คลังเก็บหมวดหมู่: ข่าวสาร

ข่าวสาร

นักศึกษาแพทย์และนักศึกษาทันตแพทย์มีทัศนคติที่ดีและตั้งใจจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                จากการศึกษาที่ผ่านมา มักพบว่าบุคลากรทางการแพทย์ขาดความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จึงอาจจะมีคำถามในใจว่า แล้วในกลุ่มนักษึกษาแพทย์และทันตแพทย์ละจะยังคงขาความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วยหรือไม่ มีการศึกษาเรื่องนี้ในมาเลเซ๊ยพบว่า นักศึกษาแพทย์และทันตแพทย์ที่เรียนในปีสุดท้ายขาดความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยยังมีความเข้าใจที่ผิดว่าสามารถให้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกได้เมื่อทารกหิว นมแม่สามารถอื่นให้ร้อนด้วยความร้อนได้ และนมแม่ที่เก็บแช่เย็นเมื่อนำมาใช้แล้วเหลือสามารถเก็บแช่เย็นใหม่ได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อดูข้อมูลทางด้านทัศนคติพบว่า นักศึกษาแพทย์และทันตแพทย์มีทัศนคติที่ดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และเมื่อมีครอบครัวและมีบุตรก็มีความตั้งใจที่จะเลี้ยงดูบุตรด้วยนมแม่1 แม้ว่าการมีทัศนคติที่ดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ แต่จากการทีนักศึกษาแพทย์และทันตแพทย์ปีสุดท้ายยังขาดความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สะท้อนถึงการขาดกระบวนการที่จะสร้างให้เกิดการเรียนรู้ในเรื่องการเลี้ยงลุกด้วยนมแม่ที่เหมาะสม โดยอาจจะต้องมีการทบทวนหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน และการประเมินในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อให้แพทย์หรือทันตแพทย์เมื่อจบการศึกษาแล้วมีความรู้ที่เหมาะสมในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Mohamad N, Saddki N, Azman KNK, Aziz IDA. Knowledge, Attitude, Exposure, and Future Intentions toward Exclusive Breastfeeding among Universiti Sains Malaysia Final Year Medical and Dental Students. Korean J Fam Med 2019.

ให้นมแม่อย่างน้อยสามเดือนลดความเสี่ยงมะเร็งรังไข่ในมารดา

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ประโยชน์อย่างหนึ่งของการให้ลูกได้กินนมแม่คือ ลดหรือป้องกันการเกิดมะเร็งรังไข่ในมารดา มีการศึกษาเพิ่มเติมจากการเก็บข้อมูลของมารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสหรัฐอเมริกาพบว่า การที่มารดาให้นมทารกอย่างน้อยสามเดือนจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งรังไข่ชนิดเยื่อบุผิว (epithelial ovarian cancer) ได้ นอกจากนี้ การให้นมแม่นานขึ้นหรือการที่มารดามีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่อายุที่น้อยยังมีผลช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งรังไข่เพิ่มขึ้นด้วย1 จะเห็นว่า มะเร็งที่เป็นสาเหตุการตายอันดับต้น ๆ ในสตรี ได้แก่  มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ อาจรวมถึงมะเร็งมดลูก ล้วนแล้วแต่สามารถลดความเสี่ยงหรือป้องกันการเกิดได้จากการให้ลูกได้กินนมแม่ ซึ่งเท่ากับว่า การให้ลูกกินแม่อาจเป็นยาอายุวัฒนะที่ทำให้มารดามีอายุเฉลี่ยที่ยาวนานขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Modugno F, Goughnour SL, Wallack D, et al. Breastfeeding factors and risk of epithelial ovarian cancer. Gynecol Oncol 2019.

ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคในการให้นมแม่เมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดขึ้นบ่อยครั้งในหลาย ๆ ประเทศรวมทั้งในประเทศไทย เช่น อุทกภัย วาตภัย สึนามิ และภัยจากแผ่นดินไหว การให้ทารกได้กินนมแม่ในระหว่างการเกิดภัยพิบัตินั้นจะช่วยลดความเสี่ยงจากอันตรายจากการติดเชื้อและลดการเสียชีวิตของทารกได้ อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาพบว่าอุปสรรคของการให้นมแม่ในระหว่างการเกิดภัยพิบัติที่พบ1 ได้แก่

  • การให้การสนับสนุนที่ไม่เหมาะสมทางสังคม เช่น การให้นมผงดัดแปลงสำหรับทารก ซึ่งปัญหาที่ตามมาคือการจัดหาน้ำสะอาดเพื่อการชงนมสำหรับทารก
  • การไม่มั่นใจในตนเองว่าจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาเมื่อเกิดภัยพิบัติ
  • ความรู้ที่ถูกต้องของบุคลากรทางการแพทย์ในเรื่องการให้นมทารก
  • การมีพื้นที่ส่วนตัวที่เหมาะสมสำหรับให้นมทารก

              ความเข้าใจถึงปัจจัยที่เป็นอุปสรรคเหล่านี้ จะช่วยให้ผู้บริหารจัดการดูแลเรื่องภัยพิบัติและบุคลากรทางการแพทย์ผู้รับผิดชอบสามารถจัดการดูแลปัญหาอุปสรรคของการให้นมแม่ที่จะเกิดในระหว่างภัยพิบัติได้

เอกสารอ้างอิง

  1. MirMohamadaliIe M, Khani Jazani R, Sohrabizadeh S, Nikbakht Nasrabadi A. Barriers to Breastfeeding in Disasters in the Context of Iran. Prehosp Disaster Med 2019;34:20-4.

