คลังเก็บหมวดหมู่: ความรู้สำหรับนักศึกษา

ความรู้สำหรับนักศึกษา

การใช้ยาคลายเครียดหรือยานอนหลับในระหว่างการให้นมบุตร

IMG_3367

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ?ยาคลายเครียดหรือยาในกลุ่มที่ช่วยให้นอนหลับมีการใช้เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน ยาในกลุ่มนี้จะผ่านไปสู่ทารกในครรภ์และทารกที่กินนมแม่ได้ โดยในระหว่างตั้งครรภ์ ยาจะมีผลทำให้ทารกหลับ การดิ้นของทารกจะน้อยลง ซึ่งอาจส่งผลต่อการตรวจติดตามสุขภาพของทารกในครรภ์ได้ ในขณะที่การใช้ยาในมารดาที่ให้นมบุตร หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาในกลุ่มนี้ แนะนำให้เลือกใช้ยาที่มีค่าครึ่งชีวิตของยาสั้น ยาจะออกฤทธิ์เร็วและหมดฤทธิ์ได้เร็ว ควรใช้ยา oxazepam? และยา lorazepam มากกว่ายาที่มีค่าครึ่งชีวิตของยาที่ยาว คือ diazepam ยา chlordiazepoxide และยา clonazepam1 และควรให้นมบุตรก่อนการรับประทานยา จากนั้นการให้นมครั้งต่อไปจะห่างจากช่วงที่กินยาราว 2-3 ชั่วโมง ซึ่งจะทำให้ปริมาณยาที่พบในน้ำนมน้อยลงและทารกได้รับยาน้อยลงด้วย ทำให้ลดอาการง่วงซึมของทารกที่อาจทำให้ทารกกินนมน้อยลงได้ อย่างไรก็ตาม หากมารดาสามารถหลีกเลี่ยงการใช้ยาได้ ก็จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด โดยอาจใช้การบำบัดทางจิตวิทยา พฤติกรรมบำบัด การฝึกทำจิตใจ ทำสมาธิ หรือการออกกำลังกาย ซึ่งเป็นรูปแบบของการรักษาด้วยการแพทย์ทางเลือกก็เป็นทางออกหนึ่งในการดูแลรักษาภาวะเครียดหรือวิตกกังวลในระหว่างการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Anderson PO. The Pregnancy-Breastfeeding Interface. Breastfeed Med 2017;12:2-4.

 

การกินมังสวิรัติช่วยลดการเกิดมะเร็งเต้านมได้จริงหรือ

IMG_3175

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? การดูแลสุขภาพในปัจจุบัน บางครั้งต้องเผชิญกับความเชื่อ ทั้งที่เป็นความเชื่อจากการแพทย์ดั้งเดิม ความเชื่อจากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ หรือความเชื่อจากขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งมักจะขาดหลักฐานเชิงประจักษ์ที่มีการศึกษาวิจัยที่ชัดเจน การจะเปลี่ยนแปลงความเชื่อต่าง ๆ ที่มีอยู่ในบุคคลใดบุคคลหนึ่งนั้นยาก และอาจมีความยากมากขึ้น หากบุคคลนั้นเป็นบุคลากรทางการแพทย์ เช่นเดียวกันกับมีความเชื่อเกี่ยวกับการกินผักหรือการกินมังสวิรัติว่าจะส่งผลช่วยลดหรือป้องกันการเกิดมะเร็งได้ มีข้อมูลการศึกษาในอินเดียในสตรีที่กินมังสวิรัติมาตลอดชีวิตมีโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมไม่แตกต่างจากสตรีทั่วไป (Odds ratio 1.09 (95% CI 0.93-1.29))1 ดังนั้น การที่เราฟังข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้รับ จำเป็นต้องมีการกลั่นกรองหาข้อมูลความน่าเชื่อถือแล้ววิเคราะห์ก่อนตัดสินใจในข้อมูลเหล่านั้น นอกจากนี้ ความรู้ที่มีในปัจจุบัน อาจเปลี่ยนแปลงได้ หากมีหลักฐานใหม่ ๆ เพิ่มเติมมากขึ้น จึงมีความจำเป็นต้องมีการหาความรู้เพิ่มเติมใหม่ที่ทันสมัยอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะแพทย์ที่ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเหมาะสมสำหรับการตัดสินใจของผู้ป่วยที่มารับคำปรึกษา

เอกสารอ้างอิง

  1. Gathani T, Barnes I, Ali R, et al. Lifelong vegetarianism and breast cancer risk: a large multicentre case control study in India. BMC Womens Health 2017;17:6.

 

