คลังเก็บหมวดหมู่: ความรู้สำหรับนักศึกษา

ความรู้สำหรับนักศึกษา

Journal club8

IMG_3739

journal club8

การสอนท่ามารดาให้นมลูกหลังคลอด

IMG_2918

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? หลังคลอดการสอนท่าให้นมลูกแก่มารดาเป็นสิ่งจำเป็น แม้ดั้งเดิมการให้นมบุตรมักให้ตามสัญชาตญานร่วมกับความคุ้นเคยจากการเห็นคนในครอบครัวและเพื่อนบ้านที่ให้นมลูก แต่ในปัจจุบันความคุ้นเคยและประสบการณ์ในการได้เห็นมารดาให้นมบุตรลดลง จึงเป็นบทบาทที่เพิ่มขึ้นของบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องให้ความรู้และทักษะแก่มารดาโดยเฉพาะในมารดาที่ตั้งครรภ์ครั้งแรก การสอนท่าในการให้นมลูกนั้น มีการศึกษาว่า หากมารดาสามารถปฏิบัติท่าในการให้นมลูกได้ตั้งแต่สองท่าขึ้นไป จะทำให้มีโอกาสในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวสูงขึ้น สำหรับท่าที่ใช้ในการสอน อาจสอนท่าขวางตัก ท่าขวางตักประยุกต์ ท่าฟุตบอล ท่านอนตะแคง หรืออาจจะใช้ท่าเอนหลัง หากมารดาเข้าเต้าและให้นมลูกได้อย่างเหมาะสม จะช่วยในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาที่ผ่าตัดคลอดได้ไม่แตกต่างกัน1 ดังนั้น แนะนำให้มารดาเลือกท่าที่ชอบและฝึกปฏิบัติให้เกิดความมั่นใจ จะช่วยส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Puapornpong P, Raungrongmorakot K, Laosooksathit W, Hanprasertpong T, Ketsuwan S. Comparison of Breastfeeding Outcomes Between Using the Laid-Back and Side-Lying Breastfeeding Positions in Mothers Delivering by Cesarean Section, a Randomized Controlled Trial. Breastfeed Med 2017.

การให้คำปรึกษาเรื่องนมแม่อย่างถูกที่และถูกเวลา

IMG_2939

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? การที่มารดาคนหนึ่งที่ทำงานเต็มเวลา ลาคลอดและจะให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนสำเร็จนั้น ต้องการการสนับสนุนหรือการให้คำปรึกษาอย่างไรบ้าง เป็นสิ่งที่น่าสนใจ มีการศึกษาถึงลักษณะการให้คำปรึกษาแก่มารดาควรมีความเฉพาะเจาะจงตามแต่ละช่วงระยะเวลาหลังคลอด โดยในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอด มารดามักพบปัญหาเรื่องการเข้าเต้า การร้องกวนของทารกซึ่งมารดาอาจจะยังปรับตัวไม่ได้ ไม่ทราบว่าทารกต้องการอะไร การให้คำปรึกษาแนะนำการแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างเหมาะสมโดยบุคลากรทางการแพทย์ มารดาอาสา หรือกลุ่มสนับสนุนนมแม่จะช่วยให้มารดาผ่านอุปสรรคไปได้ก่อนที่จะล้มเลิกการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เช่นเดียวกันกับช่วงที่มารดาต้องกลับไปทำงานตามระยะเวลาที่ลาคลอดได้ การให้คำปรึกษาในช่วงนี้ ต้องเหมาะกับลักษณะงานและมารดาสามารถนำไปใช้ได้ โดยรูปแบบการให้คำปรึกษาต้องมีความสะดวก ยืดหยุ่น และพร้อมให้คำปรึกษาเมื่อมารดาต้องการ1 สิ่งเหล่านี้ต้องเกิดจากความเข้าใจของบุคลากรทางการแพทย์ที่จะวางระบบการให้คำปรึกษาที่เอื้อต่อการสนับสนุนและส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างถูกที่และถูกเวลา ซึ่งจะช่วยให้โอกาสการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนสำเร็จสูงขึ้นได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Pounds L, Fisher CM, Barnes-Josiah D, Coleman JD, Lefebvre RC. The Role of Early Maternal Support in Balancing Full-Time Work and Infant Exclusive Breastfeeding: A Qualitative Study. Breastfeed Med 2017;12:33-8.

