คลังเก็บหมวดหมู่: ความรู้สำหรับนักศึกษา

ความรู้สำหรับนักศึกษา

ลูกจะเป็นสาวเร็วขึ้นหากมารดาเป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์

IMG_1576

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? การที่มารดาเป็นเบาหวานระหว่างการตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงหรือเพิ่มภาวะแทรกซ้อนได้หลายอย่างในระหว่างการตั้งครรภ์และการคลอด ได้แก่ ความพิการแต่กำเนิดของทารกสูงขึ้น ภาวะครรภ์เป็นพิษเพิ่มขึ้น ทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวมาก การคลอดยาก การผ่าตัดคลอด การคลอดติดไหล่ ทารกแรกเกิดมีน้ำตาลต่ำ นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาพบว่า ทารกที่เกิดจากมารดาที่เป็นเบาหวานระหว่างการตั้งครรภ์จะเข้าสู่วัยรุ่นหรือเป็นสาวเร็วขึ้น 1.45 เท่าเมื่อเทียบกับทารกที่เกิดจากมารดาที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน1 โดยที่ตัดปัจจัยเรื่องดัชนีมวลกายที่บ่งบอกถึงน้ำหนักที่มากของมารดาออกแล้ว ดังนั้น ในมารดาที่อ้วนที่เป็นเบาหวานระหว่างการตั้งครรภ์ ความเสี่ยงจะยิ่งเพิ่มขึ้น ซึ่งการคัดกรองปัญหาเบาหวานในมารดาเหล่านี้ จึงเป็นสิ่งที่บุคลากรทางการแพทย์ควรเอาใจใส่ ไม่ควรละเลย เพื่อลดภาวะแทรกซ้อน และป้องกันผลเสียในระยะยาวที่อาจเกิดแก่ทารก

เอกสารอ้างอิง

  1. Yi-Frazier JP, Hilliard ME, Fino NF, et al. Whose quality of life is it anyway? Discrepancies between youth and parent health-related quality of life ratings in type 1 and type 2 diabetes. Qual Life Res 2016;25:1113-21.

การใช้ยาต้านไวรัสในสตรีตั้งครรภ์ที่เป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบี

IMG_1570

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? การที่สตรีตั้งครรภ์เป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบีจะมีโอกาสที่เชื้อไวรัสจะติดต่อไปยังทารก และทำให้ทารกมีภาวะตับอักเสบเฉียบพลันหรือเรื้อรังได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในมารดาที่มีปริมาณเชื้อไวรัสสูง มีการศึกษาการใช้ยาต้านไวรัส tenofovir ให้ในมารดาที่ตั้งครรภ์ที่มีปริมาณไวรัสในกระแสเลือดมากกว่า 200000 ยูนิตต่อมิลลิลิตร สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดการติดเชื้อในทารกได้1 โดยหลังคลอดทารกจะได้รับภูมิคุ้มกันและวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีร่วมด้วย ซึ่งในมารดาเหล่านี้ยังสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ โดยจะได้รับประโยชน์จากการที่ทารกได้รับนมแม่และไม่พบความเสี่ยงของการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเพิ่มขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Pan CQ, Duan Z, Dai E, et al. Tenofovir to Prevent Hepatitis B Transmission in Mothers with High Viral Load. N Engl J Med 2016;374:2324-34.

เด็กอ้วนจากมารดามีโฟเลตต่ำระหว่างตั้งครรภ์

IMG_1723

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? เป็นที่ทราบกันดีว่า การเสริมโฟเลตเพื่อป้องกันการผิดปกติของระบบท่อประสาทของทารกระหว่างการตั้งครรภ์ ควรรับประทานโฟเลตขนาด 400 ไมโครกรัมอย่างน้อยก่อนการตั้งครรภ์หนึ่งเดือนและต่อเนื่องไปในช่วงไตรมาสแรก แต่มีการศึกษาพบว่า มารดาที่มีระดับโฟเลตต่ำระหว่างตั้งครรภ์มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงในการเกิดการอ้วนของทารกในวัยเด็ก นอกจากนี้ การที่มารดามีน้ำหนักเกินหรืออ้วนยังมีความสัมพันธ์กับการมีระดับโฟเลตต่ำระหว่างการตั้งครรภ์1 ดังนั้น ในมารดาที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน ควรได้รับการแนะนำให้เสริมโฟเลตในระหว่างการตั้งครรภ์ เพื่อช่วยในการลดความเสี่ยงในการเกิดลูกอ้วนในวัยเด็ก

