คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

การสักหรือการเจาะหัวนมมีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือไม่

368231_9144185_0

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ?ปัจจุบัน แฟชั่นการแต่งตัว มีความหลากหลายมากรวมถึงรสนิยมในการสัก หรือการเจาะส่วนต่างๆ ของร่างกาย?? ได้แก่ การเจาะหูหลายรู การระเบิดติ่งหู การเจาะจมูก เจาะปาก เจาะลิ้น เจาะสะดือและการเจาะหัวนม ซึ่งรายละเอียดของผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีดังนี้

? ? ? ? ? ?การสัก จะมีการฝังสีลงใต้ผิวหนัง เม็ดสีมีขนาดใหญ่ ไม่ได้ผ่านทางน้ำนม ดังนั้น มีความปลอดภัยในการให้นมลูก อย่างไรก็ตาม ต้องดูแลความสะอาดของอุปกรณ์ในการสักให้ดีและเหมาะสม เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อบาดทะยัก ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี และการติดเชื้อเอชไอวี

? ? ? ? ? ?การเจาะใส่ห่วงตามที่ต่างๆ ของร่างกาย หากดูแลความสะอาดของเครื่องมือได้ดี ไม่มีผลเสียในระหว่างการให้นมลูก ยกเว้น การเจาะหัวนม เนื่องจากจะมีแผลที่หัวนม ซึ่งอาจเกิดการติดเชื้ออักเสบของหัวนมและเต้านม การเจาะหัวนม หากต้องการทำควรทำก่อนการตั้งครรภ์ ซึ่งจะใช้เวลาราว 6-10 เดือนเพื่อให้แผลหายได้ดีและไม่มีภาวะแทรกซ้อนก่อนที่จะให้นมลูก นอกจากนี้ ระหว่างการให้นม ควรถอดห่วงหรือหมุดที่เจาะออก เพื่อป้องกันการสำลักนมของทารก

เอกสารอ้างอิง

  1. Bunik M. Breastfeeding telephone triage and advice. 2nd?ed. The American Academy of Pediatrics 2016.

ทารกกินนมแม่แล้วมีลมในท้องมากเกิดจากอะไร

IMG_0687

??????????????? รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ในทารกที่กินนมแม่ หากทารกมีอาการแน่นท้อง ผายลมบ่อย ไม่สบายตัว สิ่งแรกที่ต้องสังเกตคือ การเข้าเต้าและการดูดนมของทารกทำได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพหรือไม่ หากทารกเข้าเต้าได้ไม่ดีหรือดูดลมเข้าไปมากระหว่างการกินนมแม่ ทารกจะมีอาการแน่นท้อง ซึ่งการอุ้มพาดบ่าหรือจับทารกเรอจะช่วยลดอาการได้ สำหรับสาเหตุอื่นที่ทำให้ทารกแน่นท้องหรือผายลมบ่อย อาจเกิดจากการที่มารดารับประทานอาหารที่ทำให้เกิดลมมาก ได้แก่ หัวหอม บร็อคคอลี่ กะหล่ำปลี ลูกพรุน ถั่ว แอปริคอต และช็อคโกแลต หรือการที่ทารกกินนมแม่และได้เฉพาะส่วนของน้ำนมส่วนหน้า (foremilk) มากเกินไป การที่มารดากินอาหารชนิดที่ทำให้เกิดลมในท้องมาก สารอาหารจะผ่านไปในน้ำนม และทำให้ทารกเกิดลมในท้องมากเช่นเดียวกัน การหลีกเลี่ยงไม่กินอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งอย่างเดียวกันมากจนเกินไปจะสามารถช่วยลดอาการได้ สำหรับทารกที่กินนมแม่ในน้ำนมส่วนหน้ามาก จะมีอาการถ่ายและผายลมบ่อย อุจจาระสีเขียวและเป็นฟอง ในกรณีนี้อาจเกิดจากทารกกินนมได้ไม่นานแล้วหลับ และครั้งต่อไปมารดาให้นมจากเต้าอีกข้างซึ่งจะทำให้ทารกได้รับเฉพาะน้ำนมส่วนหน้าเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะมีน้ำตาลกาแลคโตสสูง ทำให้มีการขับถ่ายได้บ่อยๆ น้ำดีที่ออกมากับอุจจาระยังไม่ได้ถูกย่อยโดยแบคทีเรีย ทำให้อุจจาระมีสีเขียว การดูแลหรือช่วยเหลือในกรณีนี้มารดาให้กระตุ้นทารกที่ดูดนมแล้วหลับให้ดูดนมได้เต็มที่เกลี้ยงเต้า ซึ่งจะทำให้ทารกได้รับน้ำนมส่วนหลังที่มีไขมันมากกว่า ทารกจะอิ่มนาน และไม่ขับถ่ายบ่อยจนเกินไป หรืออาจใช้การบีบน้ำนมด้วยมือหรือปั๊มนมส่วนหน้าออกก่อนในกรณีที่น้ำนมมามาก โดยบีบหรือปั๊มนมออกก่อน 5 นาทีก่อนการให้ทารกกินนมก็จะทำให้ทารกได้กินน้ำนมส่วนหลัง ซึ่งจะช่วยลดอาการถ่ายและผายลมบ่อยลงได้ นอกจากนี้ การให้ทารกได้อาบน้ำอุ่น จะช่วยให้ทารกสบายตัว ลดอาการแน่นท้องและผายลมได้ดีขึ้นด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Bunik M. Breastfeeding telephone triage and advice. 2nd?ed. The American Academy of Pediatrics 2016.

