รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
? ? ? ? ? ? ? ? ความต้องการของหญิงไทยที่ให้นมบุตรต้องการโครเมียม (chromium) วันละ 45 ไมโครกรัม ความต้องการของโครเมียมจะเพิ่มขึ้นจากภาวะปกติ 20 ไมโครกรัม โครเมียมพบในอาหารจำพวกยีสต์ และเมล็ดธัญพืช โครเมียมจะช่วยในระบบการเผาพลาญน้ำตาลโดยทำงานร่วมกับอินซูลิน และช่วยควบคุมระดับไขมันในร่างกายด้วย ซึ่งการขาดโครเมียมจะส่งผลให้มีความเสี่ยงในการเกิดเบาหวาน และโรคหัวใจและหลอดเลือด ปริมาณของโครเมียมในน้ำนมไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณของโครเมียมในอาหารของมารดา1 ดังนั้น การดูแลในเรื่องอาหารของมารดาให้มารดาไม่มีภาวะขาดโครเมียมในเบื้องต้นก่อน จะทำให้ปริมาณโครเมียมในน้ำนมมีพอเพียงสำหรับความต้องการของทารก
เอกสารอ้างอิง
- Abe SK, Balogun OO, Ota E, Takahashi K, Mori R. Supplementation with multiple micronutrients for breastfeeding women for improving outcomes for the mother and baby. Cochrane Database Syst Rev 2016;2:CD010647.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
? ? ? ? ? ? ? ?ความต้องการซีลีเนียม (selenium) ในหญิงไทยที่ให้นมบุตรต้องการวันละ 70 ไมโครกรัม ความต้องการซีลีเนียมเพิ่มจากภาวะปกติ 15 ไมโครกรัมต่อวัน ซีลีเนียมพบในอาหารทะเล เครื่องในสัตว์ ปลาทูน่า และธัญพืช ซีลีเนียมจะช่วยเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ หากขาดอาจก่อให้เกิดโรคคีชาน (Keshan disease) ที่มีอาการอ่อนเพลีย ไม่แข็งแรง และการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจที่ผิดปกติ และโรคคาชีน-เบค (Kashin-Beck disease) ที่ทำให้เกิดความผิดปกติของกระดูกและข้อ โดยมีอาการปวดข้อเรื้อรัง ข้อแข็ง งอลำบาก ปริมาณซีลีเนียมในน้ำนมสัมพันธ์กับปริมาณซีลีเนียมในอาหารของมารดา1 ดังนั้น จึงควรใส่ใจกับการเลือกรับประทานอาหารที่มีซีลีเนียมให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกายระหว่างการให้นมบุตร
เอกสารอ้างอิง
- Abe SK, Balogun OO, Ota E, Takahashi K, Mori R. Supplementation with multiple micronutrients for breastfeeding women for improving outcomes for the mother and baby. Cochrane Database Syst Rev 2016;2:CD010647.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
? ? ? ? ? ? ? ? หญิงไทยที่ให้นมบุตรต้องการธาตุทองแดงวันละ 1300 ไมโครกรัมต่อวัน ซึ่งความต้องการจะเพิ่มขึ้นจากในภาวะปกติ 400 ไมโครกรัมต่อวัน ธาตุทองแดงจะช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็ก และเป็นส่วนประกอบของฮีโมโกลบินร่วมกับธาตุเหล็ก จึงมีส่วนในการป้องกันการเกิดภาวะโลหิตจาง ธาตุทองแดงพบในอาหารที่มีธาตุเหล็กมาก ได้แก่ เนื้อสัตว์ อาหารทะเลโดยเฉพาะ หอยนางรม ไข่ และธัญพืชชนิดต่างๆ แม้ว่าปริมาณของธาตุทองแดงในน้ำนมไม่ได้ขึ้นอยู่กับอาหารที่มารดารับประทาน1 แต่การรับประทานอาหารให้ครบหมู่และมีสัดส่วนที่เหมาะสมจะช่วยป้องกันมารดาจากการขาดธาตุทองแดง ซึ่งอาจจะช่วยป้องกันการขาดธาตุทองแดงในทารกด้วย
เอกสารอ้างอิง
- Abe SK, Balogun OO, Ota E, Takahashi K, Mori R. Supplementation with multiple micronutrients for breastfeeding women for improving outcomes for the mother and baby. Cochrane Database Syst Rev 2016;2:CD010647.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
