คลังเก็บหมวดหมู่: ความรู้สำหรับนักศึกษา

ความรู้สำหรับนักศึกษา

มารดาอาจรู้สึกหงุดหงิดใจเมื่อต้องงดอาหารบางประเภทระหว่างให้นมลูก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ค่านิยมและวัฒนธรรมมีผลต่อการรับประทานอาหารของมารดาระหว่างการให้นมลูก ซึ่งมารดาส่วนใหญ่จะถูกบังคับให้งดการรับประทานอาหารบางชนิดที่มารดาคุ้นเคยหรือชอบที่จะรับประทานก่อนหรือระหว่างการตั้งครรภ์ โดยมีการศึกษาในประเทศเกาหลีใต้พบว่า ระหว่างการให้นมลูก อาหารที่มารดาถูกบอกให้งดมากที่สุด ได้แก่ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน อาหารรสเผ็ด อาหารดิบ และอาหารที่เย็น ซึ่งมารดารู้สึกไม่สะดวกใจที่ต้องหยุดหรืองดอาหารเหล่านี้ และการงดนี้ไม่สัมพันธ์กับว่ามารดาจะได้รับความรู้เรื่องอาหารหรือไม่1 หากพิจารณาดูอาหารที่มารดางด ส่วนใหญ่ไม่มีความจำเป็นและสามารถให้ได้ระหว่างการให้นมลูก สำหรับในประเทศไทย ค่านิยมในการงดอาหารรสจัดหรือรสเผ็ดก็ยังพบอยู่ แต่ยังขาดการศึกษาถึงขนาดปัญหา ดังนั้น การศึกษาวิจัยเพิ่มเติมควรได้รับการส่งเสริม เพื่อการรณรงค์สื่อค่านิยมที่ดีและเหมาะสมสำหรับอาหารที่ดีในคนไทยที่จะให้นมลูก

เอกสารอ้างอิง

  1. Jeong G, Park SW, Lee YK, Ko SY, Shin SM. Maternal food restrictions during breastfeeding. Korean J Pediatr 2017;60:70-6.

หากทารกอยู่ที่อกแม่ ทารกจะดูดนมได้ด้วยตนเอง

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ในบรรดาสิ่งมีชีวิตที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยทั่วไปลูกของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจะมีสัญชาตญาณในการที่จะสามารถเข้าไปหาและดูดนมแม่ได้เอง สัญชาตญาณเหล่านี้จะช่วยในการอยู่รอดของลูกของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ในมนุษย์ก็เช่นเดียวกัน แต่กลไกทางด้านสังคมที่เปลี่ยนแปลงมีผลทำให้เกิดช่องว่างในการแยกทารกออกจากมารดาหลังคลอด ซึ่งจะมีผลทำให้ลดสัญชาตญาณในการดูดนมที่ช่วยในการอยู่รอดเมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้น การที่จะคงสัญชาตญาณนี้ควรวางทารกไว้ที่อกของมารดาในระยะแรกหลังคลอด ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้สัญชาตญาณการอยู่รอดนี้ทำงาน ทารกจะปรับตัวและใช้เวลาราว 1 ชั่วโมงที่คืบคลาน เคลื่อนเข้าหาเต้านม และดูดนมได้ด้วยตนเอง หากให้เวลาและสัมผัสที่อยู่บนอกมารดาโดยไม่มีการรบกวน กระบวนการนี้เป็นสิ่งที่ควรรณรงค์ด้วยการส่งเสริมการกระตุ้นสัญชาตญาณพื้นฐานเบื้องต้นของสิ่งมีชีวิตที่ขึ้นชื่อว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมรวมทั้งมนุษย์ เพื่อการอยู่รอดและมีพัฒนาการที่ดีสืบไป

ความผูกพันระหว่างมารดาและทารกช่วยพัฒนาสมอง

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ระหว่างการให้นมลูก ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมารดาและบุตร มีความสำคัญต่อพัฒนาการ ซึ่งจะมีความเชื่อมโยงไปสู่การจัดระบบการทำงานของสมอง ทารกที่ได้รับความรักความผูกพันจะเจริญเติบโตเป็นผู้ที่มีความสมบูรณ์ทางอารมณ์และมีความยืดหยุ่นในการใช้ชีวิต ส่วนทารกที่ขาดการได้รับความผูกพันจะขาดความมั่นใจในตนเอง และเข้ากับคนอื่นได้ลำบาก1 การให้มารดาได้โอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อเป็นการสร้างความรักความผูกพัน ดังนั้น จึงส่งผลต่อการพัฒนาสมอง อารมณ์ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการประสบความสำเร็จในการใช้ชีวิตเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้น เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ก็ไม่ควรพลาดที่จะโอบกอดลูกเนื้อแนบเนื้อตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอด

เอกสารอ้างอิง

  1. Hong YR, Park JS. Impact of attachment, temperament and parenting on human development. Korean J Pediatr 2012;55:449-54.

