คลังเก็บหมวดหมู่: ข่าวสาร

ข่าวสาร

การฉีดยาชาเข้าไขสันหลังระหว่างการคลอดช่วยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การดูแลระหว่างการคลอดมีความสำคัญต่อการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่รวมทั้งวิธีการคลอด โดยทั่วไประหว่างการเจ็บครรภ์คลอดและคลอดบุตร จะมีการใช้ยาแก้ปวดในกลุ่มมอร์ฟีนและใช้ยาชาเฉพาะที่ฉีดที่ฝีเย็บหากมีการตัดฝีเย็บช่วยในระหว่างการคลอดบุตร ซึ่งการใช้ยาแก้ปวดในกลุ่มมอร์ฟีนอาจมีผลต่อมารดาและทารกหลังคลอดโดยทำให้มารดาและทารกง่วงซึม ซึ่งมีผลเสียต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในกรณีที่มีการใช้ยาแก้ปวดในช่วงใกล้กับระยะของการคลอดมาก ทางเลือกของการลดความเจ็บปวดในระหว่างการคลอดวิธีหนึ่งคือ การฉีดยาชาเข้าไขสันหลัง (epidural anesthesia) ซึ่งลดการเจ็บปวดระหว่างการเจ็บครรภ์คลอดได้ดี ทำให้มีผลดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 แต่ต้องอาศัยการดูแลอย่างใกล้ชิดของวิสัญญีแพทย์ จึงต้องพิจารณาการเลือกใช้ในสถานพยาบาลที่มีความเหมาะสม ดังนั้น สถานพยาบาลที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ควรวางแนวทางในการดูแลการคลอดให้เหมาะสมกับบริบทของตนเอง เพื่อให้ดำเนินงานสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพและผู้ปฏิบัติงานทำงานได้อย่างมีความสุข

เอกสารอ้างอิง

  1. Grant GJ, Agoliati AP, Echevarria GC, Lax J. Epidural Analgesia to Facilitate Breastfeeding in a Grand Multipara. J Hum Lact 2018:890334418784269.

 

ข้อคิดในการผ่าตัดแก้ไขภาวะลิ้นติด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ภาวะลิ้นติดเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยที่เป็นสาเหตุที่ทำให้มารดามีอาการเจ็บหัวนมขณะทารกกินนม การวินิจฉัยภาวะลิ้นติดนั้นยังเป็นปัญหา ส่วนหนึ่งเนื่องจากการขาดความรู้ในการให้การวินิจฉัยและอาจขาดการตระหนักหรือใส่ใจในการตรวจทารกแรกเกิด อีกส่วนหนึ่งที่ยังพบว่าเป็นปัญหาคือ การแก้ไขภาวะลิ้นติดซึ่งยังขาดผู้ที่รับผิดชอบที่มีความรู้และประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาเพื่อพิจารณาการผ่าตัดรักษา นอกจากนี้ในการผ่าตัดรักษา มีการศึกษาพบว่าหากผ่าตัดแก้ไขภาวะลิ้นติดไม่เพียงพอที่จะช่วยให้เกิดการเคลื่อนของลิ้นได้เป็นปกติก็ยังเป็นผลที่ทำให้การผ่าตัดรักษาที่ไม่เพียงพอนั้นไม่ได้ผล1 สำหรับการที่จะให้การผ่าตัดให้เพียงพอในการแก้ไขภาวะลิ้นติดนั้นก็ยังขาดการกำหนดมาตรฐานที่แน่นอนว่าต้องผ่าตัดเท่าไรหรือต้องให้มีส่วนที่ลิ้นสามารถเคลื่อนไหวได้กี่มิลลิเมตรถึงจะเพียงพอ นี่ก็ยังเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ต้องการการวิจัยเพื่อหาข้อสรุปเพิ่มเติม ดังนั้นบุคลาการทางการแพทย์สหสาขาควรร่วมมือกันเพื่อจัดการความรู้ในเรื่องนี้ เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่จะนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติและพัฒนาความรู้ให้มีความชัดเจนมากขึ้นต่อไป

เอกสารอ้างอิง

  1. Ghaheri BA, Cole M, Mace JC. Revision Lingual Frenotomy Improves Patient-Reported Breastfeeding Outcomes: A Prospective Cohort Study. J Hum Lact 2018:890334418775624.