การพัฒนาเครื่องมือในการวัดความเชื่อมั่นของมารดาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ความตั้งใจและความเชื่อมั่นของมารดาว่าสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่มีผลต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีการพัฒนาเครื่องมือที่ใช้ประเมินการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หลายอย่าง เช่น ประเมินการเข้าเต้าด้วยคะแนนการเข้าเต้า (LATCH SCORE) ประเมินการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย Breast feeding assessment tool หรือ Breastfeeding assessment score เป็นต้น แต่ยังขาดการประเมินความเชื่อมั่นของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดา เมื่อเร็ว ๆ นี้ สหรัฐอเมริกาได้มีการศึกษาและพัฒนาเครื่องมือที่ใช้ประเมินความเชื่อมั่นของมารดาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ได้แก่ The Prenatal Rating of Efficacy in Preparation to Breastfeed Scale ของมารดาที่ตั้งครรภ์ ซึ่งจากการประเมินความตรงและความน่าเชื่อถือของแบบประเมินพบว่ามีแม่นยำสูง1 ดังนั้น การคัดกรองเพื่อประเมินมารดาที่มีความเชื่อมั่นต่ำเพื่อการให้คำปรึกษาอย่างเหมาะสมและใกล้ชิดจะเป็นประโยชน์ อย่างไรก็ตาม การนำเครื่องมือชนิดนี้มาใช้ควรต้องตรวจสอบข้อจำกัดของการประเมินและอาจจะต้องมีการศึกษาในกลุ่มประชากรของไทยเพื่อทดสอบความตรงและความเชื่อมั่นในกลุ่มประชากรก่อนที่จะนำมาใช้

เอกสารอ้างอิง

  1. McKinley EM, Knol LL, Turner LW, et al. The Prenatal Rating of Efficacy in Preparation to Breastfeed Scale: A New Measurement Instrument for Prenatal Breastfeeding Self-efficacy. J Hum Lact 2019;35:21-31.

มารดาหลังคลอดที่ให้ลูกกินนมแม่มีเซ็กส์เสื่อมจริงไหม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ภาวะผิดปกติของการมีเพศสัมพันธ์ในสตรี (female sexual dysfunction) หมายถึง สตรีมีความต้องการทางเพศหรือมีความพึงพอใจทางเพศผิดปกติ หรือจะใช้คำแทนที่สั้น ๆ ว่า “เซ็กส์เสื่อม” เพื่อให้เข้าใจง่าย ในมารดาที่ตั้งครรภ์และคลอดบุตรมีรายงานว่าพบภาวะผิดปกติของการมีเพศสัมพันธ์ในสตรีในช่วงที่มารดาตั้งครรภ์ในไตรมาสที่สามและช่วงระยะหนึ่งปีหลังคลอดเพิ่มขึ้น คำอธิบายสำหรับการเปลี่ยนแปลงนี้น่าจะเป็นจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในระยะตั้งครรภ์และหลังคลอด นอกจากนี้ การให้ลูกกินนมแม่ทำให้มารดาคงสภาพของฮอร์โมนในระยะหลังคลอดนานขึ้น จึงอาจมีผลต่อภาวะผิดปกติของการมีเพศสัมพันธ์ในสตรี1 แต่ก็มีบางรายงานพบว่าการให้นมแม่ทำให้ความรู้สึกทางเพศดีขึ้น โดยอธิบายจากการเปลี่ยนแปลงความไวต่อการตอบสนองความรู้สึกที่เต้านมมีความไวมากขึ้นและการที่มีฮอร์โมนออกซิโทซินเพิ่มในขณะให้นมแม่ อาจช่วยเพิ่มการตอบสนองในการถึงจุดสุดยอด แม้ว่ายังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน แต่การให้คำปรึกษาแก่มารดาว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงของความต้องการทางเพศหรือความพึงพอใจทางเพศได้ในระยะตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรให้มารดามีความเข้าใจและเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น มารดาก็จะพร้อมที่จะปรับตัวหรือเมื่อเกิดปัญหาในเรื่องเหล่านี้ก็จะมีความพร้อมที่จะขอรับคำปรึกษา เพื่อส่งเสริมสุขภาวะทางเพศของมารดาที่ดีและไม่ไปขัดขวางการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Matthies LM, Wallwiener M, Sohn C, Reck C, Muller M, Wallwiener S. The influence of partnership quality and breastfeeding on postpartum female sexual function. Arch Gynecol Obstet 2019;299:69-77.