คลังเก็บป้ายกำกับ: เราจะรู้ได้อย่างไรว่าทารกได้รับนมเพียงพอหรือไม่ ตอนที่ 1

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าทารกได้รับนมเพียงพอหรือไม่ ตอนที่ 1

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การสังเกตมารดาให้นมทารกในการประเมินการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ผู้ที่ฝึกอบรมไม่ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการให้นมบุตรหรือที่ปรึกษา หรือเป็นบุคลากรทางการแพทย์อื่น จำเป็นต้องมีการเฝ้าดูเพื่อประเมินท่าในการให้นม การเข้าเต้า และประสิทธิภาพในการดูดนมของทารกแรกเกิด โดยสิ่งที่เป็นความวิตกกังวลหลักของมารดาและครอบครัวส่วนใหญ่ก็คือ คำถามที่ว่า “ทารกได้รับนมเพียงพอหรือไม่” ซึ่งหากมารดาได้รับการสอนให้เฝ้าดูสัญญาณ หรือลักษณะที่บ่งบอกว่าทารกได้รับนมที่เพียงพอ มารดาจะรู้สึกผ่อนคลายและสบายใจมากขึ้นเมื่อพบทารกแสดงอาการว่าได้รับนมที่เพียงพอ ในทางกลับกันหากทารกไม่มีลักษณะอาการที่แสดงว่าได้รับนมที่เพียงพอ ทารกอาจต้องได้รับการประเมินเพิ่มเติม

สำหรับสัญญาณหรือลักษณะที่บ่งบอกว่าทารกได้รับนมที่เพียงพอ1 ได้แก่   

  • ได้ยินเสียงการเคลื่อนไหวของลำไส้ทารกบ่อย ๆ (3-4 ครั้งหรือมากกว่าใน 24 ชั่วโมง) ในวันที่สามหลังคลอด และจะพบทารกมีอุจจาระสีเหลืองในวันที่สี่หลังคลอด แต่หลังจาก 5-6 สัปดาห์หลังคลอด ทารกปกติบางคนที่กินนมแม่อาจพบว่าไม่อุจจาระเป็นเวลาหลายวันได้
  • ทารกปัสสาวะ 6 ครั้งหรือมากกว่าใน 24 ชั่วโมงในวันที่สาม หรือพบว่ามีการเปลี่ยนผ้าอ้อมเปียกในจำนวนเดียวกัน (หากมีการเปลี่ยนผ้าอ้อมใหม่ทุกครั้งที่ทารกปัสสาวะ) อย่างไรก็ตาม การนับจำนวนผ้าอ้อมอาจไม่แม่นยำถ้าหากไม่ได้มีการเปลี่ยนผ้าอ้อมใหม่ทุกครั้ง แต่ทารกปกติควรจะต้องมีการปัสสาวะอย่างน้อย 6 ครั้งใน 24 ชั่วโมง
  • ได้ยินเสียงกลืนนมระหว่างที่ทารกกินนม
  • ทารกรู้สึกพึงพอใจหรืออิ่มเอมหลังการกินนม
  • ทารกควรมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20 – 30 กรัม (¾ – 1 ออนซ์) ต่อวันหรือ 100 – 200 กรัม (5-7 ออนซ์) ต่อสัปดาห์ โดยที่ความเร็วของการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักจะแตกต่างกันไปตามน้ำหนักขณะแรกเกิดของทารก ทารกที่ตัวเล็กจะเติบโตช้ากว่าทารกที่ตัวใหญ่ ทารกแรกเกิดที่คลอดครบกำหนดควรเริ่มมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นในวันที่ 3-5 ของชีวิต โดยใน 1-2 วันแรกจะพบทารกมีน้ำหนักลดลง ซึ่งทารกส่วนใหญ่จะกลับไปมีน้ำหนักเท่ากับในช่วงแรกเกิดในราว 7-10 วันหลังคลอด  ในกรณีที่พบว่าทารกมีน้ำหนักลดลงตั้งแต่ร้อยละ 7-8 ขึ้นไปของน้ำหนักทารกแรกเกิด จำเป็นต้องได้รับการประเมินและติดตามอย่างเหมาะสมด้วยความระมัดระวัง เพื่อให้แน่ใจว่า ทารกไม่มีปัญหาจริง ๆ  สำหรับทารกที่เริ่มกินนมแม่เร็ว จะกลับมามีน้ำหนักเท่ากับตอนแรกเกิดได้เร็วเช่นกัน

เอกสารอ้างอิง

1.            Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.