คลังเก็บหมวดหมู่: ข่าวสาร

ข่าวสาร

การให้เบี้ยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หลังคลอด

IMG_2920

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ? ?สภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันต้องการการแข่งขันสูง ดังนั้นการให้เบี้ยหรือเงินสนับสนุนให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่มีการศึกษา โดยมีการศึกษาเปรียบเทียบการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาที่ได้รับเบี้ยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในช่วงหกเดือนหลังคลอดกับมารดาที่ไม่ได้รับเบี้ยสนับสนุน พบว่าในมารดาที่ได้รับเบี้ยสนับสนุนมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่สูงกว่ากลุ่มเปรียบเทียบทั้งในระยะหลังคลอด 1 เดือน 3 เดือน และที่หกเดือน แต่อย่างไรก็ตามพบว่า อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวไม่แตกต่างกัน1 จึงควรมีการศึกษาเพิ่มเติมในรายละเอียด เพื่อวิเคราะห์ถึงประโยชน์และความคุ้มค่าของการให้เบี้ยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แก่มารดาหลังคลอด

เอกสารอ้างอิง

  1. Washio Y, Humphreys M, Colchado E, et al. Incentive-based Intervention to Maintain Breastfeeding Among Low-income Puerto Rican Mothers. Pediatrics 2017;139.

 

การใช้วัฒนธรรมการพัฒนาคุณภาพในการเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

IMG_3480

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ?ทุกโรงพยาบาลในปัจจุบันต้องมีการดำเนินการด้านการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล โดยหากเป็นโรงพยาบาลภาครัฐ สิ่งที่ต้องดำเนินการคือการพัฒนาคุณภาพตามเกณฑ์ของสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาลหรือที่โรงพยาบาลต่างๆ รู้จักคุ้นเคยกันในชื่อ HA (Hospital Accreditation) ซึ่งหลักการคือการสร้างวัฒนธรรมการพัฒนาคุณภาพให้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติและเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่จะช่วยให้มีการบริหารจัดการงานได้อย่างมีคุณภาพและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเมื่อมีการนำไปใช้ในการส่งเสริมสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จึงมีส่วนช่วยในการเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ มีการศึกษาที่ใช้การพัฒนางานคุณภาพ โดยใช้หลักการวางแผน การดำเนินงาน การติดตามตรวจสอบ และการปรับปรุงการทำงานอย่างต่อเนื่อง (plan-do-check-act) มาดำเนินงานในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยการติดตามตัวชี้วัด การอยู่กันของมารดาและทารกตลอด 24 ชั่วโมงและการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อพบว่า พบว่าสามารถเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทั้งในระยะที่มารดาได้รับการอนุญาตให้กลับบ้านและเมื่อติดตามเยี่ยมหลังคลอดได้1

เอกสารอ้างอิง

  1. Ward LP, Williamson S, Burke S, Crawford-Hemphill R, Thompson AM. Improving Exclusive Breastfeeding in an Urban Academic Hospital. Pediatrics 2017;139.

การตั้งครรภ์โดยไม่ได้วางแผนและอายุบิดาที่น้อยเป็นอุปสรรคในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

IMG_1606

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? หากมารดาตั้งครรภ์โดยไม่ได้มีการวางแผนหรือเป็นการตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจ จะพบความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์และการคลอด โดยเฉพาะในมารดาที่อายุน้อยหรือมารดาวัยรุ่น ซึ่งจะส่งผลต่อการมีความเสี่ยงที่จะเกิดทารกน้ำหนักตัวน้อยหรือคลอดก่อนกำหนดได้ เมื่อทารกมีภาวะแทรกซ้อนมักมีความจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดที่หอผู้ป่วยทารกวิกฤต ทำให้เป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นอกจากนี้ บิดาที่เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หากเป็นการตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจ การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของบิดาก็จะน้อย และมักพบบิดาที่อายุน้อยร่วมกับการที่มารดาอายุน้อยหรือมารดาวัยรุ่น ซึ่งความรับผิดชอบหรือการให้การสนับสนุนมารดาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะน้อยด้วย มีการศึกษาถึงความตั้งใจของบิดาต่อการตั้งครรภ์และผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่พบว่า หากการตั้งครรภ์เป็นการตั้งครรภ์ที่ไม่ได้ตั้งใจและบิดาอายุน้อยจะมีผลต่อระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ควรถือเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Wallenborn JT, Masho SW, Ratliff S. Paternal Pregnancy Intention and Breastfeeding Duration: Findings from the National Survey of Family Growth. Matern Child Health J 2017;21:554-61.