สื่อมีผลต่อทัศนคติของมารดาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? สื่อต่าง ๆ ที่มีอยู่ในสังคมมีผลต่อทัศนคติของมารดาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะสื่อเหล่านี้จะมีผลต่อการสร้างบรรยากาศที่จะเอื้อต่อการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การใช้สื่อในการสร้างบรรยากาศนั้น มีการศึกษาว่าช่วยชักนำให้เกิดความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้1 ดังนั้น การใช้สื่อที่เหมาะสมและหลากหลายเพื่อให้มารดาและครอบครัวมีทัศนคติที่ถูกต้องและดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงเป็นสิ่งจำเป็น บุคลากรทางการแพทย์ที่มีบทบาทในการส่งเสริม สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จึงควรหาโอกาสสร้างหรือเผยแพร่สื่อนมแม่ เพื่อช่วยให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้น อันจะเป็นประโยชน์แก่ทั้งตัวมารดา ทารก ครอบครัว และประเทศชาติ

เอกสารอ้างอิง

  1. Foss KA, Blake K. “It’s natural and healthy, but I don’t want to see it”: Using Entertainment-Education to Improve Attitudes Toward Breastfeeding in Public. Health Commun 2018:1-12.

การให้ทารกกินนมแม่ป้องกันการไอในผู้ใหญ่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? เป็นที่ทราบกันดีว่า ประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจในช่วงทารกอยู่ในวัยเด็ก แต่ผลในระยะยาวเมื่อทารกเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ยังมีการศึกษาน้อย แต่เริ่มมีการศึกษาผลในระยะยาวถึงผลดีต่อระบบการหายใจเมื่อทารกเติบใหญ่ ซึ่งผลการศึกษาพบว่าการที่ทารกกินนมแม่นานจะป้องกันการเกิดการไอที่เป็นซ้ำ ๆ ได้เกือบร้อยละ 301 เมื่อทารกเจริญวัยเป็นผู้ใหญ่โดยไม่ขึ้นอยู่กับการเป็นหอบหืดหรือมีการสูบบุหรี่ อย่างไรก็ตาม การศึกษาเพิ่มเติมเพื่อความชัดเจนของข้อมูลยังมีความจำเป็นในอนาคต? เพื่ออธิบายผลที่ดีที่มีประโยชน์ของนมแม่ต่อสุขภาพของระบบหายใจในระยะยาว

เอกสารอ้างอิง

  1. Gerhart KD, Stern DA, Guerra S, Morgan WJ, Martinez FD, Wright AL. Protective effect of breastfeeding on recurrent cough in adulthood. Thorax 2018.

การให้นมแม่ในทารกกลุ่มอาการดาวน์

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีมากมายในหลาย ๆ ด้าน ทั้งช่วยในเรื่องภูมิคุ้มกันและพัฒนาการของทารก ซึ่งในทารกกลุ่มอาการดาวน์การได้รับนมแม่ก็เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อทารกเช่นกัน แต่การที่จะให้ทารกกลุ่มอาการดาวน์กินนมแม่ได้ ต้องมีการประเมินการดูดนมของทารก เพราะทารกกลุ่มอาการดาวน์จะมีกล้ามเนื้อที่อ่อนแรง อาจมีผลต่อการที่จะสร้างแรงดูดขณะทารกดูดนมจากเต้า นอกจากนี้ ทารกกลุ่มอาการดาวน์มักมีลิ้นคับปาก ทำให้การเข้าเต้าหรือการอมหัวนมและลานนมทำได้ไม่ดี ซึ่งอาจต้องมีการเลือกจัดท่าการให้นมลูกที่เหมาะสมที่จะช่วยให้ทารกสามารถอมหัวนมและลานนมได้ลึกพอ การประเมินทารกกลุ่มอาการดาวน์จึงมีความสำคัญเนื่องจากทารกกลุ่มอาการดาวน์บางคนอาจมีอาการน้อยสามารถดูดนมแม่จากเต้าได้เลย แต่ในทารกกลุ่มอาการดาวน์บางคนอาจมีอาการมาก การเริ่มต้นให้นมแม่อาจให้โดยการใช้สายยางต่อหลอดฉีดยา หรือป้อนถ้วยไปก่อน จนกว่าทารกจะมีพัฒนาการดีขึ้น เจริญเติบโตขึ้น เข้าเต้าดูดนมจากเต้านมได้เอง ซึ่งการให้คำแนะนำและให้ปรึกษามารดาอย่างเหมาะสมจะช่วยเพิ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในทารกกลุ่มอาการดาวน์ได้ นอกจากนี้ หากสามารถป้องกันและลดความเจ็บป่วยของทารกกลุ่มอาการดาวน์ลงได้ ก็จะช่วยให้การคงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง เพราะปัจจัยที่พบว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการหยุดการกินนมแม่ในทารกกลุ่มอาการดาวน์เกิดจากการที่ทารกเจ็บป่วยต้องนอนโรงพยาบาล1

เอกสารอ้างอิง

  1. Genova L, Cerda J, Correa C, Vergara N, Lizama M. Good health indicators in children with Down syndrome: High frequency of exclusive breastfeeding at 6 months. Rev Chil Pediatr 2018;89:32-41.