คลังเก็บหมวดหมู่: คำถามที่พบบ่อย

คำถามที่พบบ่อย

ประสบการณ์ของมารดาที่มีลูกที่มีภาวะลิ้นติด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ภาวะลิ้นติดเป็นปัญหาที่พบบ่อยที่ทำให้มารดาเจ็บหัวนม โดยหากขาดการให้คำปรึกษาและการดูแลที่เหมาะสม อาจทำให้มารดาหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร ในประเทศไทยพบทารกมีภาวะลิ้นติดราวร้อยละ 151 ซึ่งประมาณครึ่งหนึ่งของทารกที่มีภาวะลิ้นติดมักมีความจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดรักษา มีการสำรวจความคิดเห็นถึงประสบการณ์ของมารดาที่มีภาวะลิ้นติดพบว่า ประมาณร้อยละ 25 ของมารดาที่มีลูกที่มีภาวะลิ้นติดมีความตั้งใจจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่พบว่ามีปัญหาในการเข้าเต้าลำบาก นอกจากนี้ ยังพบได้บ่อยว่า มารดายังมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการเอาใจใส่ในการตรวจภาวะลิ้นติดของทารกที่บุคลากรทางการแพทย์มักมองข้ามหรือพลาดในการให้การตรวจวินิจฉัย2 ซึ่งปรากฎการณ์นี้ น่าจะเหมือนกับในประเทศไทย เนื่องจากยังขาดผู้ที่รับผิดชอบที่ชัดเจนในการให้การตรวจวินิจฉัย ให้คำปรึกษา และดูแลรักษาปัญหาลิ้นติด ดังนั้น การริเริ่มกำหนดแนวทางการให้การตรวจวินิจฉัยและรักษาภาวะลิ้นติดจากสถาบันการแพทย์ เช่น ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ รวมทั้งมูลนิธิศูนย์นมแม่จำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทในการรณรงค์ ส่งเสริม และดำเนินการให้เกิดแนวทางในการปฏิบัติสำหรับทารกที่มีภาวะลิ้นติด เพื่อส่งเสริมมาตรฐานการให้บริการที่ดีและสนับสนุนให้ทารกมีโอกาสได้รับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สูงขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Puapornpong P, Paritakul P, Suksamarnwong M, Srisuwan S, Ketsuwan S. Nipple Pain Incidence, the Predisposing Factors, the Recovery Period After Care Management, and the Exclusive Breastfeeding Outcome. Breastfeed Med 2017;12:169-73.
  2. Wong K, Patel P, Cohen MB, Levi JR. Breastfeeding Infants with Ankyloglossia: Insight into Mothers’ Experiences. Breastfeed Med 2017;12:86-90.

 

มุมมองต่อการให้นมแม่ในที่สาธารณะ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ?ปัจจุบันในที่สาธารณะเริ่มมีการจัดมุมนมแม่สำหรับมารดาที่มีบุตรและต้องให้นมแม่เมื่อออกมานอกบ้านในที่สาธารณะ แต่มุมมองต่อเรื่องการให้นมแม่ในที่สาธารณะมีมุมมองที่แตกต่างกัน มุมมองหนึ่งมองว่าเรื่องการให้นมแม่ในที่สาธารณะเป็นเรื่องน่าอาย และผิดจารีตทางสังคม ต้องมีที่ส่วนตัวหรือควรให้นมแม่อยู่กับบ้าน กับอีกมุมมองหนึ่งมองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ และยอมรับได้กับการให้นมแม่ในที่สาธารณะ ไม่ผิดศีลธรรม สตรีควรได้รับการยอมรับกับการที่ต้องออกนอกบ้าน ไปทำงานและมีสิทธิในการให้นมแม่ แม้ไม่มีมุมนมแม่ก็ตาม ในประเทศไทยยังขาดข้อมูลความเห็นของคนในสังคมในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่มีการศึกษาโดยการทำแบบสำรวจออนไลน์ในประเทศจีน โดยมีผู้ตอบแบบสำรวจ 2021 คน พบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจร้อยละ 95 เห็นด้วยว่าสถานที่สาธารณะควรมีมุมนมแม่ โดยสตรีที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการมีบุตรหรือเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และสตรีที่มีความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะมีทัศนคติที่ดีหรือยอมรับในการให้นมแม่ในที่สาธารณะ แต่มีผู้ตอบแบบสำรวจร้อยละ 47 เห็นว่าการให้นมแม่ในที่สาธารณะเป็นเรื่องน่าอับอาย1 อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าตัวเลขของผู้ที่มองว่าการให้นมแม่ในที่สาธารณะเป็นเรื่องน่าอายพบน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งหมด ทั้ง ๆ ที่ในประเทศจีนเป็นสังคมที่ค่อนข้างยึดถือจารีตธรรมเนียมโบราณ นี่อาจแสดงให้เห็นว่า คนในสังคมน่าจะเริ่มยอมรับการให้นมแม่ในที่สาธารณะเพิ่มขึ้น รวมทั้งในประเทศไทยก็น่าจะมีแนวโน้มของมุมมองหรือแนวคิดไปในทิศทางเดียวกัน

