คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลสุขภาพหลังคลอด

การดูแลสุขภาพหลังคลอด

ทารกจะพูดไม่ชัดไหม หากมีภาวะลิ้นติด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ? นอกจากปัญหาเรื่องการเจ็บหัวนมขณะทารกดูดนมแล้ว ปัญหาที่มารดามีความกังวลคือ กลัวว่าเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้นจะพูดไม่ชัด การพูดไม่ชัดอาจพบได้ในทารกที่มีภาวะลิ้นติด แต่ก็เป็นในบางคำหรือในบางตัวอักษรที่ออกเสียงยากในภาษาอังกฤษ เช่น ตัวอักษร L, R, S, Z, CH, TH ซึ่งไม่สามารถบอกได้ว่าทารกที่มีภาวะลิ้นติดคนใดจะออกเสียงไม่ชัดเมื่อเจริญเติบโตขึ้น เนื่องจากขึ้นอยู่กับความรุนแรงของภาวะลิ้นติด ความตึงของพังผืดใต้ลิ้น และการยึดหยุ่นของพังผืดใต้ลิ้นเมื่อเวลาผ่านไป แต่ภาวะลิ้นติดนี้ไม่ได้มีผลทำให้พัฒนาการในการพูดของทารกช้า ดังนั้น หากมารดาให้นมแม่จากการป้อนจากถ้วย เมื่อทารกโตขึ้นแล้วจึงฝึกดูดนมจากเต้า และมารดาไม่กังวลว่าลูกจะพูดไม่ชัดในบางคำหรือบางตัวอักษร ยอมรับได้ การผ่าตัดก็ไม่มีความจำเป็น แต่หากมารดามีความกังวลเรื่องลูกจะพูดไม่ชัดที่แม้ว่าจะไม่ได้เกิดทุกราย แต่มารดายอมรับไม่ได้หากทารกเกิดพูดไม่ชัดในบางคำหรือบางตัวอักษร แม้ว่าการผ่าตัดเมื่อทารกโตขึ้นในวัยเด็กหรือวัยผู้ใหญ่สามารถทำได้ แต่การขั้นตอนจะยุ่งยากและซับซ้อนกว่าการผ่าตัดในระยะแรกหลังคลอดใหม่ ๆ คำแนะนำสำหรับมารดาเหล่านี้ที่มีความวิตกกังวลมากคือ แนะนำให้ทำการผ่าตัดแก้ไขตั้งแต่ในระยะแรกเลย เพราะจะทำให้ลดทั้งการเจ็บหัวนมและความวิตกกังวลเรื่องการพูดของทารกเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้น เพิ่มความมั่นใจในการที่มารดาสามารถให้นมลูกจากเต้าได้ ซึ่งอาจจะเสริมพลังให้กับมารดาที่ส่งผลดีต่อระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Puapornpong P, Paritakul P, Suksamarnwong M, Srisuwan S, Ketsuwan S. Nipple Pain Incidence, the Predisposing Factors, the Recovery Period After Care Management, and the Exclusive Breastfeeding Outcome. Breastfeed Med 2017;12:169-73.
  2. Puapornpong P, Raungrongmorakot K, Mahasitthiwat V, Ketsuwan S. Comparisons of the latching on between newborns with tongue-tie and normal newborns. J Med Assoc Thai 2014;97:255-9.

 