? ? ? ? ? ? ? ในประเทศไทย กรมอนามัยได้แนะนำให้เสริมโฟเลต ธาตุเหล็ก และไอโอดีนแก่มารดาระหว่างการตั้งครรภ์ เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ที่มีอุบัติการณ์การขาดวิตามินและแร่ธาตุเหล่านี้ จึงควรเป็นอย่างยิ่งที่บุคลากรทางการแพทย์ควรเน้นย้ำให้มารดาได้รับเสริมวิตามินและแร่ธาตุให้ครบถ้วนระหว่างการตั้งครรภ์ สำหรับการลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะอ้วนในทารกที่มารดาสามารถทำได้ง่าย ได้แก่ การให้ลูกได้กินนมแม่ ซึ่งนอกจากจะช่วยป้องกันภาวะอ้วนของทารกเมื่อเข้าสู่ในวัยเด็กแล้ว ยังช่วยให้มารดาน้ำหนักลดลงได้ดี ช่วยในเรื่องการลดไขมันในกระแสเลือดของมารดาและอาจป้องกันโรคทางหลอดเลือดหัวใจของมารดาได้ด้วย อย่างไรก็ตาม ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมในประเทศไทยถึงขนาดที่เหมาะสมของการเสริมวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ซึ่งจะทำให้การแนะนำมารดาทำได้อย่างเหมาะสมและมีประโยชน์สูงสุด

เอกสารอ้างอิง

  1. Wang G, Hu FB, Mistry KB, et al. Association Between Maternal Prepregnancy Body Mass Index and Plasma Folate Concentrations With Child Metabolic Health. JAMA Pediatr 2016:e160845.

 

เทคนิคในการปั๊มนมด้วยเครื่องปั๊มนม

IMG_9417

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? วิธีการปั๊มนมด้วยเครื่อง มารดาควรทราบเกี่ยวกับชิ้นส่วนของเครื่องปั๊มนมเป็นอย่างดี สำหรับเทคนิคในการปั๊มนมด้วยเครื่องปั๊มนม มีขั้นตอนดังนี้

  • ล้างมือให้สะอาดก่อนการปั๊มนม เตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ในการปั๊มนมที่พร้อมทำความสะอาดแล้วตามสลากประกอบการใช้
  • มารดาควรนึกถึงภาพทารกและการให้นมทารก อาจใช้ภาพถ่าย การบันทึกเสียงหรือผ้าที่ใช้ห่อตัวทารกเพื่อช่วยกระตุ้นการไหลของน้ำนม
  • นวดเต้านมจากด้านนอกเข้าหาหัวนม อาจใช้ผ้าอุ่นประคบราว 5 นาทีเพื่อช่วยให้น้ำนมไหลเวียนได้ดี
  • ประกบที่ปั๊มนมกับเต้านม โดยหัวนมควรใส่เข้าไปในที่ดูดหัวนมได้สะดวก ไม่คับหรือหลวมจนเกินไป เปิดเครื่องปั๊มหากเป็นเครื่องปั๊มอัตโนมัติ โดยหากสามารถปรับแรงดูดได้ มารดาไม่ควรรู้สึกเจ็บขณะที่เครื่องปั๊มออกแรงดูด แต่หากเป็นเครื่องปั๊มที่ใช้แรงบีบมือ มารดาควรออกแรงบีบให้เกิดแรงดูดที่พอเหมาะ เพราะหากดูดแรงเกินไป หรือใส่ที่ประกบหัวนมไม่เหมาะสม เต้านมจะเกิดการบาดเจ็บ เกิดเต้านมอักเสบได้ ขณะใช้เครื่องปั๊มนมมารดาอาจนวดบริเวณเต้านมร่วมด้วยเพื่อช่วยในการระบายน้ำนมได้
  • กระบวนการปั๊มนมในแต่ละเต้าใช้เวลาราว 10 นาที แต่หากเป็นเครื่องปั๊มที่สามารถปั๊มนมจากทั้งสองเต้าได้ จะลดเวลาการปั๊มนมจากทั้งสองเต้าลง
  • เก็บน้ำนมจากภาชนะใส่ถุงเก็บน้ำนม ควรเขียนชื่อของมารดา วันที่ที่เก็บ เพื่อความสะดวกในการเลือกนำมาใช้ และความปลอดภัยในการเก็บรักษา จากนั้นเก็บในช่องแช่แข็งของตู้เย็น แต่หากไม่มีตู้เย็น สามารถใส่ในกระติกหรือกระเป๋าเก็บความเย็นที่ใส่น้ำแข็งไว้ขณะที่อยู่ที่ทำงานหรือต้องเดินทาง แล้วนำกลับบ้านหลังเลิกงาน

