รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
? ? ? ? ? ? ? ? ? หลังคลอด หากวางทารกไว้ที่อกมารดา ทารกจะผ่านกระบวนการร้องไห้ ผ่อนคลาย ตื่นตัว เคลื่อนไหว พัก คืบคลาน คุ้นเคย ดูดนม และหลับ ซึ่งหากไม่มีการรบกวน ทารกจะคืบคลานเข้าหาเต้านมเมื่อเวลาผ่านไปราว 1 ชั่วโมง มีคำถามว่า ทำไมทารกจึงรู้ว่าหัวนมหรือเต้านมของมารดาอยู่ที่ไหน ทำไมทารกจึงเคลื่อนไปหาเต้านมได้อย่างถูกต้อง คำอธิบายในส่วนนี้ อธิบายจากการมองเห็นของทารกจะมองเห็นได้ในระยะใกล้ ๆ และเห็นสีขาวดำได้ชัดเจน การที่หัวนมและลานนมของมารดามีสีคล้ำหรือเข้มขึ้น จะช่วยให้ทารกมองเห็นหัวนมและลานนมได้ดีขึ้น กลิ่นของน้ำนม หากมารดาเริ่มมีน้ำนม ทารกจะได้กลิ่นของน้ำนมและเคลื่อนเข้าหาหัวนมที่เป็นแหล่งที่จะให้น้ำนมที่เป็นอาหารสำหรับทารก นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาพบว่าอุณหภูมิของหัวนมและลานนมที่อุ่นกว่า จะมีส่วนในการนำพาทารกเข้าหาหัวนมและลานนม1 จะเห็นว่า ประสาทสัมผัสทารกที่มีอยู่จะช่วยนำพาทารกเข้าหาหัวนมและเต้านม ซึ่งเป็นกระบวนการตามธรรมชาติที่จะช่วยให้ทารกอยู่รอดและปลอดภัยบนอกมารดาและได้รับนมแม่ที่เป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อการรอดชีวิตของทารก
เอกสารอ้างอิง
Zanardo V, Volpe F, de Luca F, Straface G. A temperature gradient may support mother-infant thermal identification and communication in the breast crawl from birth to breastfeeding. Acta Paediatr 2017.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????? ในสตรีที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตรมีความต้องการสารน้ำต่อวันเพิ่มขึ้น โดยในสตรีตั้งครรภ์มีความต้องการน้ำเพิ่มขึ้น 300 มิลลิลิตรต่อวัน คือควรดื่มน้ำเพิ่มขึ้นประมาณวันละ 1 แก้ว ในสตรีที่ให้นมบุตรมีความต้องการน้ำเพิ่มขึ้น 700 มิลลิลิตรต่อวัน คือควรดื่มน้ำเพิ่มขึ้นประมาณวันละ 3 แก้ว ซึ่งมีการศึกษาวิจัยถึงการดื่มน้ำในสตรีตั้งครรภ์หรือสตรีให้นมบุตรในประเทศอินโดนีเซียพบว่า สตรีตั้งครรภ์ได้รับน้ำต่อวันไม่เพียงพอร้อยละ 42 และสตรีที่ให้นมบุตรได้รับน้ำต่อวันไม่เพียงพอร้อยละ 541 ซึ่งการได้รับน้ำไม่เพียงพออาจเกิดผลเสียต่อมารดาและทารกได้ แต่ในประเทศไทยยังขาดข้อมูลสำรวจถึงการได้รับน้ำของสตรีตั้งครรภ์และให้นมบุตร ดังนั้น ควรมีการศึกษาถึงข้อมูลเหล่านี้ในประเทศไทยเพื่อทราบถึงขนาดของปัญหา วางแผนการรณรงค์และให้ความรู้สื่อสารให้สตรีตั้งครรภ์และให้นมบุตรเข้าใจและได้รับสารน้ำเพียงพอ เพื่อส่งเสริมคุณภาพและการให้นมบุตรให้ดีขึ้น
เอกสารอ้างอิง
Bardosono S, Morin C, Guelinckx I, Pohan R. Pregnant and Breastfeeding Women: Drinking for Two? Ann Nutr Metab 2017;70 Suppl 1:13-7.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????? การสื่อสารที่จะสนับสนุนและส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น ควรมีการเลือกให้เหมาะสมกับกลุ่มของมารดาที่จะรับฟัง มีการศึกษาถึงทางเลือกในการสื่อสารการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยการใช้สื่อวิดีโอประกอบเพลงหรือ music video เกี่ยวกับการให้นมลูกในกลุ่มมารดาวัยรุ่นพบว่า ช่วยส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ และทำให้มารดารู้สึกผ่อนคลายมากขึ้นหลังการให้นมลูก1 ดังนั้น การที่จะนำข้อมูลงานวิจัยนี้ไปปรับใช้ต้องเลือกกลุ่มมารดาในกลุ่มวัยรุ่นที่ชอบฟังเพลง และต้องเลือกเพลงและวิดีโอประกอบเพลงที่มีความเหมาะสมกับวัยของมารดาที่รับฟังด้วย จึงจะช่วยให้เกิดผลที่ดีในการจัดการดูแลส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
เอกสารอ้างอิง
