คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

การสร้างเกมให้ความรู้เรื่องนมแม่ออนไลน์

IMG_9334

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ?รูปแบบของการให้ความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีตั้งแต่การให้ความรู้รายบุคคล การให้ความรู้รายกลุ่ม การให้ความรู้ผ่านสื่อแผ่นพับ หนังสือ สื่อทางโทรศัพท์โดยเป็นข้อความสั้น ๆ สื่อออนไลน์ ผ่านการเขียนบทความ กลุ่มสังคมออนไลน์ สื่อวิทยุ และโทรทัศน์ ซึ่งการจัดรูปแบบสื่อที่มีอย่างหลากหลายให้มารดาเลือกตามความพึงพอใจ น่าจะได้ประโยชน์ มารดาในยุคปัจจุบันเป็นมารดาที่เกิดในยุค generation Y ที่มีความสามารถทางด้านการใช้สื่อทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ดี จึงมีผู้ที่คิดสร้างเกมให้ความรู้เรื่องนมแม่ออนไลน์ เพื่อช่วยให้มารดามีความตั้งใจและมั่นใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้น ผลจากการศึกษาไม่พบความแตกต่างของความตั้งใจและความมั่นใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาในกลุ่มที่ศึกษา1 อย่างไรก็ตาม นับว่าเป็นความพยายามที่จะสร้างสื่อรูปแบบหนึ่ง ที่ต้องการให้ความรู้แก่มารดา ซึ่งการปรับปรุงคุณภาพสื่อให้น่าสนใจ และมีการตอบสนองระหว่างการใช้งานได้ น่าจะทำให้ผลการตั้งใจจะสื่อสารความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ประสบความสำเร็จได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Grassley JS, Connor KC, Bond L. Game-based online antenatal breastfeeding education: A pilot. Appl Nurs Res 2017;33:93-5.

นมแม่ช่วยพัฒนาการการสั่งงานของกล้ามเนื้อ

IMG_3649

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ?การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีรายงานถึงประโยชน์ที่มากมายและหลายด้าน ด้านภูมิคุ้มกันที่ส่งจากมารดาสู่ทารก ด้านการป้องกันโรคภูมิแพ้ เบาหวาน ภาวะอ้วน รวมทั้งด้านความเฉลียวฉลาด พัฒนาการทางด้านการพูดและภาษา นอกเหนือจากนี้ มีรายงานว่าในทารกที่กินนมแม่นานหกเดือนเมื่อเปรียบเทียบกับทารกที่กินนมแม่น้อยกว่าหกเดือนพบว่า พัฒนาการในการสั่งงานของกล้ามเนื้อเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้นอายุ 10 ปี 14 ปี และ 17 ปีในกลุ่มทารกที่กินนมแม่นานหกเดือนมีพัฒนาการที่ดีกว่า ซึ่งจากการศึกษานี้ บ่งชี้ว่า นมแม่มีผลดีต่อพัฒนาการของการสั่งงานของกล้ามเนื้อในระยะยาว ทำให้การควบคุมกล้ามเนื้อได้ดีกว่า1 อาจส่งผลต่อการทำงาน ทักษะการวาดเขียน การเล่นดนตรี หรือการเล่นกีฬา ทำให้มีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่าเมื่อเจริญเติบโตขึ้น ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่มารดาสามารถมอบให้แก่ทารกได้ก็คือ การให้โอกาสที่ดีแก่ลูกที่จะประสบความสำเร็จในอนาคต ด้วยการเลือกให้ลูกกินนมแม่ตามระยะเวลาที่เหมาะสม

เอกสารอ้างอิง

  1. Grace T, Oddy W, Bulsara M, Hands B. Breastfeeding and motor development: A longitudinal cohort study. Hum Mov Sci 2017;51:9-16.

การเปลี่ยนถิ่นที่อยู่อาจเป็นอุปสรรคในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

