมแม่ช่วยป้องกันการอักเสบของหูชั้นกลางในช่วงเด็กเล็ก เมื่อถึงวัยเข้าเรียนไม่พบผลของการช่วยป้องกันการอักเสบของหูชั้นกลาง1 ดังนั้นผลการป้องกันการอักเสบของหูชั้นกลางน่าจะเด่นในการป้องกันการอักเสบของหูชั้นกลางเด่นในช่วงก่อนวัยเรียน หลังจากนั้น ปัจจัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อมน่าจะส่งผลต่อการอักเสบของหูชั้นกลางเพิ่มขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Brennan-Jones CG, Eikelboom RH, Jacques A, et al. Protective benefit of predominant breastfeeding against otitis media may be limited to early childhood: results from a prospective birth cohort study. Clin Otolaryngol 2017;42:29-37.

การให้นมแม่นานช่วยป้องกันลูกมีสมาธิสั้นหรือมีอาการออทิสติก

IMG_3492

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? การให้ลูกได้กินนมแม่นานพบว่ามีความสัมพันธ์กับความเฉลียวฉลาดของทารกที่พบเพิ่มขึ้น ซึ่งมีการศึกษาโดยการวัดความเฉลียวฉลาดในกลุ่มทารกปกติที่เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว แต่มีการศึกษาเพิ่มเติมในกลุ่มทารกที่มีปัญหาทางพฤติกรรม ได้แก่ สมาธิสั้น และกลุ่มที่มีอาการของออทิสติก (autistic? trait) พบว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในช่วงระยะเวลาที่นานกว่า จะช่วยเรื่องความเฉลียวฉลาดของทารกและป้องกันหรือช่วยลดปัญหาการเกิดสมาธิสั้นและอาการออทิสติกได้1 ซึ่งประโยชน์เหล่านี้ น่าจะเป็นจากกระบวนการในการให้ลูกได้กินนมแม่นั้น มีการกระตุ้นพัฒนาการทางการสัมผัส จากการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ การกระตุ้นความสนใจทารก การพูดคุยหยอกล้อระหว่างมารดาและทารก สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นรากฐานที่ช่วยในความเฉลียวฉลาดของทารกและช่วยป้องกันพฤติกรรมที่ผิดปกติที่พบในทารกที่ปัจจุบันพบมากขึ้นทั้งสมาธิสั้นและออทิสติกได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Boucher O, Julvez J, Guxens M, et al. Association between breastfeeding duration and cognitive development, autistic traits and ADHD symptoms: a multicenter study in Spain. Pediatr Res 2017.