คลังเก็บหมวดหมู่: คำถามที่พบบ่อย

คำถามที่พบบ่อย

การรักษาฝีที่เต้านมโดยการใช้เข็มเจาะดูดหนองออก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            การรักษาฝีที่เต้านมนั้น แต่ดั้งเดิมใช้การผ่าตัดเปิดแผลและระบายน้ำหนองออกมา พร้อมกับการใช้ยาปฏิชีวนะที่ครอบคลุมเชื้อช่วยในการรักษาร่วมกัน แต่ในปัจจุบัน มีการแนะนำการใช้การเจาะดูดหนองออกเพื่อการระบายหนองร่วมกับการใช้ยาปฏิชีวนะที่ครอบคลุมเชื้อในการรักษา ซึ่งมีการวิจัยพบว่า การรักษาโดยใช้การเจาะดูดหนองออกร่วมกับการใช้ยาปฏิชีวนะได้ผลดีกว่าการผ่าตัดระบายหนองออกร่วมกับการใช้ยาปฏิชีวนะ1 เนื่องจากการใช้การเจาะดูดหนองออกจะมีการรบกวนหรือทำลายท่อน้ำนมของมารดาหลังการรักษาน้อยกว่า มารดาเจ็บปวดจากการรักษาน้อยกว่า สามารถให้การรักษาโดยใช้ยาชาเฉพาะที่ ขณะที่การผ่าตัดเพื่อระบายหนองอาจต้องอาการการดมยาสลบ และระยะเวลาในการฟื้นตัวหรือหายจากการรักษาสั้นกว่า ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ควรเลือกใช้การเจาะดูดหนองในการรักษาฝีที่เต้านมก่อนเป็นทางเลือกแรก โดยอาจเจาะดูดโดยใช้เครื่องคลื่นเสียงความถี่สูงในการนำทางร่วมกับการใช้ยาปฏิชีวนะที่ครอบคลุมเชื้อ ซึ่งเป็นทางเลือกที่สามารถทำได้2

เอกสารอ้างอิง

  1. Naeem M, Rahimnajjad MK, Rahimnajjad NA, Ahmed QJ, Fazel PA, Owais M. Comparison of incision and drainage against needle aspiration for the treatment of breast abscess. Am Surg 2012;78:1224-7.
  2. Elagili F, Abdullah N, Fong L, Pei T. Aspiration of breast abscess under ultrasound guidance: outcome obtained and factors affecting success. Asian J Surg 2007;30:40-4.

การให้ลูกกินนมแม่ ประโยชน์นอกเหนือจากน้ำนม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            นมแม่ นับเป็นอาหารที่เหมาะสมและทรงคุณค่าที่ควรแก่การให้กับทารก สารอาหารและภูมิคุ้มกันที่จะช่วยปกป้องทารกจากการติดเชื้อและช่วยลดการเสียชีวิตของทารกก็ได้รับจากน้ำนมแม่ แต่นอกเหนือจากนั้น สิ่งที่มีคุณค่าและช่วยในการพัฒนาการของทารกยังได้จากกระบวนการการให้นมแม่ด้วย ตั้งแต่การเริ่มต้นการให้นมลูก หากมีการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อจะช่วยกระตุ้นพัฒนาการของระบบประสาทของทารก ช่วยป้องกันทารกเกิดภาวะตัวเย็น น้ำตาลในเลือดต่ำ ช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกโดยเกิดกระบวนการฝังใจที่จะช่วยป้องกันการทอดทิ้งทารก และขณะที่มารดาให้นมลูก หากมีการสบตา พูดจา หรือสื่อสารกับทารก สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้พัฒนาการทางการสื่อสารของทารก ดังนั้น ต้องขอบอกว่า “การให้ลูกได้กินนมแม่จากเต้านมนั้น มีคุณค่ามากกว่าเพียงแค่ได้ประโยชน์จากน้ำนม”1

เอกสารอ้างอิง

  1. Pecoraro L, Agostoni C, Pepaj O, Pietrobelli A. Behind human milk and breastfeeding: not only food. Int J Food Sci Nutr 2018;69:641-6.

