คลังเก็บหมวดหมู่: ความรู้สำหรับนักศึกษา

ความรู้สำหรับนักศึกษา

สารอาหารที่ดีในช่วงแรกของชีวิตอาจเป็นตัวกำหนดสุขภาพของชีวิต

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ???หลายสิ่งหลายอย่างของลักษณะที่ปรากฏออกมาของทารกเป็นมาจากพันธุกรรมและสภาพแวดล้อมในระหว่างการตั้งครรภ์ แต่ปัจจัยที่ได้รับการศึกษาและพบว่ามีผลต่อสุขภาพและภูมิคุ้มกันของทารกเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้นก็คือ การได้รับสารอาหารที่ดีและเหมาะสมตั้งแต่ในระยะแรกของชีวิต ซึ่งได้แก่ การที่ทารกได้กินนมแม่ การได้รับวิตามินดีที่เพียงพอ และการได้รับการกระตุ้นภูมิคุ้มกันจากแบคทีเรียที่เป็นโปรไบโอติก ที่พบว่าอาจเป็นตัวกำหนดสุขภาพที่ดีของทารกเมื่อเจริญเติบโตขึ้นและเป็นสิ่งที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันให้มีการทำงานอย่างเหมาะสม ซึ่งการที่จะได้รับสารอาหารที่ดีนั้นรวมกันอยู่ในการให้ลูกได้เริ่มต้นการกินนมแม่ตั้งแต่ในระยะแรกของชีวิต การมีการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อช่วยในเรื่องจุลินทรีย์ที่เป็นโปรไบโอติก และการดูแลให้มารดาได้รับวิตามินดีที่เพียงพอระหว่างการให้นมบุตร1 ถ้าหากมารดาสามารถปฏิบัติสิ่งนี้ได้ก็เท่ากับเป็นการวางรากฐานของสุขภาพที่ดี มีภูมิคุ้มกันที่เหมาะสมที่จะพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่ทารกต้องเผชิญเมื่อเติบโตขึ้นในอนาคต

เอกสารอ้างอิง

  1. Berti C, Agostoni C, Davanzo R, et al. Early-life nutritional exposures and lifelong health: immediate and long-lasting impacts of probiotics, vitamin D, and breastfeeding. Nutr Rev 2017.

?

 

 

สูติแพทย์ควรมีบทบาทสำคัญในการเริ่มต้นนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? เมื่อมารดาตั้งครรภ์ มารดาและครอบครัวจะมาฝากครรภ์ ซึ่งแพทย์ที่พบเจอก็จะเป็นสูติแพทย์ ซึ่งจะเป็นผู้ให้ความรู้ แนะนำการปฏิบัติตัวต่าง ๆ ของมารดาในระหว่างตั้งครรภ์ การคลอด และในช่วงระยะหลังคลอด โดยที่การให้ความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ควรเริ่มตั้งแต่ในระยะฝากครรภ์ เพื่อสร้างความเข้าใจและความตระหนักถึงความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่จะส่งผลต่อทัศนคติของมารดาและครอบครัวในการที่จะตัดสินใจเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งบทบาทที่กล่าวมาแล้วนั้น ส่วนใหญ่มักเป็นสูติแพทย์ที่เป็นผู้เริ่มต้นดูแลมารดาและครอบครัวในระยะฝากครรภ์ ดังนั้น ในการเรียนการสอนแพทย์ประจำบ้านสาขาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยาควรให้ความสำคัญกับการจัดการเรียนการสอนเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แก่แพทย์ที่จะจบไปเป็นสูติแพทย์ มีการศึกษาในสหรัฐอเมริการพบการจัดการเรียนการสอนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในแพทย์ประจำบ้านทางสูติศาสตร์นรีเวชวิทยามีชั่วโมงการจัดการเรียนการสอนสูงกว่าแพทย์ประจำบ้านทางกุมารเวชศาสตร์และแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว1 ดังนั้น การสื่อสารจากสถาบันผลิตแพทย์ประจำบ้านและราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ที่บอกถึงบทบาทที่สำคัญในการส่งเสริม สนับสนุนและปกป้องนมแม่ของสูตินรีแพทย์จะช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ยังมีตัวเลขที่ต่ำอยู่ของประเทศไทยได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Rodriguez Lien E, Shattuck K. Breastfeeding Education and Support Services Provided to Family Medicine and Obstetrics-Gynecology Residents. Breastfeed Med 2017.