เอกสารอ้างอิง

  1. Zhao Y, Ouyang YQ, Redding SR. Attitudes of Chinese Adults to Breastfeeding in Public: A Web-Based Survey. Breastfeed Med 2017;12:316-21.

 

อกอุ่นของมารดา สถานที่ที่ปลอดภัยในชั่วโมงศักดิ์สิทธิ์

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ในกระบวนการของการคลอด ทารกที่อยู่ในครรภ์ เดิมจะได้รับการปกป้องจากมดลูก มีความอบอุ่น ปลอดภัย มีอาหารที่ได้รับผ่านทางสายสะดือ รวมทั้งอยู่ใกล้หัวใจของมารดาที่มีจังหวะการเต้นที่เป็นเสมือนเพลงที่กล่อมทารกให้ทารกสงบขณะอยู่ในครรภ์ แต่เมื่อทารกคลอดออกมาแล้ว ทารกควรอยู่ที่ไหน อยู่ในรถที่เป็นเปลนอนสำหรับเด็กหรือจะเป็นตู้หรือเครื่องมือที่ให้ความอบอุ่น คำตอบที่ถูกต้องที่ทุกคนควรรับทราบคือ บนอกอุ่น ๆ ของมารดาที่จะให้ทั้งความอบอุ่น ความปลอดภัย สายสัมพันธ์ระหว่างมารดาและทารก อาหารจากนมแม่ รวมทั้งเพลงกล่อมจากการเต้นของหัวใจที่ทารกได้ยินบนอกแม่ การปรับตัวของทารกกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปก็จะค่อยเป็นค่อยไป เพราะทารกยังมีสิ่งแวดล้อมที่ตอบสนองต่อความต้องการพื้นฐานที่ใกล้เคียงกับขณะอยู่ในครรภ์ ซึ่งจะทำให้ทารกปรับตัวได้ดี อันจะเป็นก้าวแรกสู่การพัฒนาการและการเจริญเติบโตที่ดีด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Phillips R. The sacred hour: uninterrupted skin-to-skin contact immediately after birth. Newborn & Infant Nursing Reviews 2013,13:67-72.

 

 

 

