คลังเก็บหมวดหมู่: ข่าวสาร

ข่าวสาร

ยาดมสลบมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือไม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                อย่างที่ทราบกันดีแล้วว่า การผ่าตัดคลอดเป็นอุปสรรคต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยทำให้มารดาเริ่มต้นเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช้า ซึ่งในระหว่างการผ่าตัด หากมีการให้ยาดมสลบ ยาเหล่านี้อาจมีผลต่อการรับรู้และสติของมารดาหลังคลอดหากมารดามีอาการง่วงหลับหรือทำให้มารดาไม่ได้สติหลังจากคลอด อย่างไรก็ตาม ยาที่เลือกใช้ในระหว่างการดมสลบมักจะออกฤทธิ์สั้น จึงมีผลเสียน้อย ควรหลีกเลี่ยงยาดมสลบที่ออกฤทธิ์ยาวบางตัว เช่น diazepam และ meperidine นอกจากนี้ หากทารกคลอดก่อนกำหนด หรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่นร่วมด้วย ความเสี่ยงจากการใช้ยาจะเพิ่มขึ้น1 ดังนั้น การป้องกันที่ดี ควรฝากครรภ์ตั้งแต่เริ่มทราบว่าตั้งครรภ์ ดูแลครรภ์ร่วมกับแพทย์เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือความเสี่ยงที่ต้องผ่าตัดคลอด ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากการใช้ยาดมสลบได้ไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งจะทำให้การเริ่มการกินนมแม่เริ่มได้เร็ว โอกาสที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำเร็จก็จะสูง

เอกสารอ้างอิง

  1. Oliveira MRE, Santos MG, Aude DA, Lima RME, Modolo NSP, Lima L. [Should maternal anesthesia delay breastfeeding? A systematic review of the literature]. Rev Bras Anestesiol 2019.

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวช่วยเรื่องพัฒนาการทางด้านภาษาของทารก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                เป็นที่ทราบกันดีว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยในเรื่องภูมิคุ้มกันของทารก ช่วยลดการเสียชีวิตของทารกและเด็กเล็กและยังช่วยเรื่องความเฉลียวฉลาดของทารกด้วย นอกจากนี้ยังมีการศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวกับพัฒนาการทางด้านภาษาของทารก ซึ่งพบว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวช่วยพัฒนาการทางด้านภาษาของทารกโดยช่วยให้ทารกเริ่มพูดคำเดี่ยว และการใช้คำปฏิเสธ แม้ว่าในการศึกษานี้จะมีกลุ่มตัวอย่างที่มีขนาดน้อย แต่ก็เป็นจุดเรื่มต้นของการให้ความสนใจในเรื่องพัฒนาการทางด้านภาษากับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว1 ยังมีความจำเป็นที่ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงรายละเอียดของความสัมพันธ์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวว่าจะต้องมีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อยกี่เดือน และนอกจากพัฒนาการทางด้านภาษาในการเริ่มพูดคำเดี่ยวแล้ว ยังมีพัฒนาการด้านใดที่มีความสัมพันธ์กับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อีก บุคลากรทางการแพทย์ที่สนใจจึงอาจจะทบทวนความรู้และทำการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อนำผลมาใช้ในการให้คำปรึกษามารดาและครอบครัวถึงรายละเอียดของความสำคัญและประโยชน์ของนมแม่ที่มีต่อทารก

เอกสารอ้างอิง

  1. Novayelinda R, Rahmadhani N, Hasanah O. Does exclusive breastfeeding correlate with infant’s early language milestone? Enferm Clin 2019.

ท้องเสียทำให้อายุเฉลี่ยลดลงจากการที่ทารกไม่ได้กินนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ภาวะท้องเสียยังเป็นสาเหตุการตายของทารกและเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่าห้าปีที่สำคัญในบางประเทศโดยเฉพาะในทวีปแอฟริกา ซึ่งการเสียชีวิตของทารกหรือเด็กเล็กจากอาการท้องเสียส่งผลต่ออายุเฉลี่ยของประชากรในภาพรวมที่ลดลง เนื่องจากการกินนมแม่สามารถจะลดการเสียชีวิตจากการท้องเสียได้1 ดังนั้น จากความสัมพันธ์นี้ การที่มารดามีการให้นมแม่จะช่วยไม่ให้ทารกเสียชีวิต ก็จะทำให้อายุเฉลี่ยของประชากรในภาพรวมดีขึ้นด้วย การที่จะเพิ่มให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้น ต้องมีกระบวนการการสนับสนุนให้เกิดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หลาย ๆ อย่าง เช่น การให้ความรู้แก่มารดาและครอบครัวถึงความสำคัญและประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และการปฏิบัติตามนโยบายของโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก เป็นต้นจึงเป็นสิ่งที่บุคลากรทางการแพทย์ควรสนับสนุนให้มีกระบวนการที่ช่วยให้เกิดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สูงขึ้นและช่วยในการลดการเสียชีวิตชองทารกและเด็กเล็กให้น้อยลงและช่วยให้อายุเฉลี่ยของประชากรภาพรวมดีขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Ogbo FA, Okoro A, Olusanya BO, et al. Diarrhoea deaths and disability-adjusted life years attributable to suboptimal breastfeeding practices in Nigeria: findings from the global burden of disease study 2016. Int Breastfeed J 2019;14:4.

