คลังเก็บป้ายกำกับ: เอสแอลอี

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาที่เป็นเอสแอลอี

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? โรคเอสแอลอี หรือโรคแพ้ภูมิตนเอง หรือโรคพุ่มพวง เป็นโรคที่เกิดจากภูมิคุ้มกันตนเองแทนที่จะมีหน้าที่ปกป้องร่างกายกลับทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อของตนเองในหลาย ๆ ระบบ เช่น ระบบผิวหนัง ระบบประสาท ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบกล้ามเนื้อและข้อ ไต และระบบการหายใจ เป็นต้น สาเหตุของการเกิดโรคยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากพันธุกรรม และถูกกระตุ้นโดยปัจจัยเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม ผู้ป่วยเอสแอลอีมักเป็นในผู้หญิงและช่วงที่อาการเกิดกำเริบก็มักจะเป็นในช่วงวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งแม่ได้รับการรักษาให้อาการของโรคเริ่มสงบลงแล้ว หากไม่ได้วางแผนเรื่องการคุมกำเนิด จะพบผู้ป่วยเอสแอลอีตั้งครรภ์ ซึ่งเมื่อมีการตั้งครรภ์ การดูแลระหว่างการตั้งครรภ์ต้องระวังภาวะแทรกซ้อนของโรค และผลเสียจากการใช้ยา อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการตั้งครรภ์ อาการของโรคมักไม่กำเริบรุนแรงและเมื่อเลือกใช้ยาที่มีความเสี่ยงต่ำที่จะมีผลต่อทารก การดูแลการตั้งครรภ์ก็ยังสามารถดำเนินต่อไปได้ โดยต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เมื่อทารกคลอดออกมา พบว่าการให้ลูกกินนมแม่ตั้งแต่ในระยะแรกนั้นพบน้อยกว่า ระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สั้นกว่า และเหตุผลที่หยุดการให้นมนั้นคือ กระบวนการรักษา ซึ่งก็คือ ความวิตกเรื่องการใช้ยา ทั้ง ๆ ที่ความเสี่ยงจากการใช้ยามีอยู่ต่ำเมื่อเทียบกับประโยชน์ที่มารดาและทารกจะได้รับจากการให้ลูกได้กินนมแม่1 ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ควรให้ความสนใจ และมีความเข้าใจว่ามารดาที่เป็นเอสแอลอีต้องถือว่าความเสี่ยงในการที่จะหยุดการเลี้ยงลูกก่อนเวลาที่เหมาะสม ดังนั้น การดูแลให้ความรู้เรื่องโรค การรักษา และการใช้ยาที่มีความเสี่ยงต่ำนั้น หากมารดามีความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ก็สามารถทำได้ และเมื่อมารดาเข้าใจได้ดีแล้ว ระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาที่เป็นโรคเอสแอลอีนั้น น่าจะยาวนานขึ้นโดยปราศจากความวิตกกังวลในเรื่องของการใช้ยาเพื่อรักษาอาการของโรค

เอกสารอ้างอิง

  1. Acevedo M, Pretini J, Micelli M, Sequeira G, Kerzberg E. Breastfeeding initiation, duration, and reasons for weaning in patients with systemic lupus erythematosus. Rheumatol Int 2017;37:1183-6.