 

การให้นมแม่ในทารกกลุ่มอาการดาวน์

409789_12123833_0

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ?กลุ่มอาการดาวน์เป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ทารกจะมีพัฒนาการทางด้านสติปัญญาต่ำ มีความผิดปกติในช่องปาก คือ ปากเล็ก ลิ้นจะคับแน่นยื่นออกมา และมีกล้ามเนื้อที่อ่อนแรง ความผิดปกติอื่นๆ ที่อาจพบร่วม ได้แก่ ความผิดปกติของหัวใจ ความผิดปกติของกระเพาะหรือลำไส้ โดยอาจมีส่วนของกระเพาะที่อุดตันหรือมีลำไส้ที่บีบแคบ (microcolon หรือ Hirschsprung disease) มารดาหรือผู้ดูแลจำเป็นต้องทราบความผิดปกติของทารกที่มีทั้งหมด เพื่อการวางแผนการให้นมที่เหมาะสม นอกจากนี้ ในทารกกลุ่มอาการดาวน์จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดการติดเชื้อที่หู มีพัฒนาการทางด้านการพูดและภาษาช้าด้วย ดังนั้น การที่ให้ทารกได้รับนมแม่จะเป็นผลดีในด้านการป้องกันการติดเชื้อ การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อจะช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางระบบประสาทและการรับรู้ของทารกให้ดีขึ้น การที่มารดาได้พูดคุยกับทารกขณะกินนมจะช่วยพัฒนาการทางด้านภาษา อย่างไรก็ตาม ทารกเหล่านี้จะมีความยากลำบากในการให้นมแม่ โดยอาจจะเข้าเต้าได้ไม่ดีจากการที่มีปากเล็กและลิ้นยื่นออกมา แรงในการดูดนมอาจมีน้อยและอาจดูดนมได้ไม่นานจะมีอาการเหนื่อย การฝึกฝนจำเป็นต้องประเมินทารกว่าสามารถเข้าเต้าและดูดนมจากเต้าได้หรือไม่ หากสามารถทำได้ ต้องมีการประเมินว่าทารกสามารถดูดนมได้เพียงพอหรือไม่ มีการเจริญเติบโตตามเกณฑ์หรือไม่ หากทารกเหนื่อยและดูดนมได้ไม่นาน การให้นมบ่อยๆ ร่วมกับการอาจมีการป้อนนมเสริมโดยอาจใช้สายยางต่อหลอดฉีดยาช่วยให้นมแก่ทารกอาจจำเป็น สำหรับทารกที่ไม่สามารถเข้าเต้าได้ในระยะแรก การใช้วิธีการป้อนนมด้วยช้อน หรือป้อนนมด้วยถ้วยก่อน การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อบ่อยๆ และกระตุ้นนวดทารกจะช่วยได้ โดยเมื่อทารกโตขึ้น ช่องปากกว้างขึ้น แรงในการดูดดีขึ้น ทารกจะสามารถดูดนมจากเต้าได้ด้วยตนเอง สำหรับท่าในการให้นม อาจใช้ท่าที่ใช้มือประคองบริเวณคางหรือแก้มของทารก (Dancer?s hold position) จะช่วยพยุงและทำให้ทารกกินนมได้นานขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Bunik M. Breastfeeding telephone triage and advice. 2nd?ed. The American Academy of Pediatrics 2016.

 

