คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลสุขภาพหลังคลอด

การดูแลสุขภาพหลังคลอด

การกินปลามีประโยชน์แต่อาจเสี่ยงต่อการได้รับสารปรอท

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การรับประทานปลา เป็นสิ่งที่ได้รับการแนะนำว่า มารดาตั้งครรภ์และเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ควรจะรับประทาน เนื่องจากเนื้อปลาย่อยง่ายและยังเป็นแหล่งของกรดไขมันที่จำเป็นและมีประโยชน์ต่อการพัฒนาของสมอง ซึ่งได้แก่ ดีเอชเอ อย่างไรก็ตาม การรับประทานปลาในปัจจุบันต้องระมัดระวังความเสี่ยงที่จะได้รับสารปรอทที่สะสมอยู่ในปลา1 โดยปริมาณปรอทที่พบขึ้นอยู่กับชนิดของปลา ปลาที่ควรหลีกเลี่ยงเนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะพบสารปรอทมาก ได้แก่ ปลาคิงแมกเคอเรล (King mackerel) ปลาฉลาม ปลาทูน่า ดังนั้น การเลือกรับประทานปลาควรต้องเลือกชนิดของปลาที่รับประทานให้เหมาะสมด้วย โดยสามารถดูปริมาณและชนิดของปลาที่แนะนำให้รับประทานได้จากประกาศขององค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาปี 2017 โดยค้นคำว่า Advice about eating fish

เอกสารอ้างอิง

  1. Yusa V, Perez R, Suelves T, et al. Biomonitoring of mercury in hair of breastfeeding mothers living in the Valencian Region (Spain). Levels and predictors of exposure. Chemosphere 2017;187:106-13.

การได้กินนมแม่ส่งผลให้วัยรุ่นอ้วนลดลง

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ก่อนหน้านี้ ได้มีการศึกษาถึงผลของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อดัชนีมวลกายในทารกที่กินนมแม่ โดยพบว่า ในช่วงวัยเด็ก ทารกที่กินนมแม่จะพบมีภาวะอ้วนน้อยกว่าทารกที่ไม่ได้กินนมแม่ แต่ผลต่อดัชนีมวลกายหรือภาวะอ้วนนั้น จะส่งผลต่อเนื่องไปยาวนานแค่ไหน คำตอบของคำถามนี้อาจเป็นเรื่องที่ตอบลำบาก อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาถึงดัชนีมวลกายของวัยรุ่นที่มีประวัติการกินนมแม่ พบว่าวัยรุ่นที่กินนมแม่มีดัชนีมวลกายเฉลี่ยน้อยกว่าวัยรุ่นที่ไม่ได้กินนมแม่ โดยความสัมพันธ์นี้ขึ้นกับความยาวนานของช่วงระยะเวลาที่กินนมแม่ในวัยทารกด้วย1 ดังนั้น การวางแผนป้องกันภาวะอ้วนของลูก เมื่อเจริญเติบโตขึ้น อาจเริ่มได้ตั้งแต่การสนับสนุนให้ลูกได้กินนมแม่ยาวนานตราบเท่าที่ลูกต้องการ ซึ่งหากป้องกันภาวะอ้วนในลูกได้ ก็นับเป็นการเตรียมการสำหรับสุขภาพที่ดีที่จะลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดและโรคหัวใจในอนาคต

เอกสารอ้างอิง

  1. Zamora-Kapoor A, Omidpanah A, Nelson LA, Kuo AA, Harris R, Buchwald DS. Breastfeeding in Infancy Is Associated with Body Mass Index in Adolescence: A Retrospective Cohort Study Comparing American Indians/Alaska Natives and Non-Hispanic Whites. J Acad Nutr Diet 2017;117:1049-56.

