คลังเก็บหมวดหมู่: คำถามที่พบบ่อย

คำถามที่พบบ่อย

ปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมการคงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาวัยรุ่น

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ปัญหามารดาวัยรุ่นเป็นปัญหาที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นในประเทศไทยและทั่วโลก ซึ่งปัญหาที่พบมีทั้งปัญหาในระหว่างการตั้งครรภ์และการคลอดที่มีโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนทางการแพทย์สูงขึ้น ได้แก่ การคลอดก่อนกำหนด การคลอดทารกน้ำหนักตัวน้อย นอกจากนี้ยังอาจพบปัญหาทางด้านอื่น ๆ จากความไม่พร้อมของมารดาวัยรุ่นได้ ได้แก่ การตั้งครรภ์โดยขาดการวางแผน การตั้งครรภ์ที่ไม่ต้องการ การขาดการฝากครรภ์และดูแลครรภ์ที่เหมาะสม การใช้ยาหรือสารเสพติด การทอดทิ้งทารก ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาใหญ่ที่กำลังมีการเพิ่มขนาดของปัญหาขึ้นเรื่อย ๆ รวมไปถึงปัญหาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ความไม่พร้อมและขาดการฝากครรภ์หรือการให้ความรู้ในระหว่างฝากครรภ์และคลอดที่เหมาะสมจะมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การที่จะสนับสนุนให้มารดาวัยรุ่นเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้นาน 1-2 ปีนั้น มีการศึกษาถึงปัจจัยที่จะช่วยในเรื่องนี้ พบว่า การให้ความรู้อย่างเหมาะสมและการให้การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นเป็นปัจจัยที่จะส่งเสริมการคงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ ดังนั้น การให้ความสำคัญกับการให้ความรู้และสื่อที่จะช่วยให้มารดาเข้าใจถึงความสำคัญและความจำเป็นของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ร่วมกับการติดตามให้การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่อง1 จะช่วยคงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ยาวนานตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Muelbert M, Giugliani ERJ. Factors associated with the maintenance of breastfeeding for 6, 12, and 24 months in adolescent mothers. BMC Public Health 2018;18:675.

 

 

 

การสูบบุหรี่ของครอบครัวมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                แม้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะมีผลดีต่อการสูบบุหรี่ของครอบครัวโดยลดการสูบบุหรี่ของคนในครอบครัวลดได้ แต่ในทางกลับกัน การสูบบุหรี่ของคนในครอบครัวมีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีการศึกษาพบว่า หากสมาชิกในครอบครัวสูบบุหรี่มากกว่าสองคนขึ้นไปจะเพิ่มความเสี่ยงที่มารดาจะหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควรราวร้อยละ 301 ดังนั้น การให้คำปรึกษาแก่มารดาควรครอบคลุมถึงบุคคลที่อยู่ในครอบครัวที่มีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย เพื่อให้มารดาและคนในครอบครัวมีความเข้าใจ ได้ประโยชน์จากการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ขณะเดียวกันก็ลดผลเสียจากการสูบบุหรี่ให้มีน้อยที่สุด

เอกสารอ้างอิง

  1. Lok KYW, Wang MP, Chan VHS, Tarrant M. Effect of Secondary Cigarette Smoke from Household Members on Breastfeeding Duration: A Prospective Cohort Study. Breastfeed Med 2018;13:412-7.

แนวทางการตรวจสอบเวชระเบียนตามเกณฑ์ สปสช

แนวทางการตรวจสอบเวชระเบียนตามเกณฑ์ สปสช-1

แนวทางการตรวจสอบเวชระเบียนตามเกณฑ์ สปสช-2

แนวทางการตรวจสอบเวชระเบียนตามเกณฑ์ สปสช-3

ครรภ์แฝดมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            ครรภ์แฝดถือว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนอย่างหนึ่งที่มีผลทำให้การตั้งครรภ์และการคลอดมีความเสี่ยงสูง เพราะมีความเสี่ยงที่จะเกิดการคลอดก่อนกำหนด ทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อย และโอกาสที่ต้องย้ายทารกเข้าหอทารกป่วยวิกฤตสูง ดังนั้นจึงเป็นผลให้การเริ่มการให้นมลูกทำได้ช้ากว่าทารกที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน และทำให้ความเสี่ยงที่จะหยุดให้นมแม่ก่อนเวลาอันควรสูงกว่า มีการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในครรภ์แฝดพบว่า ความยากลำบากในการให้นมลูก การขาดการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเหมาะสมในช่วงให้นมบุตร การที่ทารกมีน้ำหนักน้อยกว่า 2300 กรัม และประวัติการให้นมลูกในครรภ์ก่อนที่น้อยกว่า 12 เดือน1 ดังนั้น ครรภ์แฝดจึงถือเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งของการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควรที่บุคลากรทางการแพทย์ควรใส่ใจและควรให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด

เอกสารอ้างอิง

  1. Mikami FCF, Francisco RPV, Rodrigues A, Hernandez WR, Zugaib M, de Lourdes Brizot M. Breastfeeding Twins: Factors Related to Weaning. J Hum Lact 2018:890334418767382.