คลังเก็บหมวดหมู่: คำถามที่พบบ่อย

คำถามที่พบบ่อย

ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และการหย่านมแม่คล้ายคลึงกัน

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

          ปัจจัยที่มีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นมีหลากหลายทั้งทางด้านปัจจัยทางชีวภาพ ปัจจัยทางด้านสังคม เศรษฐกิจ ค่านิยมและความเชื่อ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญและมีบทบาทที่ส่งผลต่ออัตราการเลี้ยงลูกด้านนมแม่ที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ที่ทำการศึกษา อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงปัจจัยที่มักพบเป็นหลักจะมีความคล้ายคลึงกัน โดยที่ปัจจัยเหล่านี้นอกจากจะมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แล้ว ยังมีผลต่อการหย่านมด้วย โดยมีการศึกษาพบว่าปัจจัยเหล่านี้ ได้แก่ อายุของมารดา ลำดับครรภ์ สถานะของการทำงาน และลักษณะของครอบครัว1 (ที่จะเป็นครอบครัวเดี่ยวหรือครอบครัวขยาย) และปัจจัยที่ได้รับการสนใจอีกปัจจัยหนึ่ง คือ การศึกษา ที่จะส่งผลต่อความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติของมารดาทั้งในด้านการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และการหย่านม ซึ่งในส่วนของความรู้นี้ครอบคลุมถึงบุคคลที่มีส่วนร่วมในการดูแลและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในครอบครัวด้วย ได้แก่ สามี ปู่ย่า ตายาย และญาติพี่น้อง ดังนั้น การวิเคราะห์ให้ละเอียดถึงขนาดของลำดับความสัมพันธ์ในแต่ละปัจจัย นำมาวิเคราะห์ เลือกกระบวนการสนับสนุนที่เหมาะสมในปัจจัยเพียงหนึ่งหรือสองปัจจัยที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลง รณรงค์อย่างต่อเนื่อง โดยมีการประเมินผลเป็นระยะๆ น่าจะส่งผลในการเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในภาพรวมได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Ahmed K, Talha M, Khalid Z, Khurshid M, Ishtiaq R. Breastfeeding and Weaning: Practices in Urban Slums of Southern Punjab, Pakistan. Cureus 2018;10.

 

การบันทึกวิดีโอการให้นมลูกในระยะแรกคลอดอาจเกิดประโยชน์

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                การที่บันทึกวิดีโอการให้นมลูกของมารดาครั้งแรกในระยะเริ่มแรกหลังคลอดมักจะสะท้อนอารมณ์ ความรู้สึก และบรรยากาศในการให้นมลูกไว้ และเมื่อนำมาเปิดให้มารดาที่คลอดดูจะทำให้มารดาเห็นภาพของตัวเองที่ให้นมลูก มองเห็นความรักและความผูกผัน ความอดทน ความทุ่มเทของมารดากับการให้นมลูก ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจจะเกิดประโยชน์ต่อการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เนื่องจากการได้รู้สึกถึงประสบการณ์ในการให้นมลูกจะสามารถกระตุ้นความรู้สึกของมารดา ช่วยให้มีการหลั่งฮอร์โมนออกซิโทซินที่เป็นฮอร์โมนแห่งความรักและสร้างความผูกพันกับทารก โดยยังไม่รวมถึงการนำมาทบทวนในกระบวนการสอนและฝึกทักษะการให้จัดท่าให้นมลูกของบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งควรจะมีการนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์โดยมีการศึกษาถึงความสัมพันธ์ของกระบวนการเหล่านี้ในรายละเอียดต่อไปในอนาคต1

เอกสารอ้างอิง

  1. Taylor AM, van Teijlingen E, Alexander J, Ryan KM. The therapeutic role of video diaries: A qualitative study involving breastfeeding mothers. Women Birth 2018.

 

 

การฝึกทักษะการบีบน้ำนมด้วยมือช่วยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

               หลังคลอดการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอดนับเป็นก้าวแรกที่ดีที่จะช่วยส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่สิ่งที่บุคลากรไม่ควรละเลยคือการเอาใจใส่ดูแลให้มารดาสามารถจัดท่าให้นมลูกให้ถูกต้อง ซึ่งจะช่วยลดปัญหาและภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดตามมาหลังจากการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และลดปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่จะทำให้มารดาหยุดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนระยะเวลาอันควร อย่างไรก็ตาม การฝึกและสอนทักษะให้มารดาสามารถบีบน้ำนมด้วยมือได้ ยังเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่บุคลากรควรจัดและเริ่มฝึกทักษะให้มารดาสามารถบีบน้ำนมด้วยมือได้ตั้งแต่อยู่ในโรงพยาบาลก่อนการได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน1 เพราะในระยะแรกการบีบน้ำนมด้วยมือในระยะแรกหลังคลอดจะได้น้ำนมออกมาจากเต้านมได้ดีกว่าการปั๊มนม และยังช่วยในกรณีที่มารดาต้องการเก็บรักษาน้ำนมไว้ให้ทารกในกรณีที่ต้องแยกจากกันหรือมารดาต้องกลับไปทำงาน การฝึกทักษะการบีบน้ำนมด้วยมือจึงถือเป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยสร้างโอกาสทำให้การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้มีความต่อเนื่อง สำเร็จ และบรรลุเป้าหมายตามที่องค์การอนามัยโลกตั้งไว้ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Steurer LM, Smith JR. Manual Expression of Breast Milk: A Strategy to Aid in Breastfeeding Success. J Perinat Neonatal Nurs 2018;32:102-3.