 

ปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดมะเร็งเต้านม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? เป็นที่ทราบกันเป็นอย่างดีว่า การที่มารดาให้ลูกกินนมแม่จะช่วยลดความเสี่ยงของมารดาที่จะเป็นมะเร็งเต้านมและในมารดาที่เป็นมะเร็งเต้านม ประวัติของการที่เคยให้ลูกกินนมแม่มีผลที่ดีต่อพยากรณ์ของโรค อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพบการเกิดมะเร็งเต้านมสูงขึ้นและยังเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของมะเร็งในสตรีที่ทำให้สตรีเสียชีวิต ดังนั้น การทราบปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดมะเร็งเต้านมจึงมีความจำเป็น เพื่อสตรีจะได้ปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมโดยลดปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ โดยปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดมะเร็งเต้านม ได้แก่ การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ การรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตและไขมันอิ่มตัวสูง การรับประทานกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัว (polyunsaturated fatty acid) อาหารที่มีเส้นใย และวิตามินบางชนิดน้อย โดยวิตามินที่มีผลคือ วิตามินดี โฟเลต และคาโรทีนนอยด์ (carotenoid) การออกกำลังกายน้อย และสัดส่วนของไขมันในร่างกาย1 จะเห็นว่า ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้นอกจากจะมีผลต่อการเกิดมะเร็งเต้านมแล้ว ยังอาจส่งผลทำให้เกิดโรคทางเมตาบอลิกและเบาหวานในระยะยาวได้ ความเข้าใจเรื่องปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ของสตรีจะนำไปสู่การตระหนักถึงความสำคัญในการปรับเปลี่ยนทัศนคติที่จะมีผลต่อรูปแบบของการใช้ชีวิตที่อาจส่งผลในการลดการเกิดมะเร็งเต้านมและช่วยส่งเสริมสุขภาพของสตรีให้ดีขึ้นได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Romieu, II, Amadou A, Chajes V. The Role of Diet, Physical Activity, Body Fatness, and Breastfeeding in Breast Cancer in Young Women: Epidemiological Evidence. Rev Invest Clin 2017;69:193-203.

 

 

การมีคนในบ้านสูบบุหรี่มีผลต่อระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? บุหรี่มีสารที่เป็นพิษต่อร่างกายได้แก่ นิโคติน และสารอีกมากมายหลายชนิด หากมีคนในบ้านสูบบุหรี่ มารดาและทารกก็จะมีโอกาสที่จะได้รับสารพิษเหล่านี้ไปด้วยแม้ไม่ได้สูบบุหรี่โดยตรง การได้รับสารพิษจากควันบุหรี่อาจเรียกว่า การได้รับสารพิษจากบุหรี่มือสอง (second hand smoker) ซึ่งผลของการได้รับสารพิษจากควันบุหรี่นั้นมีความสัมพันธ์กับระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่สั้นลง1 ดังนั้น การซักประวัติของการสูบบุหรี่ของคนในครอบครัวที่มีทารกแรกเกิดกลับไปอยู่ด้วยจึงมีความสำคัญ เพื่อการแนะนำและการให้คำปรึกษาที่เหมาะสม โดยหากคนที่สูบบุหรี่ไม่สามารถจะหยุดสูบบุหรี่ได้ การเลี่ยงหรือลดความเสี่ยงที่จะเกิดผลเสียต่อมารดาและทารกอาจทำโดยแนะนำให้คนที่สูบบุหรี่ควรสูบบุหรี่นอกบริเวณบ้าน เพื่อลดความเสี่ยงที่มารดาและทารกจะได้รับสารพิษลง

เอกสารอ้างอิง

  1. Rosen-Carole CB, Auinger P, Howard CR, Brownell EA, Lanphear BP. Low-Level Prenatal Toxin Exposures and Breastfeeding Duration: A Prospective Cohort Study. Matern Child Health J 2017.

การพูดเรื่องประโยชน์ในการลดน้ำหนักช่วยให้มารดาวัยรุ่นเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีต่อสุขภาพมารดาและทารกในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งประโยชน์ด้านหนึ่งของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่คือ การช่วยให้มารดาน้ำหนักลดลงได้ดีและมีน้ำหนักกลับสู่ในระยะก่อนการตั้งครรภ์ โดยประโยชน์ในเรื่องของการลดน้ำหนักนี้เป็นที่สนใจในมารดาที่อายุน้อยและมารดาวัยรุ่น ซึ่งจะให้ความสนใจหรือใส่ใจในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงของรูปร่างตั้งแต่ในระยะตั้งครรภ์ ในระหว่างการคลอด และหลังคลอด ความที่มารดาอายุน้อยและสนใจในเรื่องของการลดน้ำหนักนั้น มีการศึกษาพบว่า การพูดเรื่องประโยชน์ในการลดน้ำหนักจะช่วยสนับสนุนให้มารดาวัยรุ่นเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้นได้1 ดังนั้น การสังเกตลักษณะของมารดาในแต่ละคนและการเลือกเน้นประโยชน์หรือข้อดีของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้เหมาะสมหรือตรงใจกับความใส่ใจของมารดา จะช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้เป็นไปด้วยดีได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Schalla SC, Witcomb GL, Haycraft E. Body Shape and Weight Loss as Motivators for Breastfeeding Initiation and Continuation. Int J Environ Res Public Health 2017;14.