 

ต้องเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นานแค่ไหน จึงลดความเสี่ยงที่ลูกจะอ้วนได้

img_2095

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ? เป็นที่ทราบกันดีว่า การให้ลูกกินนมแม่จะช่วยให้ลูกลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคอ้วนเมื่อเจริญเติบโตขึ้น เนื่องจากลักษณะของการกินนมแม่จะช่วยสร้างนิสัยการกินนมแม่เมื่อทารกมีอาการหิว และทารกสามารถมีส่วนร่วมในการควบคุมการดูดและการกินนมด้วยตนเอง ซึ่งจะสร้างลักษณะที่เหมาะสมในการกินอาหาร ซึ่งจะแตกต่างจากการป้อนนมผงดัดแปลงสำหรับทารกทุกครั้งที่ทารกร้อง แต่ต้องฝึกให้ลูกคุ้นเคยกับลักษณะการกินนมแม่นานแค่ไหน มีการศึกษาพบว่า หากให้ลูกได้กินนมแม่นานอย่างน้อย 4 เดือนจะช่วยลดความเสี่ยงที่ทารกจะอ้วนเมื่อทารกอายุ 4 ขวบได้ประมาณร้อยละ 50 หรือลดได้ถึงครึ่งหนึ่งของความเสี่ยงที่จะเกิดโรคอ้วน1 อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนยังมีประโยชน์ในด้านอื่นๆ ด้วย ดังนั้น การแนะนำให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังคงเน้นให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือน หลังจากนั้น ให้อาหารเสริมตามวัยร่วมกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่องจนกระทั่งสองปีหรือนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของมารดาและทารก

เอกสารอ้างอิง

  1. Wallby T, Lagerberg D, Magnusson M. Relationship Between Breastfeeding and Early Childhood Obesity: Results of a Prospective Longitudinal Study from Birth to 4 Years. Breastfeed Med 2017;12:48-53.

การเพิ่มให้ความรู้เรื่องนมแม่หลังคลอดด้วย ช่วยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวได้

IMG_3535

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ? ?การให้ความรู้แก่มารดาและครอบครัวมีความสำคัญต่อการตัดสินใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องเริ่มการให้ความรู้ การเน้นให้เห็นถึงความสำคัญในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในระยะฝากครรภ์ และให้ความรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อการเตรียมตัว เตรียมความพร้อมของมารดาและครอบครัวเพื่อที่จะเริ่มให้ลูกได้กินนมแม่ตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอด นอกจากนี้ การติดตามให้ความรู้เพิ่มเพื่อช่วยในการแก้ปัญหาที่พบบ่อยหลังคลอดยังช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย โดยมีการศึกษาการให้ความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หลังคลอดที่สัปดาห์ที่สองและสัปดาห์ที่หกหลังคลอดเพิ่มเติมจากการสอนในระยะก่อนคลอดพบว่า ช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนได้1 สิ่งนี้ย้ำให้เห็นถึงความต่อเนื่องของการติดตามการให้ความรู้เป็นระยะๆ จะช่วยเพิ่มให้มารดาเข้าใจประโยชน์และสามารถแก้ไขปัญหาการปฏิบัติในการคงความต่อเนื่องในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ดีขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Vural F, Vural B. The effect of prenatal and postnatal education on exclusive breastfeeding rates. Minerva Pediatr 2017;69:22-9.