ความรักความผูกพันของแม่ช่วยพัฒนาการของลูก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ?ระหว่างที่แม่ให้นมลูกจะมีการหลั่งฮอร์โมนออกซิโทซินที่ช่วยกระตุ้นความรักความผูกพันระหว่างมารดาและทารก ความรักความผูกพันนี้จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการของทารกได้1 โดยในระหว่างที่มารดาให้นมลูก การจ้องตา สบตาซึ่งกันและกัน การพูดจาหยอกล้อ หรือสัมผัสใด ๆ ที่ให้แก่ทารกล้วนเป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้นพัฒนาการของทารก ดังนั้น จึงถือว่า ความรักความผูกพันของแม่ก็มีส่วนช่วยในพัฒนาการของลูกด้วย อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ในส่วนนี้ บางครั้งถูกมองข้าม จากการให้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกโดยการนำนมใส่ขวดแล้วทิ้งให้ทารกดูดนมอย่างเดียวดาย หรือแม้ว่าจะให้นมแม่ แต่ปั๊มใส่ขวดให้ทารกโดยปราศจากปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ซึ่งในยุคสังคม เศรษฐกิจที่เร่งรีบ การติดโทรศัพท์มือถือของมารดา โดยให้ความสนใจมือถือมากกว่าทารก อาจมีผลต่อพัฒนาการของทารกได้ถึงแม้จะเป็นการให้นมแม่ก็ตาม

เอกสารอ้างอิง

  1. Ovtscharoff W, Jr., Braun K. Maternal separation and social isolation modulate the postnatal development of synaptic composition in the infralimbic cortex of Octodon degus. Neuroscience 2001;104:33-40.

การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อช่วยการพัฒนาสมอง

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? การให้มารดาโอบกอดทารกสัมผัสเนื้อแนบเนื้อช่วยในการพัฒนาสมองของทารกโดยการกระตุ้นสมองส่วน Amygdala และ Limbic ผ่าน prefontal-orbital pathway ซึ่งบทบาทของสมองในส่วน Amygdala และ Limbic จะทำหน้าที่การเรียนรู้ทางด้านอารมณ์ ควบคุมความจำ และระบบประสาทอัตโนมัติ โดยสมองส่วน Amygdala และ Limbic กว่าจะมีการพัฒนาการจนสมบูรณ์จะเกิดขึ้นช่วงสองเดือนแรกหลังการเกิด การสัมผัสผิวของทารกเนื้อแนบเนื้อกับมารดาจะมีสัญญาณประสาทที่จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการของสมองส่วนนี้1 ดังนั้น การกระตุ้นด้วยการสัมผัสผิวจึงมีความสำคัญในการพัฒนาความสมบูรณ์ของสมองในช่วงแรก ๆ หลังการเกิด นอกจากนี้ ความผูกพันระหว่างมารดาและทารกยังมีส่วนในการกระตุ้นการเชื่อมต่อและระบบควบคุมการทำงานของระบบประสาทด้วย ซึ่งหากศึกษาถึงประวัติศาสตร์ของชนชาติต่าง ๆ ส่วนใหญ่มักจะมีกระบวนการโอบอุ้มทารกให้ทารกได้สัมผัสผิวกับมารดาตั้งแต่แรกคลอดจนถึง 1-2 ปีขึ้นอยู่กับแต่ละวัฒนธรรม ประโยชน์ในการพัฒนาสมองอาจเป็นคำอธิบายในการสั่งสอนการดูแลทารกที่บอกต่อกันมาตั้งแต่โบราณก็เป็นได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Ovtscharoff W, Jr., Braun K. Maternal separation and social isolation modulate the postnatal development of synaptic composition in the infralimbic cortex of Octodon degus. Neuroscience 2001;104:33-40.