หมายเหตุ เครื่องปั๊มนมปกติที่ใช้ส่วนใหญ่ออกแบบสำหรับมารดาที่ใช้เพียงคนเดียว ยกเว้นเครื่องปั๊มนมที่ใช้โรงพยาบาลที่มีการฆ่าเชื้ออุปกรณ์ที่ใช้ระหว่างมารดาแต่ละคน การเพาะเชื้ออุปกรณ์ในการใช้เพื่อตรวจสอบการปนเปื้อนของมารดาแต่ละคน ปกติไม่มีความจำเป็น และมารดาควรระลึกไว้เสมอว่า การกระตุ้นดูดนมที่ดีที่สุดคือ การให้ทารกดูดกระตุ้นโดยตรงจากเต้า

เอกสารอ้างอิง

  1. The American of Obstetricians and Gynecologist, American Academy of Pediatrics. Breastfeeding handbook for physician. 2nd 2014.

20 คำถามที่ต้องตอบก่อนการเลือกซื้อและใช้เครื่องปั๊มนม

pump5

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? การใช้เครื่องปั๊มนม เป็นวิธีหนึ่งที่สะดวกและใช้เวลาสั้นในการเก็บน้ำนม อย่างไรก็ตาม เครื่องปั๊มนมมีหลายชนิด หลายราคา คุณภาพ และการคงทนในการใช้งานที่แตกต่างกัน มีคำถามที่มารดาต้องตอบตัวเองก่อนการเลือกซื้อและใช้เครื่องปั๊มนม ดังนี้

  1. เครื่องปั๊มนมที่จะซื้อนี้ จำเป็นต้องใช้ในระยะสั้นหรือระยะยาว
  2. ราคาของเครื่องปั๊มนมที่สามารถรับได้ ราคาเท่าไร
  3. น้ำหนักของเครื่องปั๊มนมหนักเท่าไร (ต้องพิจารณาในกรณีใช้พกพา)
  4. สถานที่ที่จะเก็บน้ำนม ใช้เครื่องปั๊มสะดวกหรือไม่ (เครื่องปั๊มบางชนิดใช้ไฟฟ้า บางชนิดใช้แบตเตอรี่ บางชนิดใช้มือบีบ)
  5. ประสิทธิภาพในการปั๊มนมของเครื่องปั๊มนมแต่ละชนิดหรือยี่ห้อเป็นอย่างไร
  6. การทำความสะอาดเครื่องปั๊มนมหรืออุปกรณ์ประกอบทำได้ง่ายหรือไม่
  7. มีวิธีใช้และดูแลรักษาบ่งบอกไว้ชัดเจนหรือไม่
  8. ขวดที่จะใช้เก็บน้ำนมจากเครื่องปั๊ม เป็นขนาดมาตรฐานทั่วไป หรือจำเป็นต้องซื้อเฉพาะยี่ห้อของเครื่องปั๊มนม
  9. เครื่องปั๊มนมมีรอบในการปั๊มนมกี่รอบต่อหนึ่งนาทีและปรับรอบของการปั๊มนมได้หรือไม่
  10. ขนาดของอุปกรณ์ที่ใช้ประกบกับเต้านม (cup) เพื่อปั๊มนมมีหลายขนาดให้เลือกตามความเหมาะสมของขนาดหัวนมและเต้านมหรือไม่
  11. มีระบบที่ป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมอื่นในแต่ละส่วนของเครื่องปั๊มนมหรือไม่
  12. เครื่องปั๊มนมเสียงดังหรือไม่
  13. หากใช้ไฟฟ้า สายไฟของเครื่องปั๊มนมยาวแค่ไหน
  14. เครื่องปั๊มนมสามารถปั๊มนมได้สองเต้าในเวลาเดียวกันหรือไม่
  15. เครื่องปั๊มนมเป็นชนิดมีการรับรองการใช้งานในโรงพยาบาลหรือไม่
  16. การรับประกันจากบริษัทหรือตัวแทนจำหน่ายเป็นอย่างไร
  17. เครื่องปั๊มนมเป็นชนิดที่ออกแบบสำหรับการใช้งานคนเดียวหรือสามารถใช้งานได้โดยมารดาหลายๆ คน
  18. เครื่องปั๊มนมมีกล่องหรือกระเป๋าใส่อุปกรณ์ที่สะดวกในการพกพาหรือไม่
  19. ในการใช้งานเครื่องปั๊มนม มารดาต้องใช้สองมือในการปั๊มนมหรือไม่
  20. เครื่องปั๊มนมนี้ใช้งานได้จริงและคุ้มค่าคุ้มราคาหรือไม่

เอกสารอ้างอิง

  1. The American of Obstetricians and Gynecologist, American Academy of Pediatrics. Breastfeeding handbook for physician. 2nd 2014.