คลังเก็บหมวดหมู่: ความรู้สำหรับนักศึกษา

ความรู้สำหรับนักศึกษา

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมุมมองของแม่ที่เป็นผดุงครรภ์

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            ในกรณีที่มารดาเป็นบุคลากรทางการแพทย์เองที่มีความรู้และความเข้าใจถึงประโยชน์และความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นอย่างดี ในกรณีนี้มารดามักตั้งเป้าหมายการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไว้สูง เมื่อเกิดปัญหาที่ทำให้จำเป็นต้องหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มักจะทำให้มารดามีความเครียด เนื่องจากไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ตั้งไว้ได้1 แม้ว่าเรื่องของการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะเป็นเรื่องตามธรรมชาติ ที่บางครั้งทารกจะเริ่มปฎิเสธนมแม่เองเมื่ออายุของทารกเริ่มเพิ่มขึ้น ตัวอย่างนี้อาจแสดงให้เห็นถึงความคาดหวังที่สูงของบุคลากรทางการแพทย์อาจจะไม่สอดคล้องกับเป้าหมายในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดา สามารถสร้างให้เกิดความกดดันหรือความเครียดให้แก่มารดาได้ มุมมองเมื่อผดุงครรภ์มีบทบาทเป็นแม่เองได้สะท้อนถึงความคาดหวังที่เกิดขึ้นนี้

เอกสารอ้างอิง

  1. LoGiudice JA. A Breastfeeding Journey Through the Eyes of a Midwife Mother. Nurs Womens Health 2018;22:96-5.

 

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            การให้ลูกได้กินนมแม่ของมารดามีผลในการป้องกันการเกิดมะเร็งในมารดาหลายอย่าง ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ รวมทั้งมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มีการศึกษาพบว่า การที่มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้ โดยระยะเวลาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทุก 6 เดือนจะช่วยลดการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกลงร้อยละ 71 ดังนั้น จะเห็นว่าระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยิ่งมากยิ่งลดการเกิดมะเร็ง สิ่งนี้ควรสื่อสารและให้คำปรึกษาแก่มารดาและครอบครัวทราบเพื่อจะให้เห็นความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และสร้างเสริมทัศนคติที่ดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อันจะส่งผลต่อความตั้งใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งจะเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Ma X, Zhao LG, Sun JW, et al. Association between breastfeeding and risk of endometrial cancer: a meta-analysis of epidemiological studies. Eur J Cancer Prev 2018;27:144-51.

การใช้ยาป้องกันการตกเลือดหลังคลอดกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            การที่มารดามีการตกเลือดหลังคลอดจะมีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่การใช้ยาป้องกันการตกเลือดหลังคลอดคือ ออโทซิแบน (Atosiban) จะมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือไม่นั้น ยังขาดการศึกษา แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ยาป้องกันการตกเลือดหลังคลอดคือ ออโทซิแบนกับผลของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่พบว่า การใช้ยาป้องกันการตกเลือดหลังคลอดออโทซิแบนไม่มีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 ดังนั้น หากบุคลากรทางการแพทย์มีการใช้ยาป้องกันการตกเลือดหลังคลอดอาจไม่ต้องมีความกังวลต่อเรื่องของผลของการใช้ยาต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่สิ่งที่ต้องกังวลมากกว่าคือ การควบคุมหรือป้องกันมารดาให้ไม่มีการตกเลือดหลังคลอด ซึ่งจะช่วยลดผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากกว่า

เอกสารอ้างอิง

  1. Lopez Gomez L, Marin Gabriel MA, Encinas B, de la Cruz Troca JJ, Rodriguez Marrodan B. Oxytocin Receptor Antagonist (Atosiban) in the Threat of Preterm Birth: Does It Have Any Effect on Breastfeeding in the Term Newborn? Breastfeed Med 2018;13:123-8.

การกินนมแม่ป้องกันสายตาสั้นในเด็ก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            นมแม่ประโยชน์มีหลายอย่าง  ทั้งที่มีการศึกษาที่มีผลชัดเจนแล้วและกำลังเริ่มมีการศึกษา เรื่องสายตาสั้นก็เช่นเดียวกัน ในประเทศจีนมีการศึกษาถึงความสัมพันธ์ของการกินนมแม่กับสายตาสั้นในเด็กอายุ 6-12 ปี พบว่า  ทารกที่กินนมแม่จะป้องกันการเกิดสายตาสั้นในเด็กได้ราวร้อยละ 50-601 ในเรื่องนี้เพิ่งมีการเริ่มการศึกษา กลไกการป้องกันการเกิดสายตาสั้นมีการพยายามจะอธิบาย อย่างไรก็ตาม นับเป็นข้อสังเกตที่จะนำไปสู่ความรู้ใหม่ที่อาจจะเพิ่มผลประโยชน์จากการที่ทารกได้กินนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Liu S, Ye S, Wang Q, Cao Y, Zhang X. Breastfeeding and myopia: A cross-sectional study of children aged 6-12 years in Tianjin, China. Sci Rep 2018;8:10025.

การให้นมแม่ช่วยเรื่องโรคหัวใจและหลอดเลือดในมารดา

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            ปัจจุบันอาหารที่เรารับประทานมักไม่เหมาะสมทำให้มีความเสี่ยงต่อเรื่องโรคหัวใจและหลอดเลือดเมื่ออายุมากขึ้น เรื่องการรับประทานไขมันทรานที่มีอยู่ในขนมทอดกรอบที่มีอยู่หลากหลายก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่ง นอกจากนี้ ลักษณะหรือรูปแบบการใช้ชีวิตที่นั่งโต๊ะทำงาน ไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย ไม่ออกกำลังกายก็เป็นความเสี่ยงที่ส่งเสริมการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้นด้วย ในปัจจุบันโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นโรคที่พบว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ดังนั้น เมื่อมาพิจารณาการป้องกันหรือลดการเกิดการเสียชีวิตจากโรคเหล่านี้ การลดความเสี่ยงโดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ส่งเสริมการเกิดโรค คือ การรับประทานอาหารให้เหมาะสม การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การออกกำลังกาย นอกจากนี้ มีการศึกษาที่พบว่า การที่สตรีให้นมแม่แก่ลูกไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหรือการให้ลูกได้กินนมแม่บางส่วน (partial breastfeeding) สามารถช่วยลดการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้1 เมื่อเป็นเช่นนั้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่เป็นพื้นฐานของสุขภาพและมีประโยชน์อีกหลายอย่างทั้งแก่มารดาและทารกควรจะมีการส่งเสริมการปฏิบัติ และประชาสัมพันธ์หรือสื่อสารให้มารดาและคนในสังคมทราบ เพื่อช่วยกันรณรงค์ส่งเสริมให้คนไทยได้มีสุขภาพที่ดีขึ้นในอนาคต

เอกสารอ้างอิง

  1. Kirkegaard H, Bliddal M, Stovring H, et al. Breastfeeding and later maternal risk of hypertension and cardiovascular disease – The role of overall and abdominal obesity. Prev Med 2018;114:140-8.