คลังเก็บหมวดหมู่: ข่าวสาร

ข่าวสาร

การใช้สื่อดีวีดีในการเพิ่มความรู้แก่บุคลากรทางการแพทย์

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            ในการให้ความรู้และฝึกทักษะในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แก่มารดานั้น บุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่ยังขาดความรู้และความมั่นใจในการให้คำปรึกษา ให้ความรู้ และทักษะในการดูแลหรือจัดการให้ทารกสามารถกินนมแม่ได้ การใช้สื่อที่มีการเตรียมอย่างเหมาะสมสำหรับการเพิ่มความรู้และทักษะในการสอนมารดาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จะสามารถที่จะเพิ่มความรุ้และความมั่นใจของบุคลากรที่ต้องสอนมารดาในการให้นมลูกได้ โดยสื่อที่ใช้ที่มีการศึกษาได้แก่ ดีวีดี1 ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์สามารถเปิดดูและศึกษาก่อนการสอนหรือให้ความรู้แก่มารดา โดยการที่ได้ดูดีวีดีก่อนการสอนจะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่บุคลาการทางการแพทย์ที่เป็นผู้สอนด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Ma YY, Wallace LL, Qiu LQ, Kosmala-Anderson J, Bartle N. A randomised controlled trial of the effectiveness of a breastfeeding training DVD on improving breastfeeding knowledge and confidence among healthcare professionals in China. BMC Pregnancy Childbirth 2018;18:80.

การให้นมแม่ช่วยป้องกันการทอดทิ้งทารก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            การที่มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยการเริ่มต้นการให้นมลูกตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอด จะช่วยสร้างสายสัมพันธ์ความผูกพันระหว่างมารดาและทารกร่วมกับระยะเวลาที่ให้นมลูก ยิ่งมีการให้นมลูกนาน ความผูกพันจะยิ่งมาก ซึ่งจะช่วยป้องกันการทอดทิ้งทารกและการคุกคามทางเพศเมื่อทารกเจริญวัยเข้าสู่วัยเด็ก1 ปัญหาทางด้านสังคมที่พบมากในปัจจุบันอาจลดลงได้หากสายสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกมีความเหนียวแน่นและช่วยยึดโยงสายสัมพันธ์ของครอบครัว ดังนั้น การวางรากฐานสุขภาพที่ดีของทารก มารดา รวมทั้งครอบครัวสามารถเริ่มต้นด้วยการให้ลูกได้กินนมแม่และกินนมแม่ให้ยาวนานที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Kremer KP, Kremer TR. Breastfeeding Is Associated with Decreased Childhood Maltreatment. Breastfeed Med 2018;13:18-22.

ไม่ควรละเลยบิดาในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            ในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ บทบาทของบิดาไม่ควรจะถูกละเลย เนื่องจากความคิดเห็นและทัศนคติที่ดีของบิดาจะมีผลดีต่ออัตราการเลี้ยงลูกแม่1 ดังนั้น การใส่ใจและเปิดโอกาสให้บิดาได้ร่วมเข้าเรียนรู้หรือมีประสบการณ์ร่วมในการอบรมความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรมีการสนับสนุนและเอาใจใส่ หากบิดามีทัศนคติที่ดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แล้ว จะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดา สนับสนุนและให้กำลังใจมารดา แบ่งเบาภาวะครอบครัวที่จะช่วยให้มารดาคงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อไปได้ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่บุคลากรควรเรียนรู้และสนับสนุนให้เกิดการดำเนินงานในโรงพยาบาลที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Johnston JT, Jr. Incorporating “Father-Friendly” Breastfeeding Language in Maternity Settings. J Perinat Neonatal Nurs 2018;32:112-5.

 

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมุมมองของแม่ที่เป็นผดุงครรภ์

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            ในกรณีที่มารดาเป็นบุคลากรทางการแพทย์เองที่มีความรู้และความเข้าใจถึงประโยชน์และความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นอย่างดี ในกรณีนี้มารดามักตั้งเป้าหมายการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไว้สูง เมื่อเกิดปัญหาที่ทำให้จำเป็นต้องหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มักจะทำให้มารดามีความเครียด เนื่องจากไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ตั้งไว้ได้1 แม้ว่าเรื่องของการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะเป็นเรื่องตามธรรมชาติ ที่บางครั้งทารกจะเริ่มปฎิเสธนมแม่เองเมื่ออายุของทารกเริ่มเพิ่มขึ้น ตัวอย่างนี้อาจแสดงให้เห็นถึงความคาดหวังที่สูงของบุคลากรทางการแพทย์อาจจะไม่สอดคล้องกับเป้าหมายในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดา สามารถสร้างให้เกิดความกดดันหรือความเครียดให้แก่มารดาได้ มุมมองเมื่อผดุงครรภ์มีบทบาทเป็นแม่เองได้สะท้อนถึงความคาดหวังที่เกิดขึ้นนี้

เอกสารอ้างอิง

  1. LoGiudice JA. A Breastfeeding Journey Through the Eyes of a Midwife Mother. Nurs Womens Health 2018;22:96-5.

 

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            การให้ลูกได้กินนมแม่ของมารดามีผลในการป้องกันการเกิดมะเร็งในมารดาหลายอย่าง ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ รวมทั้งมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มีการศึกษาพบว่า การที่มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้ โดยระยะเวลาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทุก 6 เดือนจะช่วยลดการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกลงร้อยละ 71 ดังนั้น จะเห็นว่าระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยิ่งมากยิ่งลดการเกิดมะเร็ง สิ่งนี้ควรสื่อสารและให้คำปรึกษาแก่มารดาและครอบครัวทราบเพื่อจะให้เห็นความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และสร้างเสริมทัศนคติที่ดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อันจะส่งผลต่อความตั้งใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งจะเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Ma X, Zhao LG, Sun JW, et al. Association between breastfeeding and risk of endometrial cancer: a meta-analysis of epidemiological studies. Eur J Cancer Prev 2018;27:144-51.