การให้ลูกกินนมแม่ลดการติดอาหารหวานในทารก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            ปัจจุบันโรคอ้วนเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยทั้งในวัยเด็กและวัยผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นบ่อกำเนิดของโรคเรื้อรังที่หลากหลาย ได้แก่ เบาหวานและความดันโลหิตสูง การสร้างลักษณะการกินอาหารที่เหมาะสมจะช่วยป้องกันการเกิดโรคเหล่านี้ได้ ซึ่งหนึ่งในแนวทางการป้องกันคือ การลดการกินอาหารหวาน มีการศึกษาพบว่า การให้ลูกกินนมแม่จะลดการกินอาหารหวานในทารกลงได้ร้อยละ 131 ดังนั้น หากจะสร้างให้บุคลากรของชาติมีสุขภาวะที่ดี การเริ่มต้นด้วยการให้ลูกกินนมแม่จะเป็นการวางรากฐานทางสุขภาพที่มีต้นทุนการลงทุนที่ต่ำที่จะสร้างความคุ้มค่าต่อผลในระยะยาวมากที่สุด

เอกสารอ้างอิง

  1. Passanha A, Benicio MHD, Venancio SI. Influence of Breastfeeding on Consumption of Sweetened Beverages or Foods. Rev Paul Pediatr 2018;36:148-54.

การให้ลูกกินนมแม่ป้องกันความดันโลหิตสูงของมารดา

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            ประโยชน์ของนมแม่ต่อทารกและมารดาเป็นที่ทราบโดยทั่วกัน โดยพบว่าประโยชน์ของการที่มารดาให้ลูกได้กินนมแม่ยังมีส่วนช่วยในเรื่องการป้องกันการเกิดเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง และโรคที่เกี่ยวข้องกับเมตาบอลิก ซึ่งการที่การให้ลูกกินนมแม่มีส่วนช่วยในเรื่องเหล่านี้น่าจะมีผลต่อการป้องกันการเกิดความดันโลหิตสูง มีการเริ่มการศึกษาถึงผลของการให้ลูกกินนมแม่ในการป้องกันการเกิดความดันโลหิตสูงในมารดาเมื่อย่างเข้าสู่ระยะวัยหลังหมดประจำเดือน พบว่า มารดาที่ให้ลูกกินนมหลายคนและยิ่งให้ลูกกินนมนานจะช่วยป้องกันการเกิดความดันโลหิตสูงได้ราวร้อยละ 50 เมื่อย่างเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน1 จะเห็นว่า แนวโน้มของการให้ลูกกินนมแม่จะช่วยป้องกันโรคในกลุ่มเมตาบอลิกในมารดา ซึ่งปัจจุบันพบเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตของคนในยุคที่มีค่าเฉลี่ยของอายุที่ยืนยาวนานขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Park S, Choi NK. Breastfeeding and Maternal Hypertension. Am J Hypertens 2018;31:615-21.

 

การสนับสนุนของเครือข่ายทางสังคมช่วยเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            ค่านิยม ความเชื่อและวัฒนธรรมเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มารดาและครอบครัวส่วนใหญ่จึงมักจะทำตามความเชื่อและค่านิยมที่มีอยู่ในสังคมนั้น ๆ อย่างไรก็ตาม เครือข่ายทางสังคม ได้แก่ องค์กรหรือสมาคมอิสระ กลุ่มมารดาอาสา อาสาสมัครสาธารณสุข และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชนที่มีบทบาทในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะมีส่วนช่วยมารดาและครอบครัวในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีการศึกษาที่พบว่า หากเครือข่ายทางสังคมมีการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวได้1 ดังนั้น การสร้างให้เกิดเครือข่ายทางสังคมที่มีความรู้และมีประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นแก่ระบบเครือข่ายทางสังคม จึงควรมีการสนับสนุนเพิ่มศักยภาพของเครือข่ายทางสังคมเพื่อช่วยให้การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีประสิทธิภาพที่ดี

เอกสารอ้างอิง

  1. Okafor AE, Agwu PC, Okoye UO, Uche OA, Oyeoku EK. Factors Associated with Exclusive Breastfeeding Practice among Nursing Mothers in rural areas of Enugu State and its Implications for Social Work Practice in Nigeria. Soc Work Public Health 2018;33:140-8.