คลังเก็บหมวดหมู่: ความรู้สำหรับนักศึกษา

ความรู้สำหรับนักศึกษา

การเสริมสารอาหารให้มารดาช่วยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ?หลังคลอด สุขภาพทางโภชนาการของมารดามีความสำคัญต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดังนั้นมารดาควรได้รับการเสริมสารอาหารให้มีความสมบูรณ์เพื่อป้องกันการขาดสารอาหารในมารดาที่ส่งผลต่อสุขภาพของทารก โดยทำให้เกิดการขาดสารอาหารในทารกและมีผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกได้ มีการศึกษาการเสริมสารอาหารให้แก่มารดาในช่วงหลังคลอด พบว่าช่วยในการเจริญเติบโตของทารกและช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวด้วย1 แพทย์ผู้ดูแลมารดาในช่วงหลังคลอดทั้งสูติแพทย์และกุมารแพทย์ควรร่วมกันในการเอาใจใส่ดูแลภาวะโภชนาการของมารดาให้มีความสมบูรณ์ สิ่งเหล่านี้จะช่วยป้องกันการเจริญเติบโตของทารกที่ผิดปกติและยังช่วยเพิ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวที่จะเป็นผลดีต่อทั้งสุขภาพของมารดาและทารกทั้งในระยะสั้นและในระยะยาวด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Huynh DTT, Tran NT, Nguyen LT, Berde Y, Low YL. Impact of maternal nutritional supplementation in conjunction with a breastfeeding support program on breastfeeding performance, birth, and growth outcomes in a Vietnamese population. J Matern Fetal Neonatal Med 2018;31:1586-94.

ป้องกันลูกอ้วนจากแม่ที่เป็นเบาหวานโดยการให้ลูกได้กินนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การที่มารดาเป็นเบาหวานในระหว่างการตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนหลาย ๆ อย่าง ได้แก่ ทารกตัวโต คลอดยาก ทารกคลอดติดไหล่ การผ่าตัดคลอด การติดเชื้อและการตกเลือดหลังคลอด เป็นต้น การเกิดทารกตัวโตและโอกาสที่ทารกจะเจริญเติบโตแล้วเป็นเด็กที่อ้วนหรือวัยรุ่นที่อ้วนในมารดาที่เป็นเบาหวานจะสูงขึ้น1 หนทางหนึ่งในการป้องกันทารกจะเจริญเติบโตไปเป็นเด็กที่อ้วนหรือวัยรุ่นที่อ้วนสามารถจะทำได้โดยการให้ลูกได้กินนมแม่ ซึ่งนอกจากจะช่วยในเรื่องภาวะอ้วนเมื่อทารกเจริญวัยไปแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและช่วยในเรื่องพัฒนาการอีกด้วย จะเห็นว่า หนทางที่ช่วยป้องกันการเกิดภาวะอ้วนเมื่อทารกเจริญวัยขึ้นนั้น เป็นเรื่องพื้นฐานและธรรมชาติที่มารดาสามารถปฏิบัติได้ หากมีความตั้งใจและมั่นใจว่าตนเองสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Hui LL, Li AM, Nelson EAS, Leung GM, Lee SL, Schooling CM. In utero exposure to gestational diabetes and adiposity: does breastfeeding make a difference? Int J Obes (Lond) 2018.

แม่ที่ให้นมลูกนอนได้นานกว่าแม่ที่ให้นมขวด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ครอบครัวของมารดามักมีความกังวลว่าหลังคลอดมารดาจะไม่ได้นอนพักผ่อนจากการต้องให้นมลูก ซึ่งสิ่งนี้เป็นเพียงความรู้สึก เนื่องจากมีการศึกษาพบว่า ในช่วงหลังคลอดใหม่ มารดาที่ให้ลูกกินนมแม่นอนได้นานกว่ามารดาที่ป้อนนมลูกด้วยนมผงดัดแปลงสำหรับทารกเฉลี่ย 2.6 ชั่วโมงต่อวัน1 เหตุผลน่าจะเป็นจากการให้ลูกกินนมแม่ สะดวกและรวดเร็วกว่า มารดาไม่ต้องเสียเวลาเตรียมขวดนมและชงนมผงดัดแปลงสำหรับทารก ดังนั้น การให้คำปรึกษามารดาและครอบครัวให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง จะช่วยลดความวิตกกังวลของมารดาที่อาจส่งผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Hughes O, Mohamad MM, Doyle P, Burke G. The significance of breastfeeding on sleep patterns during the first 48 hours postpartum for first time mothers. J Obstet Gynaecol 2018;38:316-20.

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวช่วยให้แม่นอนหลับได้ดีขึ้น

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? หลังคลอดมารดาและมักกังวลเรื่องการให้ลูกกินนมแม่จะทำให้แม่ไม่ได้นอน ซึ่งจะทำให้แม่อ่อนเพลีย ในมารดาที่มีความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีการศึกษาพบว่า การให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียวมารดาจะนอนหลับได้ดีขึ้น อธิบายได้จากการที่มารดาให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียว มารดาจะปรับตัวและรู้จังหวะการกินนมของทารกได้ดีกว่า ทำให้เลือกจังหวะที่จะพักผ่อนได้ดีกว่า นอกจากนี้ การให้นมลูกในท่านอนยังช่วยให้มารดานอนหลับได้ดีขึ้น1 เพราะสามารถให้นมลูกไปพร้อมกับการพักผ่อนไปพร้อม ๆ กัน ดังนั้น การให้คำปรึกษาและสอนให้มารดาสามารถให้นมลูกในท่านอนได้น่าจะช่วยลดความวิตกกังวลเกี่ยวกับการพักผ่อนของมารดาในช่วงให้นมลูกได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Honda T. [Breastfeeding Affects the Sleep of Mothers in Postpartum Period]. J UOEH 2018;40:191-9.

นมแม่กับข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แนะนำให้มีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือน หลังจากนั้นให้ลูกกินนมแม่ร่วมกับการให้อาหารเสริมตามวัยจนกระทั่งครบสองปีหรือนานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการของมารดาและทารก การให้ลูกกินนมแม่ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกสามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของทารกแรกเกิดลงได้ และยังมีประโยชน์ต่อทั้งมารดาและทารก โดยพบว่าปัจจัยที่มีผลที่ทำให้มารดาไม่สามารถให้ลูกกินนมแม่ได้ตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก ได้แก่ การเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช้า และแนวทางการปฏิบัติหรือดูแลทารกที่ไม่สอดคล้องกับข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก1 โดยการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช้ามักสัมพันธ์กับการผ่าตัดคลอด มารดาน้ำหนักเกิน? อ้วนหรือเป็นเบาหวาน การลดปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช้าจะมีส่วนช่วยให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ประสบความสำเร็จตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก ซึ่งจะช่วยป้องกันการเสียชีวิตทารกแรกเกิดไปพร้อม ๆ กัน

เอกสารอ้างอิง

  1. Hoche S, Meshesha B, Wakgari N. Sub-Optimal Breastfeeding and Its Associated Factors in Rural Communities of Hula District, Southern Ethiopia: A Cross-Sectional Study. Ethiop J Health Sci 2018;28:49-62.