 

 

อารมณ์และความรู้สึกในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาที่คลอดทารกก่อนกำหนด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

               ทารกที่คลอดก่อนกำหนดมักจะมีปัญหาและอุปสรรคในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เนื่องจากทารกมักมีภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ การหายใจเร็ว การติดเชื้อ และความไม่พร้อมของกล้ามเนื้อและระบบประสาทในการที่ทารกจะดูดนมแม่จากเต้า แม้ว่าการที่ทารกได้กินนมแม่จะเป็นประโยชน์แก่ทารกที่คลอดก่อนกำหนด แต่อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในทารกที่คลอดก่อนกำหนดพบว่ายังมีอัตราที่ต่ำกว่าทารกที่คลอดครบกำหนด การที่บุคลากรทางการแพทย์มีความเข้าใจถึงอารมณ์และความรู้สึกของมารดาในการที่จะให้ลูกกินนมแม่น่าจะเป็นประโยชน์ในการให้คำปรึกษากับมารดาที่คลอดทารกก่อนกำหนด มีการศึกษาถึงอารมณ์และความรู้สึกในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาที่คลอดทารกก่อนกำหนดพบว่า มารดาที่พบปัญหาและอุปสรรคจนล้มเหลวในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะมีความรู้สึกผิดและโทษตนเองที่ไม่สามารถให้นมลูกได้ ขณะที่มารดาที่รู้สึกดีหรือมีความสุขที่ให้ลูกได้กินนมแม่มักจะประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และเหตุผลที่มารดาให้นมแม่ในระยะแรกนั้นเพราะเป็นจากเป็นสิ่งที่ควรทำ ไม่ได้เกิดจากความเห็นความสำคัญที่ทำให้แรงบันดาลใจหรือการที่ไม่ได้ให้นมแม่ก็ไม่ได้เป็นเพราะเห็นถึงความยากลำบากในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 ดังนั้นการให้คำแนะนำในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาที่คลอดก่อนกำหนดควรแนะนำให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยแนะนำให้มารดาเห็นประโยชน์และความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และให้มารดาตัดสินใจด้วยตนเองในการเลือกที่จะให้ลูกกินนมแม่หรือเลี้ยงลูกด้วยนมผงดัดแปลงสำหรับทารก โดยไม่ควรตำหนิหรือทำให้มารดารู้สึกผิดในการให้ที่ไม่ได้ให้ลูกกินนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Niela-Vilen H, Axelin A, Salantera S, Melender HL. A Typology of Breastfeeding Mothers of Preterm Infants: A Qualitative Analysis. Adv Neonatal Care 2019;19:42-50.

การสอนเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในโรงเรียนควรมีหรือไม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ในอดีตเรื่องเพศศึกษานั้นเป็นเรื่องที่ลึกลับ ผู้ใหญ่หรือครูในโรงเรียนไม่ค่อยอยากที่จะกล่าวถึง ซึ่งส่งผลเสียต่อการเรียนรู้ โดยนักเรียนจะได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องจากเพื่อนหรือจากแหล่งข้อมูลที่ไม่ได้มีการศึกษาที่เหมาะสม ทำให้เกิดการปฏิบัติในเรื่องของเพศศึกษาที่ไม่เหมาะสมไปด้วย ในปัจจุบันมีการจัดการเรียนการสอนเรื่องเพศศึกษาในโรงเรียน ซึ่งทำให้การเรียนรู้ของนักเรียนในเรื่องเพศศึกษาดีขึ้น ทีนี้มถึงคำถามที่ว่า แล้วควรมีการเรียนการสอนเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในโรงเรียนหรือไม่ มีการศึกษาสำรวจความคิดเห็นของครูในโรงเรียนในประเทศเลบานอนพบว่า ครูส่วนใหญ่มีเห็นด้วยว่าควรจะมีการเรียนการสอนเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในโรงเรียนเพื่อเป็นการเรียนรู้ที่ต่อยอดจากการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษา อย่างไรก็ตาม ควรมีทำความเข้าใจถึงเรื่องการเรียนการสอนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กับผู้ปกครอง นักเรียน และครูใหญ่ เพื่อให้มีความเข้าใจที่ตรงกันถึงวัตถุประสงค์และความคาดหวังของการเรียนการสอนเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย1

เอกสารอ้างอิง

  1. Moukarzel S, Mamas C, Farhat A, Daly AJ. Getting schooled: teachers’ views on school-based breastfeeding education in Lebanon. Int Breastfeed J 2019;14:3.