รศ.นพ.ภาวิน
พัวพรพงษ์
ขณะเบ่งคลอด มารดาจะมีลมเบ่งเหมือนปวดเบ่งถ่ายเมื่อศีรษะทารกลงมากดบริเวณทวารหนัก การให้ยาระงับความรู้สึกจะเป็นการให้ยาชาเฉพาะที่ในกรณีที่จะมีการตัดฝีเย็บช่วยในการคลอด ซึ่งไม่ได้เป็นการช่วยลดอาการเจ็บครรภ์คลอด การให้ยาระงับความรู้สึกเพื่อลดการเจ็บครรภ์ระหว่างการเบ่งคลอดนั้น อาจทำได้โดยการฉีดยาชาเข้าช่องเหนือเยื่อหุ้มไขสันหลัง (epidural block) โดยจะมีทั้งผลดีและผลเสียจากการใช้ยาระงับความรู้สึกวิธีนี้ ข้อดีคือ อาการปวดจากการเจ็บครรภ์คลอดลดลง ข้อเสียคือ ระยะเวลาระหว่างการเบ่งคลอดจนถึงคลอดทารกเพิ่มขึ้น และการใช้เครื่องดูดสุญญากาศและคีมในการช่วยคลอดเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานพยาบาลโดยทั่วไปมักขาดแคลนบุคลากรทางด้านวิสัญญีที่จะให้การดูแลมารดาหลังให้ยาระงับความรู้สึก จึงเป็นข้อจำกัดในการระงับความรู้สึกวิธีนี้ ดังนั้น การให้ยาระงับความรู้สึกระหว่างการเบ่งคลอดจึงมักใช้เพียงการฉีดยาชาเฉพาะที่ในบริเวณที่มีบาดแผลจากการตัดฝีเย็บหรือระหว่างการเย็บบริเวณแผลที่เกิดขึ้นจากการบาดเจ็บจากการคลอดเท่านั้น
รศ.นพ.ภาวิน
พัวพรพงษ์
ขณะรอคลอด มารดาจะมีอาการเจ็บครรภ์คลอด ซึ่งในระยะแรกจะมีอาการเจ็บครรภ์ห่าง ต่อมาอาการเจ็บครรภ์จะถี่ขึ้น อาการปวดจะร้าวไปหลัง และเมื่อลูกเคลื่อนต่ำลงมาใกล้ปากช่องคลอดมาก มารดาจะมีอาการปวดเบ่งเหมือนปวดเบ่งถ่ายเมื่อศีรษะทารกลงมากดบริเวณทวารหนัก การลดความเจ็บปวดระหว่างการรอคลอดที่มารดามีอาการเจ็บครรภ์ วิธีที่ใช้บ่อยคือ การใช้ยาแก้ปวดในกลุ่มมอร์ฟีน โดยยาแก้ปวดในกลุ่มนี้จะลดอาการปวดได้ดี แต่ก็มีข้อเสียคือ ในมารดาอาจทำให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ง่วง ขาดแรงเบ่งคลอด ขาดสติในการให้นมลูกในระยะแรกหลังคลอด ในทารกอาจทำให้ทารกหายใจช้า ง่วงซึม ไม่สามารถกระตุ้นดูดนมหลังคลอดได้ ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการให้ยากลุ่มนี้ในมารดาที่คาดว่าจะมีการคลอดภายในหนึ่งชั่วโมงหลังการให้ยา มารดามีอาการเจ็บครรภ์คลอด ในปัจจุบันมีค่านิยมในการคลอดตามธรรมชาติเพิ่มขึ้น จึงมักมีการลดการใช้ยาแก้ปวด และนิยมใช้วิธีทางเลือกในการลดความเจ็บปวดระหว่างการรอคลอดแทน ได้แก่ การลูบหน้าท้อง การนวดบริเวณหลัง การปรับจังหวะของการหายใจ การให้สามีหรือพี่เลี้ยงเข้ามาช่วยดูแลระหว่างการรอคลอด ซึ่งจะมีผลดีต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะแรกหลังคลอดด้วย
รศ.นพ.ภาวิน
พัวพรพงษ์
เมื่อมารดามีอาการเจ็บครรภ์คลอด จะไปโรงพยาบาลเพื่อเตรียมการสำหรับการคลอด เมื่อมารดาไปถึงโรงพยาบาล จะมีการตรวจว่ามารดาเข้าสู่ระยะคลอดจริงหรือไม่ หากอาการของมารดาเป็นอาการเจ็บครรภ์คลอดจริง มักจะมีการเปิดของปากมดลูก ซึ่งแสดงว่าจะมีการคลอดเกิดขึ้นในช่วงเวลาอันสั้น โรงพยาบาลจะรับตัวไว้นอนโรงพยาบาล โดยจัดการดูแลที่ห้องคลอด ซึ่งในการดูแลที่ห้องคลอดมักจะแบ่งการดูแลมารดาเป็นช่วงระยะรอคลอด ช่วงระยะของการเบ่งคลอด และช่วงระยะหลังคลอด
ช่วงระยะรอคลอด จะมีการเปลี่ยนแปลงของปากมดลูกให้ขยายเป็นช่องทางเดียวกับช่องคลอด จะแบ่งระยะย่อยเป็นสองระยะ คือ ระยะที่มีการเปิดของปากมดลูกช้า (latent phase) และระยะที่มีการเปิดของปากมดลูกเร็ว (active phase) ซึ่งในระยะที่มีการเปิดของปากมดลูกช้าเกิดจากในช่วงแรกการเปิดขยายของปากมดลูกจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงของปากมดลูกให้มีการนุ่มและบางลงก่อน การเปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสารน้ำ สารประกอบที่อยู่ที่ปากมดลูก และความยืดหยุ่นของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน โดยช่วงระยะที่มีการเปิดของปากมดลูกช้าการจะมีการเปิดขยายของปากมดลูกจากปากมดลูกไม่เปิดเป็นปากมดลูกเปิดราว 3 เซนติเมตร จะใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมงในมารดาครรภ์แรก ขณะที่ในช่วงถัดไปคือช่วงที่มีการเปิดของปากมดลูกเร็ว ปากมดลูกจะเปิดจาก 3 เซนติเมตรถึงปากมดลูกเปิดเป็นช่องทางเดียวกันกับช่องคลอดซึ่งปากมดลูกจะเปิดราว 10 เซนติเมตร จะใช้เวลาราว 6 ชั่วโมงในมารดาครรภ์แรก ขณะที่ในมารดาครรภ์หลังจะใช้เวลาในระยะที่มีการเปิดของปากมดลูกช้าและระยะที่มีการเปิดของปากมดลูกเร็วสั้นกว่าในมารดาครรภ์แรกเนื่องจากปากมดลูกของมารดาครรภ์หลังที่เคยมีการเปิดขยายของปากมดลูกจากในครรภ์แรก จะมีความยืดหยุ่นของปากมดลูกที่พร้อมจะมีการยืดขยายมากกว่า
