คลังเก็บหมวดหมู่: คำถามที่พบบ่อย

คำถามที่พบบ่อย

การหลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวดในระหว่างการคลอดช่วยเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            การเจ็บครรภ์คลอดเป็นสิ่งที่สร้างความกลัวและวิตกกังวลให้แก่มารดาโดยเฉพาะในมารดาครรภ์แรก เนื่องจากการรับรู้หรือการได้รับการบอกเล่าเกี่ยวกับความรุนแรงของการเจ็บครรภ์และความทรมานที่มารดาอาจได้รับจากการเจ็บครรภ์ก่อนที่จะเกิดการคลอดมีมานานและมีการบอกต่อกันในสังคมจนเกิดเป็นความเชื่อ แม้ในปัจจุบันจะมีวิธีการลดความเจ็บปวดในระหว่างการเจ็บครรภ์คลอดหลากหลายวิธี ได้แก่ การให้ยาแก้ปวด การใช้ยาระงับความรู้สึกฉีดเข้าบริเวณไขสันหลัง การนวดบริเวณหลัง การสร้างความผ่อนคลายให้แก่มารดาโดยการฟังเพลง การใช้กลิ่นหรือการเต้นเพื่อการผ่อนคลาย การคลอดในน้ำ และการฝังเข็ม อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาพบว่า การที่มารดาได้รับยาแก้ปวดหรือการใช้ยาระงับความรู้สึกเข้าไขสันหลังมีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว โดยหากหลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวดในระหว่างการเจ็บครรภ์คลอดจะเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวที่สามเดือนหลังคลอดราว 2 เท่าได้1 บุคลากรทางการแพทย์ควรสร้างความเข้าใจให้กับมารดาให้รับรู้ถึงข้อมูลเหล่านี้ แต่ก็ไม่ควรลืมหรือละเลยที่จะอธิบายถึงทางเลือกในการลดความเจ็บปวดระหว่างการคลอดให้กับมารดาเพื่อสร้างความเข้าใจ เนื่องจากหากมารดามีความวิตกกังวลหรือความเครียดในระหว่างการคลอดมากย่อมเกิดผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เช่นกัน

เอกสารอ้างอิง

  1. O’Connor M, Allen J, Kelly J, Gao Y, Kildea S. Predictors of breastfeeding exclusivity and duration in a hospital without Baby Friendly Hospital Initiative accreditation: A prospective cohort study. Women Birth 2018;31:319-24.

ทักษะในการดูแลการคลอดมีผลต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น การเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นับเป็นจุดที่ควรให้ความสำคัญ เพราะหากมารดาสามารถเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ภายใน 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอดจะมีผลดีต่อระยะเวลาและอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เมื่อมาวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่มีผลต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ พบว่า นโยบายของสถานพยาบาลและการให้การดูแลระหว่างการคลอดที่เหมาะสมจะช่วยสนับสนุนให้เกิดการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เร็ว โดยในสถานพยาบาลที่มีนโยบายส่งเสริมสายสัมพันธ์แม่ลูก จะมีนโยบายที่เอื้อต่อให้มารดาและบุคลากรสามารถจะบรรลุความตั้งใจและประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดกระบวนการการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นอกจากนี้ทักษะในการดูแลมารดาและทารกในระหว่างการคลอดก็มีความสำคัญเช่นกัน1 เพราะหากบุคลากรมีทักษะที่ดี ก็จะทำให้การเริ่มต้นการให้นมลูกประสบความสำเร็จและปราศจากอุปสรรคที่ขาดขวางการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Oakley L, Benova L, Macleod D, Lynch CA, Campbell OMR. Early breastfeeding practices: Descriptive analysis of recent Demographic and Health Surveys. Matern Child Nutr 2018;14:e12535.

วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัชบ้ากับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่มีความรุนแรงและก่อให้เกิดการเสียชีวิตได้ ในขณะที่สังคมไทย การควบคุม ดูแล จำกัดโรคพิษสุนัขบ้ายังกระทำได้โดนลำบาก เนื่องจากมีการขาดการดูแลสุนัขจรจัดและยังการให้อาหารโดยไม่มีการรับผิดชอบในการเป็นเจ้าของ ดังนั้น จะเห็นว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าในแต่ละปียังมีจำนวนที่สม่ำเสมอ ขณะที่บางปีมีจำนวนเพิ่มขึ้น การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังจากการถูกกัดหรือได้รับบาดแผลจึงเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติในการป้องกันการติดเชื้อ อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ผู้ที่ถูกกัดตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรอยู่ จะเกิดความวิตกกังวลว่าจะมีผลเสียต่อทารกหรือไม่ ซึ่งอาจส่งผลทำให้เกิดการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ มีการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังการถูกกัดในมารดาที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตรในเวียดนามในปี 2558 พบมารดาที่ตั้งครรภ์จำนวน 4 ราย และมารดาที่ให้นมบุตรจำนวน 2 รายได้รับการให้ยาป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า แต่ทั้งหมดเสียชีวิต โดยเชื่อว่าการลังเลหรือล่าช้าในการรักษาน่าจะเป็นสาเหตุทำให้มารดาที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรเสียชีวิต ดังนั้น การให้ยาป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในมารดาที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตรยังเป็นข้อแนะนำ แต่เนื่องจากหลักฐานข้อมูลที่มียังมีความจำกัด การติดตามเก็บข้อมูลที่เพียงพอเพื่อให้ได้ข้อสรุปยังมีความจำเป็นในอนาคต

1เอกสารอ้างอิง

  1. Nguyen HTT, Tran CH, Dang AD, et al. Rabies Vaccine Hesitancy and Deaths Among Pregnant and Breastfeeding Women – Vietnam, 2015-2016. MMWR Morb Mortal Wkly Rep 2018;67:250-2.

 

 

 

ความตั้งใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดลงจากก่อนคลอดถึงหลังคลอด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า มารดาที่มีความตั้งใจจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะมีระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ยาวนานกว่ามารดาที่ขาดความตั้งใจ แต่การที่มารดาจะมีความตั้งใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น มักเกิดขึ้นด้วยปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่ ประสบการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยอาจผ่านการเห็นหรือได้มีประสบการณ์จริง ทัศนคติที่ดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยคิดว่านมแม่เป็นสารอาหารที่ดีที่สุดที่เหมาะสมสำหรับทารกและเป็นสิ่งที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมาเพื่อให้เหมาะในการเจริญเติบโตและสุขภาพที่ดีของทารก การได้รับการอบรมหรือให้ความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ ความสำคัญและความจำเป็นในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นอกจากนี้ กระแสสังคมยังมีส่วนในการผลักดันให้มารดามีความตั้งใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หากสังคมนั้นเป็นสังคมที่มีค่านิยมของนมแม่ อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาพบว่า ความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาในระยะตั้งครรภ์จะลดลงเมื่อสอบถามมารดาอีกครั้งในระยะหลังคลอด โดยพบว่ามารดาในระยะหลังคลอดมีความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดลงจากก่อนคลอดเหลือราว 1 ใน 31 สิ่งนี้สะท้อนว่า เมื่อมารดาคลอดแล้ว อาจพบภาวะต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อร่างกายและจิตใจของมารดา ได้แก่ การปวดแผล การปวดจากการหดรัดตัวของมดลูก การเจ็บเต้านม การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ การขาดใส่ใจหรือให้การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของคนในครอบครัว ดังนั้น การลดปัญหาหรืออุปสรรคที่คาดว่าจะเป็นสาเหตุที่จะลดความตั้งใจของมารดาที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็เป็นสิ่งที่น่าจะช่วยสนับสนุนให้มารดาประสบความสำเร็จในคงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Nelson JM, Li R, Perrine CG, Scanlon KS. Changes in mothers’ intended duration of breastfeeding from the prenatal to neonatal periods. Birth 2018;45:178-83.