คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลสุขภาพหลังคลอด

การดูแลสุขภาพหลังคลอด

อายุของบิดาที่น้อยเพิ่มโอกาสที่ลูกจะไม่ได้กินนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ? การสนับสนุนของบิดาถือว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนช่วยในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดา ซึ่งหากบิดามีความเข้าใจถึงประโยชน์และความจำเป็นที่ลูกควรจะกินนมแม่แล้ว การที่จะสนับสนุนให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็จะมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จและให้ลูกได้กินนมแม่ยาวนานเท่าที่ต้องการ อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาพบว่าบิดาที่อายุน้อย คือ อายุ 18-24 ปี หากมีภรรยาตั้งครรภ์โดยไม่ได้มีการเตรียมตัว จะมีความเสี่ยงที่จะพบว่าลูกไม่ได้กินนมแม่สูงกว่าบิดาที่มีความตั้งใจจะมีบุตรถึง 2.3 เท่า1 ดังนั้น ปัจจัยในเรื่องอายุของบิดาที่น้อยจะมีความสัมพันธ์กับการตั้งครรภ์ของมารดาโดยไม่มีการเตรียมความพร้อมสูง ซึ่งการไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมจะส่งผลต่อการขาดความรู้หรือตระหนักถึงความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ทำให้อาจไม่ได้ให้การสนับสนุนให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และท้ายที่สุดก็ทำให้ทารกไม่ได้กินนมแม่ ในกลุ่มที่บิดามีอายุน้อยจึงควรถือเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่บุคลากรทางการแพทย์ควรใส่ใจและให้ความสนใจที่จะสร้างความตระหนักรู้และเห็นประโยชน์ของนมแม่จนมีส่วนช่วยในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Wallenborn JT, Masho SW, Ratliff S. Paternal Pregnancy Intention and Breastfeeding Duration: Findings from the National Survey of Family Growth. Matern Child Health J 2017;21:554-61.

เบาหวานระหว่างตั้งครรภ์กับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ?การตรวจพบเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ในมารดาถือเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่มารดาอาจพบภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ในระหว่างการตั้งครรภ์และการคลอดได้สูงขึ้น โดยความเสี่ยงจะขึ้นอยู่กับชนิดของเบาหวานที่พบในระหว่างการตั้งครรภ์ ซึ่งในมารดาที่พบว่ามีภาวะแทรกซ้อนของหลอดเลือดจากการตรวจดูที่จอประสาทตา หรือมีความผิดปกติของค่าการกำจัดของเสียในไตแล้ว จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายในระหว่างการตั้งครรภ์และการคลอดสูง ซึ่งหากเกิดภาวะแทรกซ้อนในมารดาและทารก สิ่งเหล่านี้ก็อาจเป็นอุปสรรคต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ โดยทำให้มารดาเริ่มต้นการให้นมลูกได้ช้า ซึ่งจะส่งผลต่อการมาของน้ำนมที่ช้า โดยหากขาดการกระตุ้นการดูดนมที่สม่ำเสมอด้วย จะส่งผลต่อปริมาณน้ำนมได้ อย่างไรก็ตาม ในมารดาที่มีเบาหวานในระหว่างการตั้งครรภ์ที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ในกลุ่มนี้มีการศึกษาว่าไม่ได้เป็นอุปสรรคและไม่มีผลต่อระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่สั้นลง แต่การให้ความรู้ในเรื่องประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กลับมีความสำคัญต่อระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากกว่า1 ดังนั้น การใส่ใจกับการให้ความรู้ให้มารดาและครอบครัวตระหนักถึงความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ควรถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นเบื้องต้นที่ต้องให้แก่มารดาและครอบครัว เพื่อช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ไม่ว่ามารดาจะมีเบาหวานระหว่างการตั้งครรภ์หรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ หรือไม่ก็ตาม

เอกสารอ้างอิง

  1. Wallenborn JT, Perera RA, Masho SW. Breastfeeding after Gestational Diabetes: Does Perceived Benefits Mediate the Relationship? J Pregnancy 2017;2017:9581796.

การให้นมลูกช่วยลดระดับน้ำตาลของมารดาในระยะหลังคลอด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การที่มารดาให้นมลูกจะช่วยในการลดน้ำหนักให้มารดามีน้ำหนักกลับสู่ระยะก่อนการตั้งครรภ์ได้ดีกว่า เนื่องจากมารดามีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นในระหว่างการให้นมลูก ช่วยป้องกันการตกเลือดหลังคลอดได้ ป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านม และยังมีแนวโน้มในการช่วยป้องกันโรคที่เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดในอนาคตได้ นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาถึงเรื่องการช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของมารดาที่เป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ในช่วงหนึ่งปีหลังคลอด1 ดังนั้น อาจจะเป็นข้อดีเพิ่มเติมในการที่มารดาให้นมลูกแล้ว จะช่วยลดระดับน้ำตาลในกลุ่มมารดาที่มีความเสี่ยงในการเกิดเบาหวานในอนาคต

เอกสารอ้างอิง

  1. Yasuhi I, Soda T, Yamashita H, et al. The effect of high-intensity breastfeeding on postpartum glucose tolerance in women with recent gestational diabetes. Int Breastfeed J 2017;12:32.

