คลังเก็บหมวดหมู่: ความรู้สำหรับนักศึกษา

ความรู้สำหรับนักศึกษา

การดูแลการเจ็บหัวนมของมารดาช่วยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

IMG_1221

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? อาการเจ็บหัวนมเป็นอาการที่พบได้บ่อยในสตรีให้นมบุตร ซึ่งมีความสำคัญเนื่องจากอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ได้แก่ เต้านมอักเสบ และฝีที่เต้านม อุบัติการณ์ของการเจ็บหัวนมขึ้นอยู่กับนิยามของการเจ็บหัวนมและช่วงเวลาที่เก็บข้อมูล แต่หากยึดนิยามของการเจ็บหัวนมที่บ่อยมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนครั้งของการให้นมในแต่ละวัน และนานจนถึงปลายสัปดาห์แรก จะพบอุบัติการณ์ของการเจ็บหัวนมในประเทศไทยราวร้อยละ 10 สำหรับสาเหตุของการเจ็บหัวนมส่วนใหญ่ราวร้อยละ 70 เกิดจากการจัดท่าและเข้าเต้าไม่เหมาะสม พบประมาณร้อยละ 20 เกิดจากภาวะลิ้นติดของทารก ที่เหลือเกิดจากภาวะอื่น ๆ ได้แก่ น้ำนมมากเกินไป การเอาใจใส่และให้การดูแลแก้ไขการเจ็บหัวนมตั้งแต่ปลายสัปดาห์แรกหลังคลอดจะแก้ไขปัญหาการเจ็บหัวนมของมารดาได้ส่วนใหญ่ภายใน 1 สัปดาห์และทั้งหมดภายใน 2 สัปดาห์1 ซึ่งหลังจากการแก้ไขแล้ว ไม่พบความแตกต่างของอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ระหว่างกลุ่มที่เคยมีอาการเจ็บหัวนมและกลุ่มที่ไม่มีอาการเจ็บหัวนม ซึ่งก็คือ การเน้นการเอาใจใส่ดูแลปัญหาของมารดาและทารกตั้งแต่สัปดาห์แรก ยังถือว่าเป็นสัปดาห์ทองในการส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั่นเอง

เอกสารอ้างอิง

  1. Puapornpong P, Paritakul P, Suksamarnwong M, Srisuwan S, Ketsuwan S. Nipple Pain Incidence, the Predisposing Factors, the Recovery Period After Care Management, and the Exclusive Breastfeeding Outcome. Breastfeed Med 2017.

 

การใช้เครื่องปั๊มนมอาจไม่ได้ช่วยเพิ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะแรก

IMG_3470

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ? เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า การให้ลูกดูดนมจากเต้านมโดยตรงจะส่งผลดีที่สุด ขณะที่ในปัจจุบันมีการใช้เครื่องปั๊มนมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามเหตุและผลแล้ว การใช้เครื่องปั๊มนมควรใช้เมื่อไม่สามารถให้ลูกดูดนมโดยตรงจากเต้านมได้ ซึ่งอาจเกิดจากการที่มารดาต้องออกไปทำงาน หรือต้องแยกจากทารก1 ในกลุ่มนี้ การเก็บน้ำนมเพื่อมาให้แก่ทารกเทียบกับการให้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกน่าจะเป็นประโยชน์กว่า แต่หากมีการใช้ตามค่านิยม ก็อาจไม่เกิดประโยชน์ ดังจะเห็นว่า มีการศึกษาการใช้เครื่องปั๊มนมซึ่งพบว่าไม่ได้ช่วยเพิ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในช่วงหนึ่งเดือนถึงสามเดือนครึ่ง2 ซึ่งอยู่ในระยะแรก หากมารดาอยู่กับทารกอยู่แล้ว ประโยชน์ของการปั๊มนมเก็บก็จะมีน้อย จึงควรเลือกใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ตามความจำเป็นและอย่างสมเหตุผล

เอกสารอ้างอิง

  1. Johns HM, Amir LH, McLachlan HL, Forster DA. Breast pump use amongst mothers of healthy term infants in Melbourne, Australia: A prospective cohort study. Midwifery 2016;33:82-9.
  2. Data from http://online.liebertpub.com/doi/pdfplus/10.1089/bfm.2016.0160 (accessed at March 19, 2017).