ทารกกินนมแม่บ่อยมาก ผิดปกติไหม

S__38207879

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ปกติหลังคลอด ทารกจะกินนมแม่วันละ 8-12 ครั้ง หากน้อยกว่า 8 ครั้งถือว่า ทารกอาจมีการกินนมแม่ที่น้อยเกินไป ต้องตรวจสอบการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักทารกหรือการเจริญเติบโตของทารกว่าเป็นไปตามเกณฑ์หรือไม่ แต่หากทารกกินนมแม่บ่อยกว่าวันละ 12 ครั้ง จะถือว่ากินนมแม่บ่อยมาก สาเหตุอาจเกิดจากการเข้าเต้าที่ไม่เหมาะสมทำให้การดูดนมไม่มีประสิทธิภาพ ทารกจะหิวบ่อย หรืออาจเกิดจากการที่ทารกง่วงหลับระหว่างการกินนม ซึ่งทำให้ทารกกินนมได้น้อยและต้องกินนมบ่อยๆ ดังนั้น ในการดูแลเบื้องต้น ควรสังเกตการณ์ให้นมแม่ของมารดา ปรับเปลี่ยนการเข้าเต้าหรือท่าให้เหมาะสม และหากทารกง่วงหลับระหว่างการให้นม อาจจำเป็นต้องมีการกระตุ้นให้ทารกดูดนม โดยการกระตุ้นทารกที่มุมปากหรือบีบนวดเต้านม ทำให้น้ำนมไหลมากขึ้น ซึ่งจะกระตุ้นการดูดนมของทารกได้ หรืออาจจะเปิดผ้าที่ห่อทารกกระตุ้นที่หน้าอกและหลังทารกเพื่อปลุกทารก ทารกจะตื่นและดูดนมได้ดีขึ้น แต่หากหลังจากการดูแลเบื้องต้นแล้ว ทารกเข้าเต้าและดูดนมได้อย่างเหมาะสม และทารกมีน้ำหนักขึ้นหรือการเจริญเติบโตได้ตามเกณฑ์ อาจเกิดจากทารกอยู่ในช่วงที่เรียกว่า ?ทารกยืดตัว (growth spurt)? ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วง 10 วัน 3 สัปดาห์ 6 สัปดาห์ หรือ 3 เดือน ทารกในช่วงนี้จะกินนมบ่อย อาจจะทุกชั่วโมง การดูแลมารดาอาจเพียงให้ความมั่นใจหรืออธิบายให้มารดาเข้าใจ รู้สึกสบายใจ และไม่ต้องวิตกกังวล ร่วมกับมีการติดตามการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักและการเจริญเติบโตของทารกเพื่อยืนยันการวินิจฉัย จะเห็นว่า การที่ทารกกินนมบ่อยมากอาจมีสาเหตุจากความผิดปกติในการกินนมหรือเป็นเรื่องปกติที่ทารกกำลังจะยืดตัว ความรู้และความเข้าใจของมารดาจะทำให้มารดาปฏิบัติตัวและดูแลทารกได้อย่างเหมาะสม

เอกสารอ้างอิง

  1. Bunik M. Breastfeeding telephone triage and advice. 2nd?ed. The American Academy of Pediatrics 2016.

มารดารู้สึกเศร้าก่อนให้ลูกกินนม เป็นอันตรายไหม

IMG_0726

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ?ในช่วงเวลาก่อนให้ลูกกินนมเล็กน้อย ร่างกายมารดาจะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน และฮอร์โมนตัวหนึ่งที่สำคัญที่มีผลต่ออารมณ์ของมารดา ได้แก่ โดปามีน (dopamine) จะมีระดับที่ลดลง ทำให้มารดารู้สึกเศร้า หดหู่ กระวนกระวาย ร้องไห้ โกรธ ความรู้สึกขาดความช่วยเหลือ หรือขาดความหวังได้ อาการเหล่านี้จะเป็นอยู่เพียงแค่สองหรือสามนาทีแล้วหายไป อาการเหล่านี้ เกิดจากอารมณ์แปรปรวนก่อนการให้นม ในภาษาอังกฤษเรียกภาวะนี้ว่า Dysphoric Milk Ejection Reflux หรือ D-MER อาการนี้จะแตกต่างจากภาวะซึมเศร้าหลังคลอดที่มารดาจะมีอารมณ์หรืออาการซึมเศร้าต่อเนื่องเป็นเวลานานไม่เฉพาะช่วงก่อนการให้นม อาการของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดจะหายไปได้เองภายในสองสัปดาห์ แต่หากอาการซึมเศร้าของมารดาเป็นนานกว่าสองสัปดาห์ อาการนี้อาจเกิดจากภาวะซึมเศร้ารุนแรง (major depression) ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาและการดูแลเฉพาะจากจิตแพทย์

? ? ? ? ? ? ? สำหรับอาการแปรปรวนก่อนการให้นมนั้น หากมารดามีความรู้และเข้าใจถึงภาวะนี้ มารดาจะไม่วิตกกังวล การฝึกผ่อนคลาย หายใจเข้าออกลึกๆ ฟังดนตรีที่ชอบ หรือใช้กลิ่นบำบัด (aromatherapy) โดยอาจใช้เทียนหอมในกลิ่นลาเวนเดอร์ที่ช่วยให้มารดารู้สึกผ่อนคลายได้ อาการแปรปรวนก่อนการให้นมโดยทั่วไปจะดีขึ้นเองและหายเองเมื่อเวลาผ่านไปราว 2-3 เดือน ความเข้าใจและการเอาใจใส่ของครอบครัวสามารถช่วยลดปัญหาของภาวะนี้และภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้ด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Bunik M. Breastfeeding telephone triage and advice. 2nd?ed. The American Academy of Pediatrics 2016.