IMG_3657

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ในชนชาวเอเชียมักมีความเชื่อดังเดิมในเรื่องการให้ลูกกินแม่ ทำให้มีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในชนชาวเอเซียสูง แต่ในปัจจุบัน สภาพสังคม เศรษฐกิจเปลี่ยนไป เมื่อมีการย้ายถิ่นที่อยู่ไปอยู่ในยุโรป กลับพบว่า มารดาต้องกลับไปทำงานเร็ว ซึ่งการกลับไปทำงานของมารดาเป็นอุปสรรคของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จึงพบอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาที่ย้ายถิ่นที่อยู่ไปอยู่อีกในสังคมหนึ่งแตกต่างจากมารดาที่อยู่ในถิ่นเดิม1 อย่างไรก็ตาม ค่านิยมและลักษณะของสังคมใหม่ที่มารดาย้ายถิ่นที่อยู่ไปอยู่นั้น น่าจะมีผลการพฤติกรรมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาด้วย จึงควรมีการสังเกตและให้ความเอาใจใส่ในกลุ่มมารดาต่างเชื้อชาติ หรือมีการย้ายถิ่นที่อยู่ เนื่องจากในมารดากลุ่มนี้ อาจมีความเสี่ยงที่แตกต่างจากชนชาติพื้นเมือง ซึ่งต้องมีการนัดติดตามและให้คำปรึกษาอย่างเหมาะสม

เอกสารอ้างอิง

  1. Gonzalez-Pascual JL, Ruiz-Lopez M, Saiz-Navarro EM, Moreno-Preciado M. Exploring Barriers to Breastfeeding Among Chinese Mothers Living in Madrid, Spain. J Immigr Minor Health 2017;19:74-9.

การส่งเสริมการรับรู้และการผ่อนคลายของมารดาช่วยในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

IMG_3653

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ?มีการรายงานจากการศึกษาพบว่า การส่งเสริมการรับรู้ของมารดาถึงประโยชน์และความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สามารถช่วยเพิ่มการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมตั้งแต่ในระยะแรกและระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ เช่นเดียวกันกับการฝึกให้มารดาผ่อนคลายก็ช่วยในการส่งเสริมการให้นมแม่ตั้งแต่ในระยะแรก1 ซึ่งจากการศึกษานี้ แสดงถึง การรับรู้และสภาพจิตใจของมารดามีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดังนั้น การดูแลมารดาของบุคลากรทางการแพทย์ต้องดูแลทั้งทางร่างกาย จิตใจ นอกจากนี้ยังอาจต้องรวมถึงครอบครัว และสภาพสังคมสิ่งแวดล้อมด้วย โดยต้องมองภาพเป็นองค์รวม เพื่อให้การสนับสนุนและการให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำหรับมารดาสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงและมีประสิทธิภาพในการที่มารดาสามารถจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วยความเต็มใจ สบายใจ เข้าใจ และเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ก็หยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างถูกต้องและถูกวิธีโดยไม่มีความวิตกกังวล

เอกสารอ้างอิง

  1. Fotiou C, Siahanidou T, Vlastarakos PV, Tavoulari EF, Chrousos G. The effect of body and mind stress-releasing techniques on the breastfeeding of full-term babies; a critical analysis of published interventional studies. J Matern Fetal Neonatal Med 2017:1-26.

การให้ยาต้านไวรัสเอดส์แก่ทารกที่กินนมแม่ช่วยลดการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก

IMG_3656

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ?ในมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวี เมื่อฝากครรภ์มารดาจะได้รับการให้ยาต้านไวรัสซึ่งจะช่วยลดการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก การดูแลระหว่างการคลอดได้แก่ การให้การผ่าตัดคลอดก็ช่วยลดการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกได้เช่นกัน สำหรับหลังคลอดในประเทศที่มีการให้การสนับสนุนนมผงดัดแปลงสำหรับทารกที่เพียงพอ มักแนะนำให้มารดางดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่ในประเทศที่ยังขาดสนับสนุนนมผงดัดแปลงสำหรับทารกที่เพียงพอ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังเป็นทางเลือกหนึ่งของการให้อาหารสำหรับทารกแรกเกิด โดยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวจะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกต่ำกว่าการให้กินนมแม่ร่วมกับนมผงดัดแปลงสำหรับทารกหรืออาหารอื่น นอกจากนี้ การให้ยาต้านไวรัสแก่ทารกที่กินนมแม่จะช่วยลดการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกได้1 สำหรับในประเทศไทย ยังแนะนำให้มารดางดการให้นมแม่ในกรณีที่มารดามีการติดเชื้อเอชไอวี เนื่องจากมีหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนนมผงดัดแปลงสำหรับทารกเพียงพอทั้งปริมาณและระยะที่จำเป็น

เอกสารอ้างอิง

  1. Foissac F, Blume J, Treluyer JM, et al. Are Prophylactic and Therapeutic Target Concentrations Different?: the Case of Lopinavir-Ritonavir or Lamivudine Administered to Infants for Prevention of Mother-to-Child HIV-1 Transmission during Breastfeeding. Antimicrob Agents Chemother 2017;61.