การผ่าตัดคลอดซ้ำยังเสี่ยงต่อการลดการให้ลูกกินนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การผ่าตัดคลอดนั้นนอกจากมีความเสี่ยงต่อการตกเลือดหลังคลอดและภาวะแทรกซ้อนจากการดมยาสลบที่สูงขึ้นแล้ว ยังส่งผลต่อการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยทำให้ลูกได้นมแม่ช้าหรือไม่ได้กินนมแม่ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า การเริ่มต้นการให้ลูกได้กินนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรกเป็นปัจจัยที่สำคัญที่มีผลต่ออัตราและระยะเวลาการกินนมแม่ในเวลาต่อไป นอกจากนี้ เมื่อมารดาผ่าตัดคลอดไปแล้ว โอกาสที่มารดาจำเป็นต้องผ่าตัดคลอดซ้ำจะมีสูง ในกรณีที่มารดาผ่าตัดซ้ำ ผลของการผ่าตัดคลอดซ้ำยังคงทำให้มารดามีความเสี่ยงต่อการไม่ได้เริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สูงกว่ามารดาที่คลอดทางช่องคลอดถึงร้อยละ 761 ดังนั้น อย่าไปยึดติดกับค่านิยมการเลือกเวลาหรือนัดผ่าตัดคลอดตามฤกษ์ การผ่าตัดคลอดควรกระทำเมื่อมีข้อจำเป็นหรือข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนเท่านั้น เพื่อประโยชน์ต่อตัวมารดาเองและเพิ่มโอกาสที่ลูกจะได้กินนมแม่ในระยะแรกหลังคลอด

เอกสารอ้างอิง

  1. Wallenborn JT, Graves WC, Masho SW. Breastfeeding Initiation in Mothers with Repeat Cesarean Section: The Impact of Marital Status. Breastfeed Med 2017;12:227-32.

ให้ลูกกินนมแม่นานลดความเสี่ยงในนการเกิดหอบหืดในเด็ก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? นมแม่ช่วยลดการเกิดภูมิแพ้และช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันของทารกต่อโรคต่าง ๆ ที่มารดาเคยเจ็บป่วยและมีภูมิคุ้มกัน การส่งต่อภูมิคุ้มกันจากมารดาสู่ทารกจะผ่านนมแม่ โดยกระบวนการการกระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดขาวในระบบน้ำเหลืองที่อยู่ในลำไส้ทารก เม็ดเลือดขาวของมารดาที่อยู่ในนมแม่จะสื่อสารส่งผ่านข้อมูลของเชื้อโรคที่มารดาเคยได้รับการกระตุ้นและก่อให้เกิดภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะช่วยให้เม็ดเลือดขาวของทารกรู้จักเชื้อโรคเหล่านี้และสามารถสร้างเกราะป้องกันในกรณีที่ได้รับเชื้อโรคเหล่านี้ มีผลทำให้ลดหรือป้องกันการติดเชื้อโรคได้ ขณะเดียวกันการกระตุ้นการทำงานของระบบน้ำเหลืองในลำไส้จะช่วยให้กลไกการสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคต่าง ๆ เข้าที่ ลดการเกิดภูมิแพ้ และการเกิดการทำงานที่สับสนของภูมิคุ้มกันที่อาจทำให้มีภูมิต้านต่อร่างกายตนเอง ด้วยกลไกเหล่านี้ การเกิดภูมิแพ้ หรือภาวะภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติจะพบได้น้อยกว่าในทารกที่ได้รับนมแม่ แต่ต้องได้รับนมแม่มากแค่ไหนและนานเท่าไรจึงจะช่วยให้กลไกนี้จัดระบบได้ดี มีการศึกษาถึงผลของการกินนมแม่ต่อการเกิดอาการหอบหืด พบว่าทารกที่กินนมแม่ตั้งแต่ 10 เดือนขึ้นไปจะลดความเสี่ยงในการเกิดอาการหอบหืดในเด็กอายุ 3 ปี โดยยิ่งให้นมแม่นานยิ่งลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการหอบหืดมากขึ้น1 ดังนั้น ไม่เพียงแค่ การดูแลให้ลูกได้กินนมแม่อย่างเดียวหกเดือน หลังจากหกเดือนแรกไปแล้วยังต้องให้นมแม่ต่อเนื่องร่วมกับอาหารตามวัยจนครบสองปีหรือนานกว่านั้น ก็น่าจะได้รับผลดีที่มีประโยชน์จากนมแม่ได้อย่างเต็มที่

เอกสารอ้างอิง

  1. Watanabe JI, Tanaka K, Nagata C, Furukawa S, Arakawa M, Miyake Y. Breastfeeding duration is inversely associated with asthma in Japanese children aged 3 years. J Asthma 2017:1-6.