ระยะรอคลอด ปากมดลูกเปลี่ยนแปลงอย่างไร

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

เมื่อมารดามีอาการเจ็บครรภ์คลอด จะไปโรงพยาบาลเพื่อเตรียมการสำหรับการคลอด เมื่อมารดาไปถึงโรงพยาบาล จะมีการตรวจว่ามารดาเข้าสู่ระยะคลอดจริงหรือไม่ หากอาการของมารดาเป็นอาการเจ็บครรภ์คลอดจริง มักจะมีการเปิดของปากมดลูก ซึ่งแสดงว่าจะมีการคลอดเกิดขึ้นในช่วงเวลาอันสั้น โรงพยาบาลจะรับตัวไว้นอนโรงพยาบาล โดยจัดการดูแลที่ห้องคลอด ซึ่งในการดูแลที่ห้องคลอดมักจะแบ่งการดูแลมารดาเป็นช่วงระยะรอคลอด ช่วงระยะของการเบ่งคลอด และช่วงระยะหลังคลอด

ช่วงระยะรอคลอด จะมีการเปลี่ยนแปลงของปากมดลูกให้ขยายเป็นช่องทางเดียวกับช่องคลอด จะแบ่งระยะย่อยเป็นสองระยะ คือ ระยะที่มีการเปิดของปากมดลูกช้า (latent phase) และระยะที่มีการเปิดของปากมดลูกเร็ว (active phase) ซึ่งในระยะที่มีการเปิดของปากมดลูกช้าเกิดจากในช่วงแรกการเปิดขยายของปากมดลูกจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงของปากมดลูกให้มีการนุ่มและบางลงก่อน การเปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสารน้ำ สารประกอบที่อยู่ที่ปากมดลูก และความยืดหยุ่นของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน โดยช่วงระยะที่มีการเปิดของปากมดลูกช้าการจะมีการเปิดขยายของปากมดลูกจากปากมดลูกไม่เปิดเป็นปากมดลูกเปิดราว 3 เซนติเมตร จะใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมงในมารดาครรภ์แรก ขณะที่ในช่วงถัดไปคือช่วงที่มีการเปิดของปากมดลูกเร็ว ปากมดลูกจะเปิดจาก 3 เซนติเมตรถึงปากมดลูกเปิดเป็นช่องทางเดียวกันกับช่องคลอดซึ่งปากมดลูกจะเปิดราว 10 เซนติเมตร จะใช้เวลาราว 6 ชั่วโมงในมารดาครรภ์แรก ขณะที่ในมารดาครรภ์หลังจะใช้เวลาในระยะที่มีการเปิดของปากมดลูกช้าและระยะที่มีการเปิดของปากมดลูกเร็วสั้นกว่าในมารดาครรภ์แรกเนื่องจากปากมดลูกของมารดาครรภ์หลังที่เคยมีการเปิดขยายของปากมดลูกจากในครรภ์แรก จะมีความยืดหยุ่นของปากมดลูกที่พร้อมจะมีการยืดขยายมากกว่า