ระยะห่างในการนอนของแม่ลูกส่งผลต่อระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ในระยะหลังคลอด จะมีการแนะนำให้มารดาอยู่กับทารกตลอด 24 ชั่วโมง โดยทารกควรนอนใกล้ชิดกับมารดาในระยะที่สังเกตได้ เพื่อที่มารดาจะได้ดูแล สังเกตอาการต่าง ๆ ของทารก รวมทั้งลักษณะของทารกที่จะบ่งบอกถึงอาการหิวและความต้องการในการกินนมแม่ ซึ่งหากมารดาอยู่กับทารกตลอด 24 ชั่วโมง มารดาจะสังเกตลักษณะการแสดงออกถึงความต้องการของทารกได้ ทำให้มารดาสามารถจะให้นมแม่ได้ตามความต้องการของทารก เข้าใจทารกและดูแลเรื่องการขับถ่ายของทารกได้อย่างเหมาะสม มีการศึกษาพบว่าการที่ทารกนอนใกล้กับมารดาโดยนอนร่วมเตียงเดียวกับมารดาพบว่าจะเพิ่มโอกาสที่มารดาจะมีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่นานขึ้น1 อย่างไรก็ตาม การนอนร่วมเตียงเดียวกับมารดาจำเป็นต้องมีการดูแลเรื่องความปลอดภัยของทารกจากการตกไปขอบหรือข้างเตียงหรือมีการเบียดทับจากมารดา ซึ่งความเสี่ยงนี้จะเพิ่มขึ้นในมารดาวัยรุ่น มารดาที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือติดยาเสพติด ดังนั้น การแนะนำให้ทารกมีความใกล้ชิดกับมารดาควรมีการแนะนำอย่างเหมาะสมตามข้อมูลที่มีความแตกต่างกันของมารดาและทารกในแต่ละคู่

เอกสารอ้างอิง

1.        Bailey C, Tawia S, McGuire E. Breastfeeding Duration and Infant Sleep Location in a Cohort of Volunteer Breastfeeding Counselors. J Hum Lact 2020;36:354-64.