คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

การรับรู้ถึงคุณค่าของนมแม่ช่วยให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นานขึ้น

IMG_1574

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ???เป็นที่ทราบกันดีว่า หากมารดามีความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จะมีระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่นานกว่า การที่มารดาจะมีความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น ย่อมมาจากการที่มารดามีความซาบซึ้ง และเข้าใจถึงประโยชน์ของนมแม่อย่างแจ่มชัด มีการศึกษาถึงการที่มารดามีการรับรู้ถึงประโยชน์ของนมแม่เป็นอย่างดีส่งผลให้มีระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวที่ยาวนานกว่า1 ดังนั้น การจะสร้างให้มารดามีความเข้าใจถึงประโยชน์ของนมแม่อย่างลึกซึ้ง นอกจากจะเป็นการศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองของมารดาแล้ว บุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะแพทย์ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับความเชื่อถือจากมารดาและครอบครัว จำเป็นต้องเป็นผู้ที่ให้ข้อมูลประโยชน์ของนมแม่ที่ถูกต้อง และย้ำเตือนเป็นระยะๆ เพื่อให้มารดามีความเข้าใจที่ดี และเลือกการเอาใจใส่ดูแลทารกด้วยนมแม่เมื่อเทียบกับการตัดสินใจเลือกรีบกลับไปทำงานหลังจากได้รับข้อมูลครบถ้วนได้อย่างเหมาะสม

เอกสารอ้างอิง

  1. Nnebe-Agumadu UH, Racine EF, Laditka SB, Coffman MJ. Associations between perceived value of exclusive breastfeeding among pregnant women in the United States and exclusive breastfeeding to three and six months postpartum: a prospective study. Int Breastfeed J 2016;11:8.

ทารกที่กินนมแม่ เสี่ยงต่อความดันโลหิตสูงลดลง

IMG_1706

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ???โรคจากพฤติกรรมและการกินอาหารเป็นสาเหตุของโรคเรื้อรังที่พบในผู้ใหญ่ โดยเฉพาะโรคความดันโลหิตสูงที่พบได้บ่อยในการเป็นจุดเริ่มต้นโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดทางสมอง ซึ่งเป็นสาเหตุการตายที่พบมากขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน มีการศึกษาถึงผลประโยชน์ของการกินนมแม่ต่อโรคความดันโลหิตสูง โดยเก็บข้อมูลระยะเวลาของการกินนมแม่กับความดันโลหิตของทารกเมื่อเจริญเติบโตขึ้นอยู่ในวัยก่อนเข้าเรียน พบว่า ทารกที่กินนมแม่น้อยกว่าหกเดือนมีความเสี่ยงที่มีความดันโลหิตสูงมากกว่าทารกที่กินนมแม่นานกว่าหกเดือน1 ดังนั้น การส่งเสริม สนับสนุนให้ทารกได้กินนมแม่ นอกจากจะช่วยป้องกันการเสียชีวิตของทารกตั้งแต่ในระยะของทารกแรกเกิดแล้ว ยังอาจช่วยป้องกันการเสียชีวิตจากโรคความดันโลหิตสูงที่จะนำไปสู่โรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองเมื่อทารกเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่และอายุมากขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Nobre LN, Lessa AD. Influence of breastfeeding in the first months of life on blood pressure levels of preschool children. J Pediatr (Rio J) 2016.

ยุควัฒนธรรมนมแม่ เริ่มต้นด้วยโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก

S__38208157

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ???การคลอดบุตรในปัจจุบันนั้น ต้องถือว่าส่วนใหญ่คลอดที่โรงพยาบาล ซึ่งก่อนการคลอดนั้น มารดามักต้องมาฝากครรภ์ ซึ่งแพทย์จะให้การดูแล พิจารณาความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในมารดาแต่ละคน และวางแผนให้ในการป้องกันการเกิดอันตรายที่จะเกิดจากการคลอด โดยการคลอดบุตรนั้น แม้จะเป็นเรื่องที่น่ายินดีของครอบครัว แต่ถือเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งในเรื่องสุขภาพที่มารดาจะมีการเปลี่ยนแปลงของทั้งทางร่างกาย และทางจิตใจที่จะต้องมีการเตรียมความพร้อมเพื่อต้อนรับสมาชิกใหม่ ก็คือ บุตร ซึ่งความคาดหวังของครอบครัวมีความต้องการจะให้บุตรมีความสมบูรณ์ แข็งแรง มีจิตใจที่อ่อนโยน และมีความเฉลียวฉลาดที่จะใช้ชีวิตได้อย่างเหมาะสมในสภาพสังคมปัจจุบัน การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยตอบโจทย์ในการสรรสร้างสุขภาพที่ดีของทารก ทั้งทางด้านร่างกาย ภูมิคุ้มกันต่อโรค ความอ่อนโยนและการมีความมั่นคงทางอารมณ์ รวมทั้งช่วยในเรื่องความเฉลียวฉลาดด้วย ดังนั้น การที่จะส่งเสริมให้เกิดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามาก ซึ่งกุญแจสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ คือ โรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก ที่มีนโยบายบันไดสิบขั้นสู่ความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 โดยหากทุกโรงพยาบาลสามารถปฏิบัติตามบันไดสิบขั้นสู่ความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ น่าจะเป็นการสร้างจุดเริ่มต้นของยุควัฒนธรรมนมแม่ (Normalized breastfeeding era)

