คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลสุขภาพหลังคลอด

การดูแลสุขภาพหลังคลอด

ความผูกพันระหว่างมารดาและทารกช่วยพัฒนาสมอง

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ระหว่างการให้นมลูก ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมารดาและบุตร มีความสำคัญต่อพัฒนาการ ซึ่งจะมีความเชื่อมโยงไปสู่การจัดระบบการทำงานของสมอง ทารกที่ได้รับความรักความผูกพันจะเจริญเติบโตเป็นผู้ที่มีความสมบูรณ์ทางอารมณ์และมีความยืดหยุ่นในการใช้ชีวิต ส่วนทารกที่ขาดการได้รับความผูกพันจะขาดความมั่นใจในตนเอง และเข้ากับคนอื่นได้ลำบาก1 การให้มารดาได้โอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อเป็นการสร้างความรักความผูกพัน ดังนั้น จึงส่งผลต่อการพัฒนาสมอง อารมณ์ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการประสบความสำเร็จในการใช้ชีวิตเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้น เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ก็ไม่ควรพลาดที่จะโอบกอดลูกเนื้อแนบเนื้อตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอด

เอกสารอ้างอิง

  1. Hong YR, Park JS. Impact of attachment, temperament and parenting on human development. Korean J Pediatr 2012;55:449-54.

ความรักความผูกพันของแม่ช่วยพัฒนาการของลูก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ?ระหว่างที่แม่ให้นมลูกจะมีการหลั่งฮอร์โมนออกซิโทซินที่ช่วยกระตุ้นความรักความผูกพันระหว่างมารดาและทารก ความรักความผูกพันนี้จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการของทารกได้1 โดยในระหว่างที่มารดาให้นมลูก การจ้องตา สบตาซึ่งกันและกัน การพูดจาหยอกล้อ หรือสัมผัสใด ๆ ที่ให้แก่ทารกล้วนเป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้นพัฒนาการของทารก ดังนั้น จึงถือว่า ความรักความผูกพันของแม่ก็มีส่วนช่วยในพัฒนาการของลูกด้วย อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ในส่วนนี้ บางครั้งถูกมองข้าม จากการให้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกโดยการนำนมใส่ขวดแล้วทิ้งให้ทารกดูดนมอย่างเดียวดาย หรือแม้ว่าจะให้นมแม่ แต่ปั๊มใส่ขวดให้ทารกโดยปราศจากปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ซึ่งในยุคสังคม เศรษฐกิจที่เร่งรีบ การติดโทรศัพท์มือถือของมารดา โดยให้ความสนใจมือถือมากกว่าทารก อาจมีผลต่อพัฒนาการของทารกได้ถึงแม้จะเป็นการให้นมแม่ก็ตาม

เอกสารอ้างอิง

  1. Ovtscharoff W, Jr., Braun K. Maternal separation and social isolation modulate the postnatal development of synaptic composition in the infralimbic cortex of Octodon degus. Neuroscience 2001;104:33-40.

การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อช่วยการพัฒนาสมอง

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? การให้มารดาโอบกอดทารกสัมผัสเนื้อแนบเนื้อช่วยในการพัฒนาสมองของทารกโดยการกระตุ้นสมองส่วน Amygdala และ Limbic ผ่าน prefontal-orbital pathway ซึ่งบทบาทของสมองในส่วน Amygdala และ Limbic จะทำหน้าที่การเรียนรู้ทางด้านอารมณ์ ควบคุมความจำ และระบบประสาทอัตโนมัติ โดยสมองส่วน Amygdala และ Limbic กว่าจะมีการพัฒนาการจนสมบูรณ์จะเกิดขึ้นช่วงสองเดือนแรกหลังการเกิด การสัมผัสผิวของทารกเนื้อแนบเนื้อกับมารดาจะมีสัญญาณประสาทที่จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการของสมองส่วนนี้1 ดังนั้น การกระตุ้นด้วยการสัมผัสผิวจึงมีความสำคัญในการพัฒนาความสมบูรณ์ของสมองในช่วงแรก ๆ หลังการเกิด นอกจากนี้ ความผูกพันระหว่างมารดาและทารกยังมีส่วนในการกระตุ้นการเชื่อมต่อและระบบควบคุมการทำงานของระบบประสาทด้วย ซึ่งหากศึกษาถึงประวัติศาสตร์ของชนชาติต่าง ๆ ส่วนใหญ่มักจะมีกระบวนการโอบอุ้มทารกให้ทารกได้สัมผัสผิวกับมารดาตั้งแต่แรกคลอดจนถึง 1-2 ปีขึ้นอยู่กับแต่ละวัฒนธรรม ประโยชน์ในการพัฒนาสมองอาจเป็นคำอธิบายในการสั่งสอนการดูแลทารกที่บอกต่อกันมาตั้งแต่โบราณก็เป็นได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Ovtscharoff W, Jr., Braun K. Maternal separation and social isolation modulate the postnatal development of synaptic composition in the infralimbic cortex of Octodon degus. Neuroscience 2001;104:33-40.

