คลังเก็บหมวดหมู่: ความรู้สำหรับนักศึกษา

ความรู้สำหรับนักศึกษา

เด็กที่กินนมแม่นานควรตรวจฟันตั้งแต่อายุน้อย

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ประโยชน์ของการกินนมแม่นั้น มีทั้งต่อมารดาและทารก โดยมีผลดีต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทารกจะมีพัฒนาการที่ดี มีความเฉลียวฉลาด และมีภูมิคุ้นกันที่จะปกป้องทารกจากการติดเชื้อหรือความเสี่ยงในการเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกัน อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาพบว่าในทารกที่กินนมแม่นานเกินกว่าสองปี มีโอกาสพบฟันผุมากขึ้น1 ดังนั้น ในทารกที่กินนมนานมากกว่าสองปี บุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลควรแนะนำให้มารดาพาลูกไปตรวจฟัน ซึ่งจะช่วยป้องกันและรักษาอาการฟันผุตั้งแต่ในระยะแรก แม้ว่าจะมีความเสี่ยงในการเกิดฟันผุเพิ่มขึ้นจากการกินนมแม่นาน แต่ก็ไม่แนะนำให้หยุดหรือเลิกนมแม่ เนื่องจากประโยชน์ของนมแม่ยังคงมีมากกว่า และยังคงให้อย่างต่อเนื่องได้ตามความต้องการของมารดาและทารก

เอกสารอ้างอิง

  1. Peres KG, Nascimento GG, Peres MA, et al. Impact of Prolonged Breastfeeding on Dental Caries: A Population-Based Birth Cohort Study. Pediatrics 2017;140.

เป้าหมายที่ท้าทายในการลงทุนด้านการสนับสนุน ส่งเสริมและปกป้องนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ในการพัฒนาประเทศนั้น การพัฒนาคุณภาพของประชากรเป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งพื้นฐานของการพัฒนาคุณภาพของคนในประเทศนั้นคือการสนับสนุน ส่งเสริม และปกป้องให้ประชากรมีสุขภาพ พัฒนาการที่ดี และมีความเฉลียวฉลาด โดยการวางแผนสิ่งเหล่านี้ต้องเริ่มต้นตั้งแต่การดูแลการตั้งครรภ์และการเริ่มต้นอาหารที่ดีและเหมาะสมที่สุดสำหรับทารก ซึ่งนั่นก็คือ ?การให้ทารกได้กินนมแม่? ในสหรัฐอเมริกาได้ให้ความสำคัญของเรื่องการลงทุนในการสนับสนุน ส่งเสริม และปกป้องนมแม่อย่างมาก โดยได้กำหนดไว้ในเป้าหมายขององค์การที่ดูแลด้านสุขภาวะของประชาชนไว้ว่า ในสตรีที่ตั้งครรภ์รายใหม่ทุกคนต้องได้รับการชี้แจงถึงประโยชน์ของนมแม่อย่างเหมาะสม และหากมารดาได้เลือกที่จะให้ลูกได้กินนมแม่ ต้องถือเป็นหน้าที่ที่จะให้การสนับสนุนให้มารดาประสบความสำเร็จในการเริ่มต้นการให้ลูกได้กินนมแม่ และคงการให้นมแม่ไปได้อย่างต่อเนื่องตามเป้าหมายที่มารดาต้องการ1 จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดว่า ในประเทศที่พัฒนาแล้วยังใส่ใจในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และตั้งเป้าหมายไว้อย่างชัดเจน ขณะที่ประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา การเลือกทำตามในสิ่งที่ดีก็เป็นสิ่งที่น่ากระทำ ดังนั้น ควรต้องมีการวางแผนและดำเนินการลงทุนในด้านจัดการสนับสนุน ส่งเสริม และปกป้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไว้ในลำดับต้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Petersen R. A 2017 Update: Centers for Disease Control and Prevention’s Contributions and Investments in Breastfeeding. Breastfeed Med 2017.

แม่ยิ่งอ้วนยิ่งเริ่มต้นให้ลูกกินนมแม่ได้น้อยลง

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ภาวะน้ำหนักเกินและภาวะอ้วนของมารดามีผลเสียต่อการตั้งครรภ์และการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยจะพบว่า มารดาที่มีค่าดัชนีมวลกายสูงกว่าปกติ ได้แก่ มารดาที่มีภาวะน้ำหนักเกิน ภาวะอ้วน หรืออาจเรียกว่ามีโรคอ้วนก็ได้ จะมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ในระหว่างการตั้งครรภ์และการคลอดสูงขึ้น ซึ่งการที่มีความเสี่ยงในระหว่างการตั้งครรภ์และการคลอดก็จะเพิ่มโอกาสของการผ่าตัดคลอดเพิ่มขึ้น โดยการผ่าตัดคลอดนั้นจะมีผลเสียต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีการศึกษาถึงความสัมพันธ์ของดัชนีมวลกายของมารดาก่อนการตั้งครรภ์ในดัชนีมวลกายช่วงปกติกับช่วงที่มีภาวะน้ำหนักเกิน ช่วงที่มีภาวะอ้วน จนถึงช่วงที่มีภาวะอ้วนขั้นรุนแรงกับการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่พบว่า ยิ่งมารดามีน้ำหนักเกินมากขึ้นหรืออ้วนเพิ่มขึ้นมากเท่าใด ยิ่งมีผลเสียต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้นเท่านั้น1 สิ่งนี้บ่งชี้ให้มารดาควรใส่ใจเรื่องสุขภาพโดยการเตรียมความพร้อมของร่างกายรวมถึงดูแลค่าดัชนีมวลกายที่จะบ่งบอกถึงภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนให้อยู่ในเกณฑ์ปกติก่อนการตั้งครรภ์จะเป็นผลดีต่อมารดาและทารกรวมถึงการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่ในขณะเดียวกัน หากบุคลากรทางการแพทย์พบมารดาที่มีน้ำหนักเกินหรือมีภาวะอ้วนตั้งครรภ์ ควรให้คำปรึกษาและการดูแลอย่างใกล้ชิดเนื่องจากปัจจัยในเรื่องน้ำหนักเกินและภาวะอ้วนนั้น ถือเป็นความเสี่ยงทั้งต่อการตั้งครรภ์ การคลอดและการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Ramji N, Challa S, Murphy PA, Quinlan J, Crane JMG. A comparison of breastfeeding rates by obesity class. J Matern Fetal Neonatal Med 2017:1-6.