 

 

การให้การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

IMG_3403

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ? ? ?การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สามารถเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ ?การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะได้ประโยชน์ทั้งการสนับสนุนจากบุคลากรทางการแพทย์และอาสาสมัคร การจัดการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น ควรมีการจัดทั้งในระหว่างการฝากครรภ์ ขณะคลอด ซึ่งรวมถึงในระยะหลังคลอด โดยรูปแบบการจัดที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด คือ การให้คำปรึกษาแบบที่ผู้ให้คำปรึกษาพูดให้คำปรึกษาแก่มารดาและครอบครัวโดยตรง (face-to-face counseling) ซึ่งมารดาสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ที่ให้คำปรึกษา และเช่นเดียวกันผู้ให้คำปรึกษาสามารถสื่อสารทั้งทางวาจาและท่าทางให้แก่มารดาและครอบครัวได้1 ดังนั้น จะเห็นว่า การจัดรูปแบบที่ชัดเจนในการให้คำปรึกษาที่มีความต่อเนื่อง มีความสำคัญในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สถานพยาบาลควรมีนโยบายส่งเสริมการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในประเทศไทยสูงขึ้น ทารกที่เกิดและกินนมแม่จะมีความเฉลียวฉลาด สมบูรณ์ทั้งทางด้านสุขภาพร่างกายและจิตใจ พร้อมที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศไทย

เอกสารอ้างอิง

  1. McFadden A, Gavine A, Renfrew MJ, et al. Support for healthy breastfeeding mothers with healthy term babies. Cochrane Database Syst Rev 2017;2:CD001141.

การใช้อุปกรณ์ป้องกันหัวนมทำให้หยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เร็วกว่ากำหนด

IMG_6363

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ?อุปกรณ์ป้องกันหัวนม หรือ ภาษาอังกฤษเรียกว่า nipple shield จะเป็นซิลิโคนที่ใช้ประกบกับหัวนมและลานนมให้แนบสนิท และให้ทารกดูดนมจากอุปกรณ์ป้องกันหัวนมที่จะมีรูเล็กให้น้ำนมผ่านออกไปให้แก่ทารกได้ มีการศึกษาพบว่า ในมารดาครรภ์แรก มารดาที่อายุน้อย ระดับการศึกษาต่ำ และดัชนีมวลกายสูง มีความสัมพันธ์กับการใช้อุปกรณ์ป้องกันหัวนมสูงขึ้น และมีการใช้เพิ่มขึ้นในทารกที่คลอดก่อนกำหนดและน้ำหนักตัวน้อย อย่างไรก็ตาม หากมีการใช้อุปกรณ์ป้องกันหัวนมอย่างต่อเนื่องพบว่ามีความสัมพันธ์กับการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนระยะเวลาอันควร 3..3-3.8 เท่า1 ดังนั้น หากบุคลากรทางการแพทย์มีความจำเป็นต้องแนะนำให้มารดาใช้อุปกรณ์ป้องกันหัวนม ควรใช้เฉพาะในช่วงเวลาที่จำเป็นในระยะเวลาสั้น ก็จะทำให้การใช้อุปกรณ์ป้องกันหัวนมทำได้อย่างเหมาะสม และป้องกันความเสี่ยงในการที่จะเกิดการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนกำหนดที่ควรจะเป็นได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Kronborg H, Foverskov E, Nilsson I, Maastrup R. Why do mothers use nipple shields and how does this influence duration of exclusive breastfeeding? Matern Child Nutr 2017;13.

การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับนมแม่ช่วยให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นานขึ้น

IMG_6149

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ?เป็นที่ทราบกันดีว่า การที่มารดามีความรู้ เห็นถึงประโยชน์และความสำคัญในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีผลต่อระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การที่มารดาจะมีความรู้ เห็นถึงประโยชน์และความสำคัญในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น ส่วนหนึ่งมารดาอาจจะได้ความรู้จากการอ่านหนังสือ หรือการค้นคว้าผ่านฐานข้อมูลความรู้ในอินเตอร์เน็ต แต่อีกส่วน อาจได้จากการให้คำปรึกษาของบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้ความรู้และคำปรึกษาเรื่องประโยชน์และความสำคัญของนมแม่ในระหว่างการฝากครรภ์ ซึ่งมารดาจะให้ความสนใจมากขึ้น เนื่องจากอยู่ในช่วงที่ใกล้จะต้องปฏิบัติจริง คือ ในระยะหลังคลอดต้องให้นมลูก ดังนั้น ผลของการให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงมีผลต่อระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยมีการศึกษาพบว่า การให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีผลต่อระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยพบมารดาที่ได้รับการให้คำปรึกษามีระยะเวลาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยาวนานกว่ามารดาที่ไม่ได้รับการให้คำปรึกษาถึง 60 วัน1 การให้คำปรึกษาแก่มารดาในระยะฝากครรภ์จึงถือว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Khan AI, Kabir I, Eneroth H, et al. Effect of a randomised exclusive breastfeeding counselling intervention nested into the MINIMat prenatal nutrition trial in Bangladesh. Acta Paediatr 2017;106:49-54.