การแยกแม่แยกลูกหลังคลอดเกิดผลเสียแก่ทารก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ?ในกระบวนการในการดูแลหลังคลอด หากไม่ได้เป็นโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกหรือโรงพยาบาลที่ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ในช่วงระยะแรกหลังคลอดจะมีโอกาสที่การให้การดูแลจะแยกมารดาไว้ที่หอผู้ป่วยหลังคลอด และแยกทารกไว้ที่ห้องเด็กอ่อน การแยกกันระหว่างมารดาและทารกจะเพิ่มความเสี่ยงและโอกาสที่ทารกจะเกิดความผิดปกติสูงขึ้นได้ เนื่องจากพบว่า ทารกที่แยกจากอกมารดามาอยู่ในห้องเด็กอ่อนจะพบว่าทารกจะร้องไห้บ่อยกว่าและร้องไห้นานกว่า โดยกระบวนการที่พบจากการแยกกันระหว่างมารดาและทารกที่พบในสัตว์ทดลอง ทารกจะมีพฤติกรรมประท้วง (protest) โดยการร้องไห้เรียกร้องความสนใจ แต่หากขาดการสนใจ ทารกก็จะมีพฤติกรรมสิ้นหวัง (despair) โดยการแยกตัว มีพัฒนาการที่ช้า น้ำหนักขึ้นน้อย ภูมิคุ้มกันลดลง ก้าวร้าว แยกตัวจากเพื่อน ซึ่งกระบวนการทางพฤติกรรมที่พบในสัตว์ทดลองนี้คาดว่าจะมีผลลักษณะเดียวกันกับทารกของมนุษย์ ดังนั้น การแยกแม่แยกลูกหลังคลอดต้องถือเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งต่อชีวิตทารกที่ควรหลีกเลี่ยงและไม่ควรให้สิ่งนี้เกิดขึ้นในกระบวนการการดูแลรักษาในมารดาและทารกที่ปกติและปราศจากภาวะแทรกซ้อน

เอกสารอ้างอิง

  1. Ovtscharoff W, Jr., Braun K. Maternal separation and social isolation modulate the postnatal development of synaptic composition in the infralimbic cortex of Octodon degus. Neuroscience 2001;104:33-40.

การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ ทำไมจึงเพิ่มความรักความผูกพัน

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ? การที่ทารกได้สัมผัสกับอกของมารดาโดยเนื้อแนบเนื้อจากการโอบกอดจะช่วยเพิ่มความรักความผูกพันระหว่างมารดาและทารก แล้วความรักความผูกพันระหว่างมารดาและทารกเพิ่มขึ้นได้อย่างไร มีคำอธิบายจากการที่ทารกได้สัมผัสผิวกับมารดาเนื้อแนบเนื้อจะกระตุ้นระบบประสาทการรับรู้ และมีผลต่อสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพและฮอร์โมนหลายตัว ได้แก่ โอปิออยด์ (opiod) ที่จะมีผลต่อการหลั่งสารเอนโดรฟิน (endorphin) ที่จะทำให้มารดามีความสุข โปรแลคตินที่จะช่วยในการสร้างน้ำนม และออกซิโทซินที่จะช่วยส่งเสริมความรักและความผูกพันระหว่างมารดาและทารก ความสัมพันธ์ของการหลั่งฮอร์โมนเหล่านี้ จะเห็นได้จากขณะที่มารดาคิดถึงทารก จะรู้สึกมีความรักความผูกพัน และมีน้ำนมไหล มีการศึกษาถึงผลของการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อที่มีผลต่อความรักความผูกพัน ได้จัดให้มีการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อในช่วงระยะแรกหลังคลอดตั้งแต่ 15-60 นาที จากนั้นติดตามผลพบว่า มารดาจะจูบและหอมทารก และจ้องหน้าทารกที่ระยะสามเดือนหลังคลอดมากกว่า มารดาจะอุ้ม สัมผัส และพูดเรื่องราวดี ๆ กับทารกที่ระยะหนึ่งปีหลังคลอดมากกว่า นอกจากนี้ ยังพบว่ามารดามาติดตามการนัดหมายมากกว่า และให้ลูกกินนมแม่นานขึ้นด้วย1

เอกสารอ้างอิง

  1. Widstrom AM, Wahlberg V, Matthiesen AS, et al. Short-term effects of early suckling and touch of the nipple on maternal behaviour. Early Hum Dev 1990;21:153-63.