 

การให้นมแม่ช่วยเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตของทารกก่อนกำหนด

IMG_2934

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ?ทารกที่คลอดก่อนกำหนดจะมีน้ำหนักตัวน้อย ซึ่งอาจเป็นปัญหาหรืออุปสรรคในการที่จะดูดนมจากเต้า เนื่องจากการพัฒนาการของกล้ามเนื้อและระบบประสาทที่ตอบสนองต่อการดูดหรือกินนมแม่อาจยังพัฒนาการไม่สมบูรณ์ การเริ่มต้นให้สารอาหารแก่ทารกเมื่อพร้อมรวมทั้งนมแม่ซึ่งจะมีคุณค่าของสารอาหารและประโยชน์อีกหลากหลายอย่างมีความสำคัญและจำเป็น โดยมีการศึกษาพบว่าทารกคลอดก่อนกำหนดที่ได้กินนมแม่หรือดูดนมจากเต้า มีอัตราการเจริญเติบโตที่รวดเร็วกว่าทารกที่ไม่ได้รับนมแม่1 ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ที่ให้คำปรึกษาแก่มารดาที่คลอดก่อนกำหนด ควรกระตุ้นให้มารดาบีบน้ำนมด้วยมือตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอด เพื่อคงการสร้างน้ำนมและส่งเสริมให้มารดานำนมที่เก็บได้มาให้แก่ทารกเมื่อทารกพร้อม รวมทั้งการสนับสนุนให้มารดามีการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อด้วย เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้สูงขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Piris Borregas S, Lopez Maestro M, Torres Valdivieso MJ, Martinez Avila JC, Bustos Lozano G, Pallas Alonso CR. Improving nutritional practices in premature infants can increase their growth velocity and the breastfeeding rates. Acta Paediatr 2017.

 

การได้รับยาต้านไวรัสลดการติดเชื้อ CMV

IMG_2963

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? การติดเชื้อ cytomegalovirus หรือ CMV ทำให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์และทารกแรกคลอดได้ โดยหากมีการติดเชื้อในครรภ์อาจทำให้เกิดความพิการแต่กำเนิด สำหรับการติดเชื้อในทารกแรกคลอดอาจทำให้เกิดอาการปอดอักเสบ ตับอักเสบ และต่อมน้ำเหลืองโตได้ ในมารดาที่มีการติดเชื้อเอชไอวี มีความเสี่ยงในการติดเชื้อนี้สูงขึ้น เชื้อนี้พบในสารคัดหลั่งต่าง ๆ ของร่างกาย ได้แก่ น้ำลาย เลือด ปัสสาวะ น้ำหล่อลื่นในช่องคลอด น้ำอสุจิ และพบในน้ำนม ดังนั้น หากมารดาติดเชื้อนี้แล้ว เชื้อนี้อาจผ่านรกไปติดเชื้อทารกในครรภ์ได้ หรืออาจติดเชื้อผ่านการกินนมก็ได้เช่นกัน มีการศึกษาในมารดาที่ได้รับยาต้านไวรัสในมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวี พบว่า การได้ยาต้านไวรัสลดการติดเชื้อ ?CMV ได้1 อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงข้อดีข้อเสียและความคุ้มค่าในการให้ยาต้านไวรัสเพื่อลดการติดเชื้อ สำหรับในประเทศไทยยังขาดการรายงานอุบัติการณ์ของการติดเชื้อ CMV ในมารดา การบริจาคนมของมารดาคนหนึ่งให้แก่มารดาอีกคนโดยสมัครใจปราศจากการตรวจคัดกรองจึงมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อนี้ ดังนั้น กระบวนการที่ถูกต้องควรได้รับการปฏิบัติตามขั้นตอนการรับบริจาคน้ำนมของธนาคารนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Pirillo MF, Liotta G, Andreotti M, et al. CMV infection in a cohort of HIV-exposed infants born to mothers receiving antiretroviral therapy during pregnancy and breastfeeding. Med Microbiol Immunol 2017;206:23-9.