การชักนำการคลอดส่งผลให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดลง

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ปัจจุบันเมื่อมารดาอายุครรภ์ครบกำหนดคลอดแล้ว หากมารดายังไม่มีการเจ็บครรภ์คลอด การวางแผนการชักนำการคลอดโดยการให้ยากระตุ้นให้เกิดการเจ็บครรภ์คลอดเป็นหนึ่งในวิธีการดูแลการคลอดที่สูติแพทย์มักนิยมให้การดูแลครรภ์ในครรภ์ที่ครบกำหนด สำหรับยาที่ใช้ในการกระตุ้นให้เกิดการเจ็บครรภ์คลอด ได้แก่ พรอสตราแกลนดิน (prostaglandin) และออกซิโทซิน (oxytocin) มีการศึกษาถึงภาวะเครียดและความวิตกกังวลในมารดาที่อายุครรภ์ครบกำหนดคลอดแล้วได้รับการกระตุ้นการเจ็บครรภ์หรือการชักนำการคลอด พบว่า มารดากลุ่มนี้มีความเครียดและความวิตกกังวลสูงกว่ามารดาที่ไม่ได้รับการชักนำการคลอด และเมื่อติดตามผลของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่พบว่า ในระยะแรกหลังคลอดก่อนมารดากลับบ้านอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาในกลุ่มที่ได้รับการชักนำการคลอดกับกลุ่มที่ไม่ได้รับการชักนำการคลอดไม่แตกต่างกัน แต่เมื่อติดตามต่อในช่วงหนึ่งถึงสามเดือนพบว่ามารดาในกลุ่มที่ชักนำการคลอดมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญ1 เป็นไปได้ว่า การชักนำการคลอดรวมถึงความเครียดของมารดาในกลุ่มที่ได้รับการชักนำการคลอด อาจส่งผลลบต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Zanardo V, Bertin M, Sansone L, Felice L. The adaptive psychological changes of elective induction of labor in breastfeeding women. Early Hum Dev 2017;104:13-6.

แก๊สดมสลบอาจไม่ส่งผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ? ?เป็นที่ทราบกันดีว่า การให้ยาระงับความรู้สึกและยาแก้ปวดในระหว่างการคลอดส่งผลเสียต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาและทารก แต่เนื่องจากการปวดในระหว่างการเจ็บครรภ์คลอดสูง การใช้การแพทย์ทางเลือกหลาย ๆ อย่างจึงถูกนำมาใช้ในการลดความเจ็บปวด เช่น การฝังเข็ม การฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การนวด สำหรับยาดมสลบในแพทย์แผนปัจจุบัน แก๊สดมสลบเป็นยาระงับความรู้สึกปวดที่ออกฤทธิ์เร็วและหมดฤทธิ์เร็วเช่นกัน จึงมีผู้นำมาศึกษาถึงผลการใช้แก๊สดมสลบ (Nitrous oxide) กับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งผลพบว่าช่วยลดความเจ็บปวดระหว่างเจ็บครรภ์คลอดได้โดยอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่ได้ลดลงเมื่อเทียบกับมารดาที่ไม่ได้ใช้แก๊สดมสลบ1 อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ยังเป็นการศึกษาแบบศึกษาข้อมูลแบบย้อนหลัง (retrospective) ยังมีอคติ (bias) ในการวิจัยได้สูง การจะนำผลการศึกษานี้ไปใช้อาจต้องรอข้อมูลที่มีการควบคุมตัวแปรที่ดีกว่านี้และมีจำนวนขนาดตัวอย่างที่มากเพียงพอ ดังนั้น ในการอ่านข้อมูลต่าง ๆ ควรพิจารณาในข้อเท็จจริงข้อนี้ด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Zanardo V, Volpe F, Parotto M, Giiberti L, Selmin A, Straface G. Nitrous oxide labor analgesia and pain relief memory in breastfeeding women. J Matern Fetal Neonatal Med 2017:1-22.

การใช้โทรศัพท์มือถืออย่างเหมาะสมช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ?ในยุคเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โทรศัพท์มือถือกลายเป็นปัจจัยที่ 5 คล้ายกับว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นในชีวิต การเลือกใช้โทรศัพท์มือถืออย่างเหมาะสม ส่งเสริมให้ชีวิตง่ายขึ้น โดยหากมีการใช้โทรศัพท์มือถือในการช่วยเตือน ส่งเสริมสุขภาพรวมทั้งสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ มีการศึกษาถึงการใช้โทรศัพท์มือถือส่งข้อความเตือนและสื่อสารแบบสองทางในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทุกสัปดาห์ช่วยให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ดีขึ้นแม้ว่าจะเป็นมารดาในกลุ่มที่ติดเชื้อเอชไอวี1 ดังนั้น จะเห็นว่า การใช้เทคโนโลยีอย่างเป็นประโยชน์สามารถช่วยให้การใช้ชีวิตที่รวดเร็วง่ายขึ้น ยังคงเปี่ยมไปด้วยคุณค่าและความงดงาม โดยดึงเวลาที่เหลือกลับมาใช้กับการรักษ์สุขภาพ สร้างชีวิต ส่งเสริมสิ่งดี ๆ โดยเริ่มต้นด้วยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อันเป็นคุณค่าที่ดีที่สุดที่ส่งมอบจากแม่สู่ลูก

เอกสารอ้างอิง

  1. Zunza M, Cotton MF, Mbuagbaw L, Lester R, Thabane L. Interactive weekly mobile phone text messaging plus motivational interviewing in promotion of breastfeeding among women living with HIV in South Africa: study protocol for a randomized controlled trial. Trials 2017;18:331.