? ? ? ? ? ? หญิงไทยที่ให้นมบุตรต้องการธาตุสังกะสีวันละ 8 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งความต้องการจะเพิ่มขึ้นจากในภาวะปกติ 1 มิลลิกรัมต่อวัน ธาตุสังกะสีนั้นจะช่วยในเรื่องภูมิคุ้มกันและเชื่อว่าอาจจะมีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนโปรแลคติน เนื่องจากฮอร์โมนโปรแลคตินจับกับธาตุสังกะสี แต่ความสัมพันธ์ที่ชัดเจนยังต้องการการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป ธาตุสังกะสีพบในอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ อาหารทะเลโดยเฉพาะ หอยนางรม และไข่ โดยหอยนางรมจะพบธาตุสังกะสี 75 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม เนื้อสัตว์จะพบธาตุสังกะสี 1.5-4 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม ไข่แดงจะพบธาตุสังกะสี 1.5 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม ดังนั้น ในมารดาที่รับประทานอาหารจำพวกมังสวิรัติ นอกจากจะมีความเสี่ยงต่อการขาดวิตามินบีแล้ว ยังมีความเสี่ยงต่อการขาดธาตุสังกะสีด้วย ซึ่งหากมารดาขาดธาตุสังกะสีจะส่งผลทำให้ทารกเกิดการขาดธาตุสังกะสีได้ แม้ว่าการรับประทานอาหารที่มีธาตุสังกะสีเพิ่มขึ้น ไม่ได้เพิ่มปริมาณธาตุสังกะสีในน้ำนม1 อย่างไรก็ตาม ควรแนะนำให้มารดารับประทานอาหารที่มีสังกะสีสูงเพื่อป้องกันการเกิดภาวะขาดธาตุสังกะสีของมารดา และแนะนำการเสริมธาตุสังกะสีในมารดาที่มีความเสี่ยงในการขาดธาตุสังกะสีทั้งในระหว่างช่วงของการตั้งครรภ์และช่วงที่ให้นมบุตร
เอกสารอ้างอิง
- Abe SK, Balogun OO, Ota E, Takahashi K, Mori R. Supplementation with multiple micronutrients for breastfeeding women for improving outcomes for the mother and baby. Cochrane Database Syst Rev 2016;2:CD010647.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
? ? ? ? ? ? ? ?หญิงไทยที่ให้นมบุตรต้องการธาตุเหล็กวันละ 15 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งความต้องการจะน้อยกว่าในระหว่างการตั้งครรภ์ซึ่งมีความต้องการธาตุเหล็กเพื่อการสร้างเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้นโดยต้องการวันละ 60 มิลลิกรัม เนื่องจากในระหว่างการให้นมบุตรนั้น มารดาจะไม่มีประจำเดือนทำให้ไม่มีการเสียเลือด ในน้ำนมแม่จะมีปริมาณธาตุเหล็กต่ำ ธาตุเหล็กสามารถจะดูดซึมได้ดีในลำไส้ทารกที่กินนมแม่อย่างเดียวโดยมีสารในนมแม่ที่ช่วยในกระบวนการการดูดซึมธาตุเหล็ก การรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กเพิ่มขึ้น ไม่ได้เพิ่มปริมาณธาตุเหล็กในน้ำนม1 แต่ในระยะหลังคลอดมารดาควรเสริมธาตุเหล็กเพื่อให้ปริมาณธาตุเหล็กที่สะสมในร่างกายมีเพียงพอ ซึ่งหากมารดาไม่มีภาวะขาดธาตุเหล็กจะไม่ส่งผลต่อการขาดธาตุเหล็กในทารก สำหรับในนมผสมนั้นมักจะมีการเสริมธาตุเหล็กในปริมาณที่สูงเนื่องจากไม่มีสารที่ช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็กเหมือนในนมแม่
? ? ? ? ? ? ?การช่วยป้องกันภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็กในทารกในกระบวนการในการช่วยคลอดอาจทำได้โดยการชะลอการหนีบและตัดสายสะดือ (delayed cord clamping) โดยมีข้อมูลว่าส่งผลดีในการช่วยป้องกันภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็กในทารกคลอดครบกำหนดปกติที่กินนมแม่อย่างเดียวในช่วงหกเดือนแรก2 แม้ว่ายังไม่มีข้อมูลจำนวนการปฏิบัติการชะลอการหนีบและตัดสายสะดือทารกในประเทศไทย และข้อมูลของภาวะขาดธาตุเหล็กของมารดาในระยะหลังคลอด แต่มีข้อแนะนำจากกรมอนามัยที่สนับสนุนให้เสริมธาตุเหล็ก โฟเลต และไอโอดีนให้แก่สตรีตั้งครรภ์และมารดาที่ให้นมบุตรจนถึงหกเดือน3
เอกสารอ้างอิง
- Abe SK, Balogun OO, Ota E, Takahashi K, Mori R. Supplementation with multiple micronutrients for breastfeeding women for improving outcomes for the mother and baby. Cochrane Database Syst Rev 2016;2:CD010647.
- Delayed cord clamping benefits babies. Aust Nurs Midwifery J 2013;21:41.
- รายงานประจำปี กรมอนามัย 2556. ใน: กองแผนงาน กรมอนามัย, ประเทศไทย: กรมอนามัย; 2556.
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)