คลังเก็บหมวดหมู่: ข่าวสาร

ข่าวสาร

การใช้ยาป้องกันการตกเลือดหลังคลอดกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            การที่มารดามีการตกเลือดหลังคลอดจะมีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่การใช้ยาป้องกันการตกเลือดหลังคลอดคือ ออโทซิแบน (Atosiban) จะมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือไม่นั้น ยังขาดการศึกษา แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ยาป้องกันการตกเลือดหลังคลอดคือ ออโทซิแบนกับผลของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่พบว่า การใช้ยาป้องกันการตกเลือดหลังคลอดออโทซิแบนไม่มีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 ดังนั้น หากบุคลากรทางการแพทย์มีการใช้ยาป้องกันการตกเลือดหลังคลอดอาจไม่ต้องมีความกังวลต่อเรื่องของผลของการใช้ยาต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่สิ่งที่ต้องกังวลมากกว่าคือ การควบคุมหรือป้องกันมารดาให้ไม่มีการตกเลือดหลังคลอด ซึ่งจะช่วยลดผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากกว่า

เอกสารอ้างอิง

  1. Lopez Gomez L, Marin Gabriel MA, Encinas B, de la Cruz Troca JJ, Rodriguez Marrodan B. Oxytocin Receptor Antagonist (Atosiban) in the Threat of Preterm Birth: Does It Have Any Effect on Breastfeeding in the Term Newborn? Breastfeed Med 2018;13:123-8.

การกินนมแม่ป้องกันสายตาสั้นในเด็ก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            นมแม่ประโยชน์มีหลายอย่าง  ทั้งที่มีการศึกษาที่มีผลชัดเจนแล้วและกำลังเริ่มมีการศึกษา เรื่องสายตาสั้นก็เช่นเดียวกัน ในประเทศจีนมีการศึกษาถึงความสัมพันธ์ของการกินนมแม่กับสายตาสั้นในเด็กอายุ 6-12 ปี พบว่า  ทารกที่กินนมแม่จะป้องกันการเกิดสายตาสั้นในเด็กได้ราวร้อยละ 50-601 ในเรื่องนี้เพิ่งมีการเริ่มการศึกษา กลไกการป้องกันการเกิดสายตาสั้นมีการพยายามจะอธิบาย อย่างไรก็ตาม นับเป็นข้อสังเกตที่จะนำไปสู่ความรู้ใหม่ที่อาจจะเพิ่มผลประโยชน์จากการที่ทารกได้กินนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Liu S, Ye S, Wang Q, Cao Y, Zhang X. Breastfeeding and myopia: A cross-sectional study of children aged 6-12 years in Tianjin, China. Sci Rep 2018;8:10025.

การให้นมแม่ช่วยเรื่องโรคหัวใจและหลอดเลือดในมารดา

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            ปัจจุบันอาหารที่เรารับประทานมักไม่เหมาะสมทำให้มีความเสี่ยงต่อเรื่องโรคหัวใจและหลอดเลือดเมื่ออายุมากขึ้น เรื่องการรับประทานไขมันทรานที่มีอยู่ในขนมทอดกรอบที่มีอยู่หลากหลายก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่ง นอกจากนี้ ลักษณะหรือรูปแบบการใช้ชีวิตที่นั่งโต๊ะทำงาน ไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย ไม่ออกกำลังกายก็เป็นความเสี่ยงที่ส่งเสริมการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้นด้วย ในปัจจุบันโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นโรคที่พบว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ดังนั้น เมื่อมาพิจารณาการป้องกันหรือลดการเกิดการเสียชีวิตจากโรคเหล่านี้ การลดความเสี่ยงโดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ส่งเสริมการเกิดโรค คือ การรับประทานอาหารให้เหมาะสม การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การออกกำลังกาย นอกจากนี้ มีการศึกษาที่พบว่า การที่สตรีให้นมแม่แก่ลูกไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหรือการให้ลูกได้กินนมแม่บางส่วน (partial breastfeeding) สามารถช่วยลดการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้1 เมื่อเป็นเช่นนั้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่เป็นพื้นฐานของสุขภาพและมีประโยชน์อีกหลายอย่างทั้งแก่มารดาและทารกควรจะมีการส่งเสริมการปฏิบัติ และประชาสัมพันธ์หรือสื่อสารให้มารดาและคนในสังคมทราบ เพื่อช่วยกันรณรงค์ส่งเสริมให้คนไทยได้มีสุขภาพที่ดีขึ้นในอนาคต