รศ.นพ.ภาวิน
พัวพรพงษ์
องค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้ทารกกินนมแม่อย่างเดือนหกเดือนแรก หลังจากนั้นกินนมแม่ร่วมกับอาหารเสริมตามวัยจนกระทั่งครบสองปีหรือนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของมารดาและทารก ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า การกินนมแม่ช่วยเสริมสร้างสุขภาพและพัฒนาการที่ดีของทารก ทารกที่กินนมแม่จะมีการติดเชื้อในทางเดินอาหาร และการติดเชื้ออักเสบของหูส่วนกลางน้อยกว่า สำหรับการติดเชื้อในทางเดินหายใจมีการศึกษาพบว่า ทารกที่กินนมแม่เต็มที่ตามคำแนะนำจะพบมาการใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาการติดเชื้อทางเดินหายใจน้อยกว่า1 ซึ่งแสดงถึงการพบภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมในทางเดินหายใจพบน้อยกว่า ทำให้การหายจากโรคหรือความรุนแรงของโรคน่าจะน้อยกว่า ดังนั้น การสนับสนุนให้ทารกได้กินนมแม่เต็มที่จะช่วยปกป้องลดความรุนแรงของการติดเชื้อทางเดินหายใจ และลดค่าใช้จ่ายจากภาวะแทรกซ้อนที่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาด้วย
เอกสารอ้างอิง
1. Parizkova P, Dankova N, Fruhauf P, Jireckova J, Zeman
J, Magner M. Associations between breastfeeding rates and infant disease: A
survey of 2338
Czech children. Nutr Diet 2020;77:310-4.
รศ.นพ.ภาวิน
พัวพรพงษ์
หลังการคลอดช่วงที่มารดาให้นมลูก มารดาบางคนอาจมีความจำเป็นต้องใช้ยา ซึ่งการจะเลือกใช้ยาของมารดาในระหว่างการให้นมลูกอาจมีผลทั้งต่อการเลือกชนิดของยาที่เหมาะสมที่จะไม่เป็นอันตรายต่อทารก อย่างไรก็ตาม มารดาบางคนอาจมีความกังวลเกี่ยวกับผลของการใช้ยาจนทำให้เกิดการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ ดังนั้น การจัดทำข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการใช้ยาในระหว่างการให้นมลูกจึงมีความจำเป็น ซึ่งจะมีส่วนในการช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์มีความรู้ที่ทันสมัยและให้คำปรึกษามารดาได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยในการให้ความรู้แก่มารดาในกรณีที่มีความลำบากในการเข้าถึงโรงพยาบาล คลินิก สถานพยาบาล หรือร้านขายยาที่มีเภสัชกร ในประเทศไทยยังขาดการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกใช้ยาในระหว่างการให้ลูก สำหรับในต่างประเทศทที่มีการรวบรวมข้อมูลการใช้ยาในระหว่างการให้นมลูกโดยจัดทำข้อมูลที่สามารถเข้าถึงได้ออนไลน์พบว่า สองในสามของคนที่เข้ามาหาข้อมูลเป็นมารดาหรือบิดา หนึ่งในสามเป็นบุคลากรทางการแพทย์ การเข้าถึงส่วนใหญ่ผ่านอุปกรณ์มือถือร้อยละ 73 สำหรับกลุ่มของยาที่คนเข้ามาค้นข้อมูลมากที่สุด ได้แก่ ยากลุ่มยาปฏิชีวนะ และยาแก้ปวดลดอาการอักเสบ โดยตัวยา ibuprofen เป็นยาที่มีคนเมาหาข้อมูลมากที่สุด1 จะให้ว่า การจัดทำข้อมูลการใช้ยาในระหว่างการให้นมลูกนอกจากจะเป็นช่องทางที่จะให้ความรู้แก่ประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ การนำข้อมูลที่เกี่ยวกับการใช้ยาในระหว่างการให้นมลูกมาวิเคราะห์ จะช่วยให้มองเห็นภาพรวมถึงปัญหาของการใช้ยาในระหว่างการให้นมลูกของมารดาได้
เอกสารอ้างอิง
1. Paricio-Talayero JM, Mena-Tudela D, Cervera-Gasch A,
et al. Is it compatible with breastfeeding? www.e-lactancia.org :
Analysis of visits, user profile and most visited products. Int J Med Inform 2020;141:104199.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)