คลังเก็บป้ายกำกับ: หลังคลอดต้องให้มารดาบำรุงหรือกินยากระตุ้นน้ำนมไหม

หลังคลอดต้องให้มารดาบำรุงหรือกินยากระตุ้นน้ำนมไหม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? หากจะอธิบายเรื่องนี้ ต้องย้อนกลับไปพูดถึงเรื่องกลไกการสร้างและการหลั่งน้ำนม การพัฒนาของเต้านมให้พร้อมสำหรับการให้นมนั้นได้มีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ในระยะของการตั้งครรภ์โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่สองที่จะมีการเพิ่มขึ้นมากของฮอร์โมนโปรแลคตินซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการสร้างน้ำนม แต่โดยทั่วไปน้ำนมที่สร้างขึ้นมามักจะยังไม่การไหลออกมา เนื่องจากยังมีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงที่สร้างจากรกในร่างกายมารดาที่ยังยับยั้งไม่ให้เกิดการหลั่งน้ำนมออกมา แต่เมื่อหลังคลอดทารกและรกออกมาแล้ว ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนจะลดระดับลง ซึ่งขณะเดียวกันหากมีการเริ่มให้ลูกกระตุ้นดูดนมแม่ ฮอร์โมนออกซิโทซินซึ่งเป็นฮอร์โมนอีกตัวหนึ่งที่มีความสำคัญในการทำให้เกิดการบีบตัวของเซลล์กล้ามเนื้อของต่อมน้ำนม ทำให้เกิดการหลั่งและการไหลของน้ำนมจากต่อมน้ำนมสู่ท่อน้ำนมและไปสู่ทารกได้ง่ายขึ้น กลไกเหล่านี้จะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเมื่อมีการคลอดทารก แต่การกระตุ้นให้ทารกเริ่มดูดนมเร็วหลังคลอดจะทำให้การมาของน้ำนมเร็วขึ้น ดังนั้นการที่น้ำนมจะมา มารดาไม่มีความจำเป็นต้องกินยาบำรุงใด ๆ หรือต้องกินยากระตุ้นน้ำนม การกินอาหารหรือการบำรุงมากเกินกว่าระดับการใช้พลังงานของมารดา จะทำให้มารดามีน้ำหนักเกินหรืออ้วน ซึ่งกลับมีผลเสียต่อมารดาในระยะยาวโดยอาจมีความเสี่ยงในการเกิดโรคในกลุ่มของเมตาบอลิกได้ สำหรับการกินยากระตุ้นน้ำนมโดยส่วนใหญ่ กลไกของการกระตุ้นน้ำนมจะกระตุ้นระดับฮอร์โมนโปรแลคติน ซึ่งในระยะหลังคลอดใหม่ ๆ ระดับฮอร์โมนโปรแลคตินนั้นมักจะยังสูงอยู่ จึงไม่เกิดประโยชน์ในการนำมาใช้ การให้ยากระตุ้นน้ำนมจึงจะได้ประโยชน์ก็ต่อเมื่อระดับฮอร์โมนโปรแลคตินต่ำซึ่งก็คือ หลังจากหยุดหรือไม่ได้มีการให้น้ำนมเป็นเวลานาน? และมารดามีระดับฮอร์โมนโปรแลคตินต่ำ ซึ่งจะเกิดในกรณีที่มารดาหยุดการให้น้ำนมเป็นเวลาและต้องการกลับมาให้นมแม่ใหม่นั่นเอง1

เอกสารอ้างอิง

  1. The Office on Women?s Health. Your guide to breastfeeding. 2017