หากมีภาวะลิ้นติดไม่ผ่าตัดรักษา เป็นไรไหม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ? ?ทารกที่มีภาวะลิ้นติด หากมีภาวะลิ้นติดเล็กน้อย มักไม่มีปัญหาที่จะทำให้มารดามีอาการเจ็บหัวนมหรือทำให้การเข้าเต้าได้ไม่ดี แต่ในทารกที่มีภาวะลิ้นติดปานกลางหรือรุนแรงจะมีโอกาสที่จะเกิดปัญหาในการดูดนมจากเต้าได้ ซึ่งในรายที่เกิดปัญหาพบว่าจะทำให้มารดาหยุดการให้นมแม่ก่อนเวลาอันควร สาเหตุก็อาจเกิดจากการเจ็บหัวนมขณะกินนมหรือทารกกินนมได้ไม่ดี มีน้ำหนักตัวขึ้นน้อย อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจว่าสาเหตุของการเจ็บหัวนมหรือเข้าเต้าไม่ดีเป็นจากภาวะลิ้นติด ควรมีการปรับเปลี่ยนท่าการให้นมให้เหมาะสมก่อนเสมอ เนื่องจากสาเหตุอันดับหนึ่งของการเจ็บหัวนมหรือเข้าเต้าไม่ดีเกิดจากการจัดท่าให้นมที่ไม่เหมาะสมมากกว่า สำหรับในกรณีที่มารดาตัดสินใจที่จะไม่ทำการผ่าตัดรักษา ข้อเสียคือในกรณีที่มารดามีอาการเจ็บหัวนม มารดาอาจหยุดให้นมแม่ก่อนเวลาอันควรเนื่องจากอาการเจ็บหัวนมหรือมีอาการแทรกซ้อนจากหัวนมแตก เต้านมอักเสบหรือฝีที่เต้านม หรือในอีกกรณีหนึ่งมารดาเลือกที่จะบีบหรือปั๊มนมแม่ ป้อนนมแม่จากถ้วยหรือใส่ขวดแล้วให้ลูกดูดนมจากขวดแทนการดูดนมแม่จากเต้า วิธีนี้ข้อดีคือทารกจะยังคงได้กินนมแม่ เมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้น ปากทารกกว้างขึ้น อมหัวนมและลานนมได้ลึกขึ้น ซึ่งมักใช้เวลาราวหนึ่งเดือน มารดาก็จะไม่เจ็บหัวนม การฝึกทารกให้กลับมากินนมแม่จากเต้าก็สามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม หากป้อนนมทารกจากถ้วย ทารกจะฝึกกินนมจากเต้าได้ง่ายกว่าการที่ทารกได้รับการป้อนนมแม่จากขวด

เอกสารอ้างอิง

1. Puapornpong P, Paritakul P, Suksamarnwong M, Srisuwan S, Ketsuwan S. Nipple Pain Incidence, the Predisposing Factors, the Recovery Period After Care Management, and the Exclusive Breastfeeding Outcome. Breastfeed Med 2017;12:169-73.

2. Puapornpong P, Raungrongmorakot K, Mahasitthiwat V, Ketsuwan S. Comparisons of the latching on between newborns with tongue-tie and normal newborns. J Med Assoc Thai 2014;97:255-9.

การผ่าตัดรักษาภาวะลิ้นติด น่ากลัวไหม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ? การผ่าตัดรักษาภาวะลิ้นติดในทารกแรกเกิดนั้น ถือเป็นการผ่าตัดเล็ก สามารถทำได้ที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอก ใช้เวลาผ่าตัดประมาณ 5 นาที ทารกไม่จำเป็นต้องดมยาสลบ ขั้นตอนของการผ่าตัด อาจใช้ยาชาทาบริเวณพังผืดใต้ลิ้นที่ต้องการจะผ่าตัด จากนั้นใช้กรรไกรตัดพังผืดออกเล็กน้อยถึงระยะที่จะทำให้ทารกขยับลิ้นยื่นไปข้างหน้าได้ ใช้ไม้พันสำลีกดหยุดเลือดครู่หนึ่ง เมื่อเลือดหยุดก็เสร็จสิ้นการผ่าตัด หลังผ่าตัดแล้ว สามารถให้ทารกดูดนมแม่ได้ทันที หลังการผ่าตัดอาการเจ็บเต้านมของมารดาจะลดลงหรือหายไป ทารกจะแลบลิ้นออกมาได้ดีขึ้น การเข้าเต้ากินนมของทารกก็จะดีขึ้นด้วย ส่วนใหญ่แผลจากการผ่าตัดจะหายสนิทในหนึ่งสัปดาห์หลังการผ่าตัด

เอกสารอ้างอิง

  1. Puapornpong P, Paritakul P, Suksamarnwong M, Srisuwan S, Ketsuwan S. Nipple Pain Incidence, the Predisposing Factors, the Recovery Period After Care Management, and the Exclusive Breastfeeding Outcome. Breastfeed Med 2017;12:169-73.
  2. Puapornpong P, Raungrongmorakot K, Mahasitthiwat V, Ketsuwan S. Comparisons of the latching on between newborns with tongue-tie and normal newborns. J Med Assoc Thai 2014;97:255-9.