ความฝังใจแรกของทารกในชั่วโมงศักดิ์สิทธิ์

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? อิทธิพลของความฝังใจแรกเกิดหรือความประทับใจแรกพบเป็นสิ่งที่ได้รับการพิสูจน์ว่ามีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตที่จะเจริญเติบโตในอนาคต เช่น ลูกเป็ดที่ฟักออกมาจากไข่ สำหรับทารกนั้น แม้ว่าการยืนยันถึงการจดจำช่วงชีวิตที่อยู่ในครรภ์และผ่านการคลอดมานั้น ยังขาดข้อพิสูจน์ที่ชัดเจน แต่มีบางรายงานการศึกษา พบว่าทารกบางคน เมื่อเติบโตขึ้น อายุ 3-5 ปี เมื่อได้รับการสะกดจิต สามารถเล่าถึงกระบวนการในการคลอดได้อย่างถูกต้อง สิ่งนี้แสดงว่า ประสบการณ์ในการคลอดของทารก แม้ทารกเมื่อโตขึ้นแล้วจำไม่ได้ แต่ประสบการณ์ที่ได้รับในขณะเกิดหรือหลังคลอดใหม่ ๆ จะฝังอยู่ในส่วนลึกของจิตใจของทารกนั้นไปตลอดชีวิต ซึ่งประสบการณ์ในช่วงแรกคลอด ทารกบางคนอาจพบกับความตื่นกลัว การโดดเดี่ยวที่ต้องออกมาจากการอยู่ในครรภ์ใกล้ชิดมารดาที่อบอุ่นและปลอดภัย ในขณะที่เมื่อทารกคลอดออกมาหากผู้ที่ดูแลการคลอดหรือครอบครัวขาดการให้เกียรติ การให้ความเคารพ และการยอมรับให้ชั่วโมงแรกนั้นเป็นชั่วโมงของทารกที่จะผ่านกระบวนการการปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมภายนอก ทุกวัฒนธรรมมักให้ความสำคัญกับการแต่งงาน รวมทั้งการเกิด โดยในระหว่างพิธีการแต่งงานที่เป็นการหลอมรวมคนสองเข้าเป็นหนึ่งเดียว จะให้ความเคารพและไม่ทำสิ่งใดที่เป็นการรบกวนในระหว่างพิธีกรรม การเกิดก็เช่นกัน การให้การต้อนรับสมาชิกใหม่ ควรให้ความเคารพและให้เวลาทารกได้ปรับตัวโดยปราศจากสิ่งใด ๆ ที่รบกวน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ จะช่วยสร้างความฝังใจแรกเกิดที่ดีของทารกที่จะส่งผลต่อชีวิตของเขาเมื่อเจริญเติบโตขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Phillips R. The sacred hour: uninterrupted skin-to-skin contact immediately after birth. Newborn & Infant Nursing Reviews 2013,13:67-72.

 

 

ชั่วโมงศักดิ์สิทธิ์สำหรับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ในชั่วโมงแรกหลังการเกิด ถือเป็นชั่วโมงที่มีความศักดิ์สิทธิ์ที่บุคลากรทางการแพทย์และครอบครัวควรให้ความเคารพในกระบวนการตามธรรมชาติที่จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการและความสามารถในการปรับตัวของทารกกับสิ่งแวดล้อมใหม่ พฤติกรรมของทารกจะมีการเปลี่ยนแปลงตามกระบวนการ 9 ขั้นตอน ได้แก่ ร้องไห้ ผ่อนคลาย ตื่นตัว ขยับ พัก คืบคลาน คุ้นเคย ดูดนมและหลับ ซึ่งกว่าทารกจะเริ่มการดูดนมต้องใช้เวลาราว 1 ชั่วโมงหลังคลอด ดังนั้น ทางการแพทย์จึงแนะนำให้ให้ความสำคัญของกระบวนการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อบนอกแม่ ที่ไม่ควรมีสิ่งใดมารับกวนสัมผัสรักของมารดาที่ส่งเสริมความสัมพันธ์และพัฒนาการให้กับบุตร กระบวนการทางการแพทย์ใด ๆ ที่มีความสำคัญน้อยกว่า และรอได้ ควรละเว้นหรือรอให้ทารกได้ดื่มด่ำคุ้นเคยกับเต้านมและหัวนมของมารดาที่จะนำพาสู่น้ำนมหยดแรกและเป็นก้าวแรกที่เป็นก้าวที่สำคัญในการส่งเสริมให้ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Phillips R. The sacred hour: uninterrupted skin-to-skin contact immediately after birth. Newborn & Infant Nursing Reviews 2013,13:67-72.