การใช้ยาต้านซึมเศร้าในระหว่างการตั้งครรภ์และให้นมบุตร

IMG_3004

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ในปัจจุบัน สภาพเศรษฐกิจและสังคมทำให้เกิดการแข่งขันร่วมกับคนที่เกิดใน generation Y มักชอบความสบาย ขาดความอดทน สภาวะต่าง ๆ ทางสังคมจึงอาจส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจและอารมณ์ได้ง่ายขึ้น ทำให้พบผู้ป่วยที่มีความเครียดหรือภาวะซึมเศร้าสูงขึ้น รวมทั้งในมารดาที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตร การรับประทานต้านอาการซึมเศร้าโดยทั่วไปมักนิยมใช้ยากลุ่ม SSRI (Selective Serotonin Reuptake Inhibitors) ซึ่งยาที่นิยมใช้บ่อย ๆ ได้แก่ ยา Fluoxetine หรือชื่อการค้าคือ Prozac ยานี้มีค่าครึ่งชีวิตของยาและสารออกฤทธิ์หลังการรับประทานยา (active metabolite) นาน 5-9 วันในผู้ใหญ่1 โดยหากคำนวณจากหลักของการกำจัดยาออกจากร่างกาย โดยทั่วไปจะต้องใช้เวลาราว 5 เท่าของเวลาครึ่งชีวิตของยา ดังนั้นต้องใช้เวลาเป็นเดือนในการกำจัดยาจนหมดจากร่างกาย สำหรับในทารกแรกเกิด หากได้รับยาขณะตั้งครรภ์ ทารกต้องใช้เวลานานมากกว่าหนึ่งเดือนในการกำจัดยา ด้วยหลักนี้ การเลือกใช้ยาต้านซึมเศร้า หากมารดาสามารถเตรียมความพร้อมได้ก่อนการตั้งครรภ์ ควบคุมอาการซึมเศร้าได้ดี ปรับขนาดยาให้น้อยที่สุด และเลือกใช้ยาตัวทที่มีค่ายาครึ่งชีวิตสั้น จะลดการเกิดอาการข้างเคียงในทารกได้ แต่หากจำเป็นต้องรับประทานยา Fluoxetine ที่มีค่าครึ่งชีวิตของยายาว การเปลี่ยนยาในระหว่างการตั้งครรภ์ อาจเพิ่มความเสี่ยงของทารกจากการที่ได้รับยาที่ยังคงอยู่ในทารกได้นานและเสี่ยงจากการได้รับยาเพิ่มขึ้นหลายตัวอีกด้วย จึงควรชั่งน้ำหนักระหว่างข้อดีข้อเสียของการใช้ยาที่ควรมีการเตรียมความพร้อม หากสตรีมีความจำเป็นรับประทานยาเป็นประจำและเตรียมตัวสำหรับการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

เอกสารอ้างอิง

  1. Anderson PO. The Pregnancy-Breastfeeding Interface. Breastfeed Med 2017;12:2-4.

 

การใช้ยา monoclonal antibody ในระหว่างการตั้งครรภ์และให้นมบุตร

IMG_5808

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? Monoclonal antibody ปัจจุบันเป็นยากลุ่มหนึ่งที่ใช้ในการรักษาโรคเรื้อรังหลายโรค ได้แก่ โรคปวดข้อจากรูมาตอยด์ และโรค irritable bowel syndrome ซึ่ง monoclonal antibody เป็นยาที่สร้างในลักษณะของเสมือนสารที่เป็นภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยจะคล้ายกับ Ig G มีการศึกษาการใช้ monoclonal antibody ในระหว่างการตั้งครรภ์ พบว่า monoclonal antibody สามารถผ่านรกไปยังทารกในระหว่างการตั้งครรภ์เริ่มในไตรมาสที่สองและเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่สาม หากมีการคลอดของทารกก่อนกำหนด ยา monoclonal antibody จะอยู่ในทารกเป็นเวลานาน เนื่องจากร่างกายทารกจะกำจัดยาได้น้อย1 ดังนั้น จึงมีความเสี่ยงในการเกิดอันตราย ส่วนใหญ่จึงแนะนำให้เลี่ยงการใช้ยากลุ่มนี้หรือหยุดใช้ในช่วงไตรมาสที่สองต่อไตรมาสที่สาม ซึ่งมีรายงานว่าแม้จะหยุดยากลุ่มนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวก็ไม่ได้มีผลเพิ่มการกำเริบของโรคที่เป็นอยู่

? ? ? ? ? ? สำหรับการใช้ยากลุ่มนี้ในระหว่างให้นมบุตรค่อนข้างปลอดภัย เนื่องจากยาผ่านน้ำนมน้อย และการผ่านน้ำนมจะเข้าสู่ทางเดินอาหารที่ไม่ได้เป็นบริเวณที่ยาจะออกฤทธิ์ ดังนั้นจึงแนะนำว่าสามารถใช้ยา monoclonal antibody ในช่วงให้นมบุตรได้ โดยยังไม่พบว่ามีรายงานการเกิดผลเสียใด ๆ ในระหว่างการใช้ยา

เอกสารอ้างอิง

  1. Anderson PO. The Pregnancy-Breastfeeding Interface. Breastfeed Med 2017;12:2-4.

การให้ลูกกินนมบ่อยช่วยลดอาการตัวเหลือง

IMG_1226

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? อาการตัวเหลืองที่พบในทารกแรกมีสาเหตุได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ การที่หมู่เลือดของแม่ไม่เข้ากับลูก ภาวะขาดเอนไซม์ G6PD ภาวะติดเชื้อ และที่พบได้บ่อยคือ การที่ทารกกินนมแม่ไม่เพียงพอ ซึ่งในสาเหตุที่ทารกกินนมแม่ไม่เพียงพอนั้น หากมารดาได้รับการกระตุ้นให้ลูกดูดนมตั้งแต่ในระยะแรกภายในหนึ่งชั่วโมงหลังคลอดจะช่วยให้น้ำนมมาเร็ว การให้นมแม่บ่อย ๆ วันละ 8-12 ครั้ง จะป้องกันการเกิดภาวะน้ำหนักลดลงมากในทารกแรกเกิด ช่วยให้ทารกขับถ่ายได้ดี ซึ่งการขับถ่ายบ่อย ๆ จะช่วยลดสารที่ทำให้เกิดอาการเหลืองในทารกได้1 ดังนั้น การวางแผนการให้นมลูกหลังคลอด ควรดูแลให้มีการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เร็ว ให้นมลูกบ่อยและมีการติดตามตรวจน้ำหนักทารกเป็นระยะ ๆ จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดทารกแรกเกิดตัวเหลืองได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Boskabadi H, Zakerihamidi M. The correlation between Frequency and Duration of Breastfeeding and the Severity of Neonatal Hyperbilirubinemia. J Matern Fetal Neonatal Med 2017:1-14.