ต้องรักษาอย่างไร หากลูกมีภาวะลิ้นติด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ?การที่ลูกมีภาวะลิ้นติด ส่วนใหญ่มักแบ่งความรุนแรงของภาวะลิ้นติดเป็นภาวะลิ้นติดเล็กน้อย ภาวะลิ้นติดปานกลาง และภาวะลิ้นติดรุนแรงตามระยะที่เว้นไม่มีพังผืดและการจำกัดการเคลื่อนไหวของลิ้น ภาวะลิ้นติดเล็กน้อยส่วนใหญ่มักไม่เป็นปัญหา ทารกยังสามารถดูดนมได้ การช่วยจัดท่าให้ทารกอมหัวนมและลานนมได้ลึก ทารกจะกินนมจากเต้านมมารดาได้ สำหรับทารกที่มีภาวะลิ้นติดปานกลางและรุนแรงจะมีโอกาสที่จะทำให้การเข้าเต้าไม่เหมาะสมและมารดาเจ็บหัวนมขณะทารกดูดนม แม้ว่าจะพยายามปรับการจัดท่าให้นมลูกแล้ว ซึ่งหากช่วยปรับท่าแล้วมารดายังมีอาการเจ็บหัวนมหรือทารกยังเข้าได้ไม่เหมาะสม การผ่าตัดรักษาก็เป็นทางเลือกที่เหมาะสมและช่วยให้มารดาไม่ทุกข์ทรมานจากอาการเจ็บหัวนมและทารกดูดนมจากเต้าได้ดีขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Puapornpong P, Paritakul P, Suksamarnwong M, Srisuwan S, Ketsuwan S. Nipple Pain Incidence, the Predisposing Factors, the Recovery Period After Care Management, and the Exclusive Breastfeeding Outcome. Breastfeed Med 2017;12:169-73.
  2. Puapornpong P, Raungrongmorakot K, Mahasitthiwat V, Ketsuwan S. Comparisons of the latching on between newborns with tongue-tie and normal newborns. J Med Assoc Thai 2014;97:255-9.

หากลูกมีภาวะลิ้นติดจะเป็นอะไรไหม

 

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ? หากตรวจพบว่าทารกแรกเกิดมีภาวะลิ้นติดอาจทำให้ทารกมีการจำกัดในการเคลื่อนไหวของลิ้น ซึ่งหากทำให้ทารกไม่สามารถแลบลิ้นออกไปวางอยู่ใต้ลานนม จะทำให้กลไกที่จะช่วยให้เกิดการระบายน้ำนมจากท่อน้ำนมที่อยู่ใต้ลานนมไม่สามารถเกิดได้ ทารกจึงต้องออกแรงในการดูดนมมากขึ้น เมื่อออกแรงในการดูดนมมากขึ้นแล้วยังไม่ช่วยให้น้ำนมไหลดี ทารกจะใช้เหงือกงับกดหัวนม ทำให้มารดาที่มีทารกมีภาวะลิ้นติดเกิดอาการเจ็บหัวนมขณะทารกดูดนมได้ ซึ่งลักษณะนี้แสดงถึงการเข้าเต้าที่ไม่เหมาะสม ทารกจะร้องไห้งอแงขณะกินนมเพราะดูดนมได้ไม่ดี เป็นผลทำให้ทารกมีน้ำหนักตัวขึ้นน้อยกว่าเกณฑ์ปกติ มารดาจึงอาจแก้ปัญหาโดยการให้ลูกกินนงผงดัดแปลงสำหรับทารกจากขวด ซึ่งการดูดนมจากขวดนั้นไม่ต้องการการยื่นลิ้นหรือแลบลิ้นออกมากดที่จุกนม น้ำนมจะไหลได้สะดวกและง่ายอยู่แล้วตามแรงโน้มถ่วงของโลกโดยทารกแทบจะไม่ต้องออกแรงดูด ทารกจึงติดการดูดนมจากจุกนม และทำให้หยุดการกินนมแม่ก่อนระยะเวลาอันควรได้ อีกกรณีหนึ่งคือ หากมารดาให้นมลูกไปทั้ง ๆ ที่มีอาการเจ็บหัวนม อาจทำให้เกิดหัวนมแตก เต้านมอักเสบ และฝีที่เต้านมตามมาได้ หากไม่ได้รับการดูแลที่ไม่เหมาะสม ซึ่งอาการเจ็บหัวนมและภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นนี้ทำให้มารดามีความเสี่ยงในการหยุดการให้นมลูกก่อนเวลาอันควรเช่นกัน

เอกสารอ้างอิง

  1. Puapornpong P, Paritakul P, Suksamarnwong M, Srisuwan S, Ketsuwan S. Nipple Pain Incidence, the Predisposing Factors, the Recovery Period After Care Management, and the Exclusive Breastfeeding Outcome. Breastfeed Med 2017;12:169-73.
  2. Puapornpong P, Raungrongmorakot K, Mahasitthiwat V, Ketsuwan S. Comparisons of the latching on between newborns with tongue-tie and normal newborns. J Med Assoc Thai 2014;97:255-9.