 

 

การให้โปรไบโอติกช่วยลดการเกิดเต้านมอักเสบได้

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

              เต้านมอักเสบหลังคลอดพบได้บ่อยในช่วงสองถึงสามสัปดาห์แรกหลังคลอด มีการศึกษาในเรื่องการใช้โปรไบโอติก (probiotic) ที่บรรจุ L. fermentum × 10⁹ CFU ขนาด 1 แคปซูลวันละหนึ่งครั้งเทียบกับการกินยาหลอกที่ลักษณะเหมือนกัน แล้วติดตามผลการเกิดอุบัติการณ์ของการเกิดเต้านมอักเสบในช่วง 16 สัปดาห์หลังคลอดพบว่า อุบัติการณ์ของเต้านมอักเสบที่พบในกลุ่มทดลองที่ได้รับยาหลอกลดลงร้อยละ 51 เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก1,2 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการกินโปรไบโอติกจะมีโอกาสที่จะลดความเสี่ยงของอุบัติการณ์การเกิดเต้านมอักเสบ แต่ความคุ้มค่าของการใช้โปรไบโอติกนั้นขึ้นอยู่กับความถี่ของอุบัติการณ์ของเต้านมอับเสบว่าพบบ่อยมากหรือไม่ และหากมารดาทราบและป้องกันปัจจัยที่เป็นความเสี่ยงของการเกิดเต้านมอักเสบ เช่น การจัดท่าให้นมลูกที่เหมาะสมหรือปัจจัยเสี่ยงซึ่งจะลดการเจ็บหัวนมและการเกิดหัวนมแตกด้วยจะยิ่งลดและป้องกันการเกิดอุบัติการณ์ของเต้านมอักเสบได้ดีขึ้นอีก ดังนั้นความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ทางการแพทย์ยังต้องรอการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมต่อไป

เอกสารอ้างอิง

  1. Hurtado JA, Fonolla J. Response to Paricio-Talayero and Baeza re: “Oral Administration to Nursing Women of Lactobacillus fermentum CECT5716 Prevents Lactational Mastitis Development: A Randomized Controlled Trial”. Breastfeed Med 2018;13:454-6.
  2. Paricio-Talayero JM, Baeza C. Re: “Oral Administration to Nursing Women of Lactobacillus fermentum CECT5716 Prevents Lactational Mastitis Development: A Randomized Controlled Trial” by Hurtado et al. (Breastfeed Med 2017;12:202-209). Breastfeed Med 2018;13:453-4.

ความสำคัญของการใช้ภาษาสื่อสารเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

              การให้ลูกกินนมแม่นั้นต้องถือว่าสิ่งสามัญธรรมดารวมทั้งทางการแพทย์ถือเป็นความปกติทางสรีรวิทยา (physiologically normal) ดังนั้น เมื่อทารกคลอดออกมา มแม่ควรเป็นสิ่งแรกที่เป็นอาหารมาตรฐานสำหรับทารกแรกเกิด และควรปลูกฝังว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่ควรถูกใช้ในภาษาสื่อสารที่เป็นทางเลือกที่ต้องเลือกเมื่อทารกเกิด หรือไม่ควรถูกใช้คำว่าเป็นวิธีที่ใช้ทดสอบ (intervention) ในการสื่อสารจากบทความวิจัย1 เพราะการให้ลูกกินนมแม่ถือเป็นวิธีควบคุม (control) หรือวิธีมาตรฐานที่ใช้เปรียบเทียบ (gold standard) เนื่องจากอาจสื่อความหมายผิด ๆ ให้แก่มารดาและครอบครัว อย่างไรก็ตาม ธรรมเนียมและค่านิยมที่ถือปฏิบัติสืบมาในแต่ละสังคมรวมทั้งอิทธิพลของค่านิยมการให้ทารกแรกเกิดกินนมผงดัดแปลงสำหรับทารกในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่มีความเชื่อว่านมแม่มีสารอาหารที่ครบถ้วน ปลอดภัย และนิยมใช้ในหมู่คนสูงศักดิ์หรือคนรวยที่ยังอาจส่งผลต่อมารดาหรือผู้ที่มีอิทธิพลในการตัดสินใจในการเลือกอาหารสำหรับทารกแรกเกิด การช่วยกันรณรงค์เปลี่ยนแปลงเรื่องการใช้ภาษาสื่อสารจะช่วยส่งเสริมความเข้าใจที่เหมาะสมที่นับเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Thorley V. Is breastfeeding ‘normal’? Using the right language for breastfeeding. Midwifery 2018;69:39-44.