Austen EL, Beadle J, Lukeman S, Lukeman E, Aquino N. Using a Music Video Parody to Promote Breastfeeding and Increase Comfort Levels Among Young Adults. J Hum Lact 2017;33:560-9.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????? ในกระบวนการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น การให้ทารกได้รับการโอบกอดสัมผัสเนื้อแนบเนื้อในชั่วโมงแรกหลังคลอดถือเป็นหนึ่งในกระบวนการที่มีความสำคัญมากที่สุด เนื่องจากจะเป็นการเริ่มต้นที่ดี โดยพบว่าทารกได้เริ่มต้นการดูดนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรกเพียงร้อยละ 45 ในประเทศที่ยังไม่พัฒนาหรือกำลังพัฒนา ซึ่งเป็นตัวเลขที่ยังไม่สูง การที่ทารกได้เริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงจะช่วยในการลดการเสียชีวิตของทารกได้ หากทารกเริ่มต้นดูดนมในช่วง 2-23 ชั่วโมงหลังคลอดจะเพิ่มความเสี่ยงในการเสียชีวิตของทารกในช่วง 28 วันแรกร้อยละ 40 หากการเริ่มต้นการดูดนมแม่ช้ากว่า 24 ชั่วโมง ความเสี่ยงในการเสียชีวิตของทารกจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 80 1 ?ซึ่งการดูแลที่จะทำให้ทารกได้เริ่มต้นการดูดนมแม่ตั้งแต่ในหนึ่งชั่วโมงแรกส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับกระบวนการการดูแลในระหว่างการคลอดและหลังคลอดของสถานพยาบาลในแต่ละที่โดยรวมถึงปัจจัยจากผู้ให้บริการที่อาจให้ความสำคัญและมีความใส่ใจในจุดนี้แตกต่างกัน ปัญหาที่มักพบที่ทำให้เกิดกระบวนการการเริ่มต้นการดูดนมแม่ช้า ได้แก่ การให้ความสำคัญในกระบวนการอื่น ๆ มากกว่า กล่าวคือ สนใจในการเช็ดตัว วัดอุณหภูมิ การฉีดวัคซีน หรืออ้างว่ายุ่ง ขาดกำลังคนในการดูแลที่เพียงพอ จนทำให้เกิดความล่าช้าในการเริ่มต้น ดังนั้น ควรมีการเปลี่ยนทัศนคติที่จะสร้างให้เกิดการเริ่มต้นการให้นมลูกภายในหนึ่งชั่วโมงแรก เพื่อสร้างเสริมสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ดีและช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย
เอกสารอ้างอิง
Arts M, Taqi I, Begin F. Improving the Early Initiation of Breastfeeding: The WHO-UNICEF Breastfeeding Advocacy Initiative. Breastfeed Med 2017.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
เมลาโทนิน (melatonin) เป็นฮอร์โมนที่มีบทบาทต่อการนอนหลับ ภูมิคุ้มกัน ภาวะซึมเศร้า ภาวะเจริญพันธุ์ และการตกไข่ในสตรี แล้วมาเกี่ยวอะไรกับการกินนมแม่ มีการศึกษาวิจัยพบว่า ในทารกที่กินนมแม่จะมีกระบวนการกระตุ้นภูมิคุ้มกันผ่านระบบน้ำเหลืองของทารกในลำไส้ ซึ่งการกระตุ้นภูมิคุ้มกันนี้จะมีผลต่อการหลั่งของฮอร์โมนเมลาโทนินด้วย 1 ซึ่งเมื่อดูบทบาทของฮอร์โมนนี้ที่น่าจะมีต่อทารก ได้แก่ ผลต่อการนอนหลับที่จะช่วยในการพัฒนาการของระบบประสาทและสมองของทารก ผลต่อภูมิคุ้มกันโดยช่วยสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีที่ต่อต้านเชื้อโรคที่หลากหลาย ผลต่อภาวะซึมเศร้าที่เกิดจากฮอร์โมนเมลาโทนินมีผลต่อเซอโรโทนิน (serotonin) ที่เป็นสารสำคัญที่มีผลต่ออารมณ์และสภาพจิตใจ หากการหลั่งเมลาโทนินถูกควบคุมให้พอเหมาะ ทำให้การหลับได้ดี จะป้องกันภาวะซึมเศร้า ขณะที่การหลั่งเมลาโทนินมากเกินอาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า และผลต่อการตกไข่ ประจำเดือน และมีการบุตรจะถูกยับยั้งโดยระดับเมลาโทนินที่สูงจนกว่าทารกเจริญเติบโตขึ้น ดังนั้น รากฐานของความสัมพันธ์ของฮอร์โมนเมลาโทนินที่มีความเชื่อมโยงกับการกินนมแม่ของทารก อาจจะเป็นสิ่งที่อธิบายกลไกในการป้องกันโรคต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์จากการกินนมแม่เมื่อทารกเติบโตขึ้นในอนาคต ซึ่งต้องการการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในรายละเอียดต่อไป
เอกสารอ้างอิง
Anderson G, Vaillancourt C, Maes M, Reiter RJ. Breastfeeding and the gut-brain axis: is there a role for melatonin? Biomol Concepts 2017.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)