เอกสารอ้างอิง

  1. Kirkegaard H, Bliddal M, Stovring H, et al. Breastfeeding and later maternal risk of hypertension and cardiovascular disease – The role of overall and abdominal obesity. Prev Med 2018;114:140-8.

ประโยชน์ของนมแม่ในการป้องกันมะเร็ง

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            ประโยชน์ของนมแม่มีหลายอย่าง  ทั้งในเรื่องสารอาหารที่มีอยู่อย่างครบถ้วนและเหมาะสมรวมถึงช่วยในเรื่องภูมิคุ้มกันที่ดีและควบคุมระบบภูมิคุ้มกันให้ทำงานเป็นปกติ นอกจากนี้ ยังมีส่วนช่วยในการป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านมในมารดา ซึ่งมะเร็งเต้านมในปัจจุบันเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของการตายของสตรีที่พบจากมะเร็ง ลดการเกิดมะเร็งรังไข่และมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก สำหรับในทารก การที่ทารกกินนมแม่จะลดการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาว (acute lymphocytic leukemia) และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Hodgkin’s lymphoma) ในวัยเด็ก และยังมีข้อมูลจากการวิจัยที่บ่งชี้ว่าการกินนมแม่อาจช่วยลดการเกิดมะเร็งไทรอยด์ด้วย1 ดังนั้น นอกจากการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะช่วยลดการเสียชีวิตของทารกแรกเกิดแล้วยังน่าจะช่วยลดการเสียชีวิตจากมะเร็งเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้น ดังนั้น หากมีดูแลตนเองและมีปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม ทารกยุคใหม่ที่กินนมแม่ก็น่าจะมีอายุที่ยืนยาวขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Kim H, Kim KY, Baek JH, Jung J. Are pregnancy, parity, menstruation and breastfeeding risk factors for thyroid cancer? Results from the Korea National Health and Nutrition Examination Survey, 2010-2015. Clin Endocrinol (Oxf) 2018.

เรื่องเล่าประสบการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ไม่ว่าจะเป็นการจัดกลุ่มนมแม่หรือเป็นการสื่อสารในชุมชน เรื่องเล่าประสบการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ล้วนช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 การแบ่งปันประสบการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นการให้ความรู้ด้วยเรื่องเล่าที่ฟังง่าย ใช้ภาษาที่สะดวกในการเข้าใจ ทำให้การสื่อสารหรือสิ่งที่ต้องการถ่ายทอดบรรลุผล มารดาและผู้ที่สนใจสามารถนำประสบการณ์จากเรื่องเล่านั้นมาปรับใช้กับปัญหาหรืออุปสรรคที่คล้ายกันโดยทำให้มารดาผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ไปได้ด้วยดี อย่างไรก็ตาม หลังการแบ่งปันประสบการณ์ ควรมีการสรุปประเด็นที่สามารถนำไปใช้ เพื่อให้มารดาที่อาจจะจับประเด็นที่สำคัญไม่ทัน สามารถฟังเนื้อหาที่สรุปเนื้อหาที่สำคัญอีกครั้ง ซึ่งจะช่วยทบทวนและส่งเสริมความเข้าใจของมารดาที่ถูกต้อง

เอกสารอ้างอิง

  1. Keitt SH, Reis-Reilly H, Fuller-Sankofa N, Carr M. Breastfeeding in the Community: Sharing Stories on Implementations That Work. J Hum Lact 2018;34:285-303.