เอกสารอ้างอิง

  1. Perez-Escamilla R, Martinez JL, Segura-Perez S. Impact of the Baby-friendly Hospital Initiative on breastfeeding and child health outcomes: a systematic review. Matern Child Nutr 2016;12:402-17.

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกได้

IMG_1679

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ?สมัยก่อน เรามีความเชื่อว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นกระบวนการที่เกิดจากการเรียนรู้เพียงอย่างเดียว ซึ่งต้องอาศัยการเรียนรู้เพื่อสร้างทัศนคติที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่มีการศึกษาในระยะหลัง พบว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นได้ จากมารดาสู่ลูกสาว ซึ่งมีผลนอกเหนือจากการได้รับรู้หรือเรียนรู้อย่างเดียว โดยอธิบายจากการควบคุมเหนือลำดับดีเอ็นเอ (epigenetic)1 อย่างไรก็ตาม การเรียนรู้ รับรู้ ประสบการณ์ ค่านิยมและวัฒนธรรมในสังคมยังมีความสำคัญ ไม่ใช่ว่า หากมีมารดาที่ไม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่แล้ว ลูกสาวต้องไม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย การศึกษาในเรื่องนี้ยังจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไป ที่จะให้คำตอบให้ได้ว่า หากมารดามีความตั้งใจ พยายามจนเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ ลูกสาวจะได้รับโอกาสที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำเร็จด้วยหรือไม่ ยังเป็นสิ่งที่น่าสนใจ

เอกสารอ้างอิง

  1. Porta F, Mussa A, Baldassarre G, et al. Genealogy of breastfeeding. Eur J Pediatr 2016;175:105-12.

อาการตึงคัดเต้านมทำให้การเกิดเต้านมอักเสบและฝีที่เต้านมได้

IMG_0761

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ?หลังคลอดในวันที่ 2-3 มักพบว่ามารดามีอาการตึงคัดเต้านมได้บ่อย โดยหากมารดาดูแลเรื่องการให้นมลูกไม่เหมาะสม การเกิดการอักเสบของเต้านมหรือฝีที่เต้านมอาจเกิดได้ การดูแลอาการตึงคัดเต้านมนั้น ทำโดยการประคบร้อนที่เต้านม ร่วมกับการนวดเต้านม และให้ทารกได้กินนมแม่ ซึ่งหลังจากทารกกินนมแม่แล้ว การประคบเย็นจะช่วยลดการคั่งของเลือดและน้ำเหลืองที่เต้านม การปล่อยให้มารดามีอาการตึงคัดเต้านมและไม่ช่วยให้เกิดการระบายของน้ำนมออกจากเต้านม การขังของน้ำนมหากเป็นอยู่นาน อาจเกิดการอักเสบ โดยจะมีเชื้อโรคจะบริเวณผิวหนังของมารดาที่อาจแทรกซึมผ่านท่อน้ำนมเข้าไปในน้ำนมที่ขังและทำให้เกิดฝีที่เต้านมได้ เมื่อเกิดการอักเสบของเต้านมแล้ว หากคลำได้เป็นก้อน บวม แดง ร้อน และมารดามีไข้นานกว่า 24 ชั่วโมง อาจจำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย ซึ่งยาปฏิชีวนะจะครอบคลุมเชื้อโรคที่มาจากบริเวณผิวหนังซึ่งเป็นสาเหตุร่วมที่ทำให้เกิดการอักเสบต่อเนื่องของเต้านมของมารดา มีการศึกษาในการใช้ยากดการสร้างน้ำนมเพื่อช่วยในการลดการอักเสบของเต้านม1 อย่างไรก็ตาม การใช้ยากดการสร้างน้ำนมมีความเสี่ยงและอาจมีผลในการลดการสร้างน้ำนมที่มีผลต่อทารกได้ ดังนั้น หลักสำคัญคือ การดูแลรักษาอาการตึงคัดเต้านมให้เหมาะสมเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นตามมา คือ เต้านมอักเสบและฝีที่เต้านม จะเป็นการดีกว่า การปล่อยให้เกิดภาวะแทรกซ้อนแล้วจึงติดตามการรักษา

เอกสารอ้างอิง

  1. Pustotina O. Management of mastitis and breast engorgement in breastfeeding women. J Matern Fetal Neonatal Med 2016;29:3121-5.