 

นมแม่มีผลต่อความเฉลียวฉลาดในผู้สูงอายุ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? เป็นที่ทราบกันเป็นอย่างดีว่า การที่ทารกได้กินนมแม่จะมีพัฒนาการ ความเฉลียวฉลาดและมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานมากกว่าเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้น แต่บางคนยังคงมีข้อสงสัยว่า การที่ทารกได้กินนมแม่นั้น ผลประโยชน์ของการกินนมแม่ต่อความเฉลียวฉลาดจะมีผลต่อเนื่องไปนานแค่ไหน และผลประโยชน์นี้จะยังมีจนถึงช่วงวัยสูงอายุหรือไม่ มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของการกินนมแม่กับความเฉลียวฉลาดในวัยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุพบว่า การที่ทารกได้กินนมแม่จะช่วยในเรื่องพัฒนาการของระบบประสาทได้ดีกว่าจนกระทั่งถึงช่วงวัยผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทักษะของการใช้เหตุผลโต้ตอบในการเจรจา1 ดังนั้น นอกจากทารกที่กินนมแม่จะมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตที่มากกว่าแล้ว พัฒนาการทางด้านการเจรจาโต้ตอบพร้อมเหตุผลยังพบมากในผู้สูงอายุที่มีประวัติการกินนมแม่ ซึ่งทักษะเหล่านี้มีความจำเป็นในการเป็นผู้นำ จึงอาจเป็นไปได้ว่า การที่ทารกได้กินนมแม่อาจช่วยให้ทารกมีโอกาสที่จะเป็นผู้นำสูงเมื่ออายุสูงวัยมากขึ้น ซึ่งคำถามนี้ยังต้องการการศึกษาเพิ่มเติมต่อไปในอนาคต

เอกสารอ้างอิง

  1. Rantalainen V, Lahti J, Henriksson M, et al. Association between breastfeeding and better preserved cognitive ability in an elderly cohort of Finnish men. Psychol Med 2017:1-13.

 

ความรู้และประสบการณ์ของบุคลากรทางการแพทย์สำคัญต่อการให้คำปรึกษาเรื่องนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? จากหลายการศึกษาที่พบว่าบุคลากรทางการแพทย์ขาดความรู้และความมั่นใจที่จะให้คำปรึกษามารดาและครอบครัวในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยเฉพาะในส่วนของแพทย์ แม้ว่าในเกณฑ์การประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทยสภาในปี 2555 ได้กำหนดเป็นสิ่งที่ต้องรู้เมื่อจบเป็นแพทย์ แต่หลักสูตรของแต่ละสถาบันที่ผลิตแพทย์ที่มีการจัดการเรียนรู้หลากหลาย ยังขาดความชัดเจนในการประเมินสมรรถนะ (competency) ที่เป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่แพทย์ที่จบมา ต้องปฏิบัติได้ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การขับเคลื่อนเพื่อกำหนดเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำในการเรียนรู้ของนิสิตนักศึกษาแพทย์จึงมีความจำเป็น ซึ่งการประเมินมาตรฐานคุณภาพการศึกษาของหลักสูตรอาจต้องใส่ใจและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ สำหรับหลักสูตรของพยาบาล ความชัดเจนในการกำหนดเกณฑ์การเรียนรู้ในเรื่องนมแม่มีความชัดเจนมากกว่ารวมทั้งรูปแบบการประเมินความรู้และประสบการณ์ อย่างไรก็ตาม ความขาดแคลนพยาบาลที่มีประสบการณ์ในการทำงานมีจำนวนมาก ดังนั้น ในภาพรวมจึงเกิดการขาดความรู้และประสบการณ์ของบุคลากรทางการแพทย์ที่จะส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ไม่ใช่แต่เพียงดูว่ามารดาเข้าเต้าให้นมลูกได้เท่านั้น แต่ยังต้องมีกระบวนการการดูแล ให้คำปรึกษาเพื่อช่วยมารดาแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรคต่าง ๆ ในระหว่างการดูแลทารกและเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 ซึ่งแต่ละภาคส่วนที่มีบทบาทและเกี่ยวข้องกับส่วนนี้ ควรร่วมช่วยกันเพื่อสร้างระบบหรือกระบวนการให้บุคลากรทางการแพทย์มีความรู้และประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาเรื่องนมแม่โดยที่มีจำนวนพอเพียงด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Robinson BA, Hartrick Doane G. Beyond the latch: A new approach to breastfeeding. Nurse Educ Pract 2017;26:115-7.