? ? ? ? ? ? ? ?หญิงไทยที่ให้นมบุตรต้องการธาตุเหล็กวันละ 15 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งความต้องการจะน้อยกว่าในระหว่างการตั้งครรภ์ซึ่งมีความต้องการธาตุเหล็กเพื่อการสร้างเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้นโดยต้องการวันละ 60 มิลลิกรัม เนื่องจากในระหว่างการให้นมบุตรนั้น มารดาจะไม่มีประจำเดือนทำให้ไม่มีการเสียเลือด ในน้ำนมแม่จะมีปริมาณธาตุเหล็กต่ำ ธาตุเหล็กสามารถจะดูดซึมได้ดีในลำไส้ทารกที่กินนมแม่อย่างเดียวโดยมีสารในนมแม่ที่ช่วยในกระบวนการการดูดซึมธาตุเหล็ก การรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กเพิ่มขึ้น ไม่ได้เพิ่มปริมาณธาตุเหล็กในน้ำนม1 แต่ในระยะหลังคลอดมารดาควรเสริมธาตุเหล็กเพื่อให้ปริมาณธาตุเหล็กที่สะสมในร่างกายมีเพียงพอ ซึ่งหากมารดาไม่มีภาวะขาดธาตุเหล็กจะไม่ส่งผลต่อการขาดธาตุเหล็กในทารก สำหรับในนมผสมนั้นมักจะมีการเสริมธาตุเหล็กในปริมาณที่สูงเนื่องจากไม่มีสารที่ช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็กเหมือนในนมแม่
? ? ? ? ? ? ?การช่วยป้องกันภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็กในทารกในกระบวนการในการช่วยคลอดอาจทำได้โดยการชะลอการหนีบและตัดสายสะดือ (delayed cord clamping) โดยมีข้อมูลว่าส่งผลดีในการช่วยป้องกันภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็กในทารกคลอดครบกำหนดปกติที่กินนมแม่อย่างเดียวในช่วงหกเดือนแรก2 แม้ว่ายังไม่มีข้อมูลจำนวนการปฏิบัติการชะลอการหนีบและตัดสายสะดือทารกในประเทศไทย และข้อมูลของภาวะขาดธาตุเหล็กของมารดาในระยะหลังคลอด แต่มีข้อแนะนำจากกรมอนามัยที่สนับสนุนให้เสริมธาตุเหล็ก โฟเลต และไอโอดีนให้แก่สตรีตั้งครรภ์และมารดาที่ให้นมบุตรจนถึงหกเดือน3
เอกสารอ้างอิง
- Abe SK, Balogun OO, Ota E, Takahashi K, Mori R. Supplementation with multiple micronutrients for breastfeeding women for improving outcomes for the mother and baby. Cochrane Database Syst Rev 2016;2:CD010647.
- Delayed cord clamping benefits babies. Aust Nurs Midwifery J 2013;21:41.
- รายงานประจำปี กรมอนามัย 2556. ใน: กองแผนงาน กรมอนามัย, ประเทศไทย: กรมอนามัย; 2556.